x close

พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ส่อสะดุด บุคลากรทางการแพทย์ร่วมต่อต้าน

พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ส่อสะดุด บุคลากรทางการแพทย์ร่วมต่อต้าน
พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ส่อสะดุด บุคลากรทางการแพทย์ร่วมต่อต้าน

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท

          กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรรมออกโรงครั้งใหญ่ร่วมกันต่อต้าน พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ชี้ส่อเค้าลักไก่ และละเลยความปลอดภัยของประชาชน

          วันนี้ (7 ตุลาคม พ.ศ.2557) เฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท ได้มีการรายงานถึงกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ซึ่งกำลังเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดได้มีการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับต่อต้านจากทุกทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นสหวิชาชีพแห่งโรงพยาบาลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่ออกมาแสดงสัญลักษณ์กากบาทไม่ยอมรับ พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ และบอกว่า...

          "เรื่องนี้เป็นภัยต่อสุขภาพ ไม่ได้ค้านแต่เภสัชกรนะครับ ทั้งแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพอื่นๆในโรงพยาบาลก็ร่วมค้านด้วย" และขอฝากทาง อย. ว่า "ผิดไปให้แก้ไข อย่าให้ร่างฉบับที่มีช่องโหว่ออกมาเป็นกฏหมาย การบอกว่าจะอุดช่องโหว่ด้วยประกาศกฏกระทรวงแนบท้าย พรบ. อันนี้รับไม่ได้ ในเมื่อ พรบ.ยังเป็นร่าง แล้วทำไมไม่แก้ไขให้ดีไปเลยครับ"

          นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวของของบุคลากรทางการแพทย์จากทางภาคใต้อย่างเช่น โรงพยาบาลยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ซึ่งจัดเต็ม มาทั้งเภสัชกร พยาบาล สหวิชาชีพ และที่สำคัญ ผอ.โรงพยาบาลอย่างคุณหมอสมชัย พงษ์ธัญญะวิริยา ก็เข้าร่วมรณรงค์คัดค้านร่างฉบับนี้ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการถอยหลังลงคลอง และละเลยการคุ้มครองประชาชน คนค้านทุกภาคแต่ อย. ก็ยังเฉย ยืนยันจะดันร่างเดิมโดยไม่สนใจเสียงค้าน ไม่สนใจเหตุผลที่คนออกมาค้านเพราะผิดหลักการ โดยเฉพาะประเด็นที่รับไม่ได้อย่างชัดเจนก็คือ ต่อไปนี้วิชาชีพสุขภาพสามารถนำยาที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาผสมเองได้ เอายาพารามาผสมยาสเตรอยด์แล้วบดใส่แคปซูลสีสวย จ่ายให้คนไข้ก็ไม่ผิด ไม่ต้องขอ อย. ไม่ต้องระบุส่วนประกอบของยาในฉลาก นี่หรือกฏหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค

          ด้วยเหตุนี้ชาวโรงพยาบาลยะหริ่งจึงออกมาค้านอย่างพร้อมเพรียงทุกวิชาชีพ และยังมีทีมเภสัชกรและวิชาชีพสุขภาพของจังหวัดปัตตานี ก็ได้มีแสดงตัวคัดค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นกัน โดยมีการรวมตัวกันที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี และบอกว่า ปัจจุบันการจัดการเรื่องยานั้นมีปัญหาไม่น้อย แทนที่ พ.ร.บ.ยาฉบับนี้จะมาแก้ปัญหา กลับยิ่งสร้างปัญหา เพราะเปิดกว้างเกินกว่าเหตุ จนเสมือนว่าการแพทย์พาณิชย์ได้เข้ามาแทรกแซงกิจการด้านยา การผสมยาผลิตยาใช้เองทำได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องมีการตรวจสอบ แบบนี้ไม่คุ้มครองผู้บริโภค จึงน่าแปลกใจว่า ทำไม อย. ไม่ทักท้วง จนทำให้เภสัชกรและวิชาชีพสุขภาพในภูธรต้องออกมาทักท้วงเอง

          ทางด้านคณะเภสัชศาสตร์ มอ. สงขลานครรินทร์ ทั้งคณาจารย์ นักศึกษาและศิษย์เก่า ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนกันอย่างพร้อมเพรียงว่า ไม่เอาร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้ และได้ตั้งข้อสังเกตว่ามีข้อบกพร่องหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่นิยามก็หลงยุคแล้ว ในทางสากลนั้นยาควรแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาที่ประชาชนซื้อหาเองได้ แต่ในร่างใหม่กลับเปิดช่องให้ทุกวิชาชีพสุขภาพจ่ายยาได้และไม่ชัดเจนในขอบเขต และอาจนำมาซื่งปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อขอบเขตการจ่ายยาของแต่ละวิชาชีพไม่ขัดเจนจนอาจนำมาซึ่งการขายยาจ่ายยาเชิงพาณิชย์จนเกินพอดี โดยละเลยเรื่องความปลอดภัยทางยาต่อประชาชนได้ แก้ พ.ร.บ. แล้วต้องแก้ให้ก้าวหน้าขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังลงคลอง

          ไม่เพียงแค่บุคลากรทางการแพทย์ในภาคใต้เท่านั้นที่ออกโรงต่อต้าน พ.ร.บ. ยาฉบับนี้ แต่ยังมีบุคลากรการแพทย์จากภาคกลาง ทั้งจังหวัดอุทัยธานีและกำแพงเพชรที่รวมตัวกันต่อต้านด้วยเช่นกัน อาทิเช่น โรงพยาบาลพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้ประกาศร่วมค้าน พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ฉบับลักไก่ประชาชน ซึ่งทีมเภสัชกรของโรงพยาบาลพรานกระต่ายประกาศขอค้านจนถึงที่สุด โดยมีการตั้งคำถามฝากไปยังทีมเภสัชกรที่ อย. ว่า...

          "ทำไมถึงปล่อยให้ร่าง พรบ.ยา ฉบับใหม่นี้ มีสาระที่ขัดกับหลักวิชาการที่ร่ำเรียนมา พี่ๆทนได้อย่างไร ทำไมไม่ออกมาคัดค้านร่วมกับเภสัชกรในโรงพยาบาลต่างจังหวัด"

          ส่วนทีมสหวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ของโรงพยาบาลบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ก็ได้ออกมาร่วมคัดค้านเช่นกัน พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่นี้ด้วย และดูเหมือนจะมีการทยอยออกมาแสดงตัวคัดค้านจากบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้ร่วมลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ยาฉบับนี้ ซึ่งมีความไม่เหมาะสมผ่านทางเว็บไซต์ change.org อีกด้วย ในขณะที่ทาง อย. ยังคงเงียบและมีท่าทีว่าจะดันร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับนี้ต่อไป

          ทั้งนี้สาเหตุของการออกมารวมตัวคัดค้านนี้มาจากองค์การอาหารและยา (อย.) ได้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยสาระหลักในการขยายหรือเพิ่มบทบาทการจ่ายยา ผลิตยา แบ่งบรรจุยา โฆษณายา ให้กับทุกวิชาชีพด้านสุขภาพ ตั้งแต่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักการแพทย์แผนไทย นายสัตวแพทย์ อย่างกว้างขวาง เพราะปัจจุบันมีการทำผิด พ.ร.บ.ยาฉบับ พ.ศ. 2510 อยู่มากพอสมควร มีการจ่ายยา ผสมยา แบ่งยา โฆษณายา อย่างไม่สนใจกฎหมาย แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายเดิมให้จริงจังขึ้น แต่กลับแก้ปัญหาด้วยการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยา เสียเลย เพื่อให้ตรงกับการปฏิบัติที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งแน่นอนว่า พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ละเลยการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะอันตราย และทำให้การจ่ายยาตกอยู่ใต้อิทธิพลแนวคิดแบบทุนนิยมและเอกชนนิยมที่เน้นขายยาหรือสั่งใช้ยาโดยไม่มีกลไกการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต่างเห็นพ้องว่าเป็นการถอยหลังลงคลองและขัดกับหลักการคุ้มครองผู้บริโภคที่เขียนไว้ในหลักการอย่างสิ้นเชิง






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ส่อสะดุด บุคลากรทางการแพทย์ร่วมต่อต้าน อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2557 เวลา 15:38:08 1,958 อ่าน
TOP