x close

สธ. ห่วงปัญหาโรคอ้วน ทำเด็กหญิงยุคใหม่เป็นสาวก่อนวัย


เด็กไทย

สธ. ห่วงปัญหาโรคอ้วน ทำเด็กหญิงยุคใหม่ เป็นสาวก่อนวัย หวั่นกระทบกับความสูง (กระทรวงสาธารณสุข)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สธ. เผยผลสำรวจเด็กไทยอายุ 6 เดือน-12 ปี เข้าข่ายโรคอ้วนถึงร้อยละ 20 หรือมีประมาณ 2 ล้านคน หากเป็นเด็กผู้หญิง มีแนวโน้มโตเป็นสาวก่อนวัย ชี้อาจกระทบกับความสูงในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากโครงสร้างกระดูกหยุดการเจริญเติบโต แนะให้ออกกำลังกายประเภทยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ เล่นบาสเกตบอล ปรับพฤติกรรมการกิน ลดกินอาหารหวาน มัน เพิ่มผักผลไม้
 
          เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557 นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันเด็กหญิงแห่งโลก (International Day of the Girl Child) เพื่อให้ทั่วโลกรณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิและโอกาสสำหรับเด็กหญิง ให้ได้รับการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การศึกษา รวมทั้งการพัฒนาด้านสุขภาพด้วย       

          สำหรับประเทศไทย ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาสุขภาพประชาชนรายกลุ่มวัย 5 กลุ่ม ได้แก่ สตรีและเด็กปฐมวัย 0-5 ปี เด็กวัยเรียนอายุ5-14 ปี วัยรุ่น 15-21 ปี วัยทำงาน15-59 ปี วัยสูงอายุและผู้พิการ  ซึ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการของกรมวิชาการต่าง ๆ ในสังกัดและหน่วยงานนอก โดยมีแผนการจัดบริการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัย
 
          นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า รายงานของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีประชากรอายุต่ำกว่า 14  ปี จำนวน 11 ล้าน 7 แสนกว่าคน เป็นเด็กชาย 5 ล้าน 6 แสนกว่าคน เป็นเด็กหญิง 6 ล้าน 1 แสนกว่าคน ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้พบว่า เด็กไทยกำลังประสบปัญหาด้านโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะโรคอ้วน
 
          ข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กไทยอายุ 6 เดือน ถึง 12 ปี โดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลปี 2555 พบว่าเด็กไทยร้อยละ 20 หรือประมาณ 2 ล้านคน มีน้ำหนักเกินมาตรฐานเข้าข่ายโรคอ้วน จากพฤติกรรมการบริโภคและได้รับสารอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าโรคอ้วนมีผลต่อความสูงและการเจริญเติบโตของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วกว่าเด็กทั่วไป หัวกระดูกที่เป็นก้านยาว คือกระดูกแขนและขาจะปิดเร็วกว่ากำหนด ทำให้โครงสร้างกระดูกหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัยอันควร  จะมีผลให้เด็กกลุ่มนี้เตี้ยกว่าเด็กปกติทั่วไป โดยในปีงบประมาณ 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายควบคุม ลดปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในกลุ่มเด็ก 5–14 ปี เหลือไม่เกินร้อยละ 10
 
          ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โดยทั่วไปเด็กหญิงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่ออายุประมาณ 8 ขวบ เริ่มเป็นสาวอายุประมาณ 9-10 ขวบ และมีรอบเดือนอายุประมาณ 11-15 ปี แต่เด็กผู้หญิงที่อ้วนมีแนวโน้มจะเป็นสาวเร็วกว่าเด็กทั่วไป คือมีเต้านมโต มีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ ตรงกันข้ามเด็กผู้หญิงที่ผอมจะเป็นประจำเดือนช้ากว่า

          สาเหตุที่เด็กผู้หญิงอ้วนเป็นสาวเร็วมีหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุคือความผิดปกติของสารเลปติน (Leptin) สารชนิดนี้สร้างมาจากเซลล์ไขมัน หากมีเซลล์ไขมันมาก จะสร้างสารชนิดนี้ออกมามาก และสารจะไปกระตุ้นต่อมในสมองที่ควบคุมกระบวนการกิน และกระตุ้นฮอร์โมนเจริญเติบโต ทำให้เด็กเป็นสาวเร็ว สรีระภายนอกเป็นสาว แต่จิตใจยังเป็นเด็ก ดังนั้นผู้ปกครอง พ่อแม่ ต้องให้การดูแลใกล้ชิด 
 
          นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า การเป็นสาวก่อนวัยไม่ใช่เรื่องอันตรายถึงชีวิต แต่ที่น่าห่วงคือจะมีผลต่อความสูงของเด็กด้วย โดยตามทฤษฎีทางการแพทย์พบว่า เด็กที่เป็นหนุ่มหรือเป็นสาวเร็วจะมีกระดูกที่แก่และปิดเร็วโดยเฉพาะกระดูกส่วนยาวคือกระดูกแขนและขา ซึ่งเป็นผลมาจากผลของฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้ในระยะแรก ๆ เด็กเหล่านี้จะดูสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน ต่อมาเมื่อกระดูกปิด จะหยุดสูงเร็วกว่ากำหนด อาจทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่เตี้ยในที่สุด เด็กกลุ่มนี้อาจเปรียบได้กับ "ม้าตีนต้น" กล่าวคือ "ออกตัว" เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าเพื่อน ๆ และ "เข้าสู่เส้นชัย" หรือหยุดสูงเร็วกว่าเพื่อน ๆ ด้วยเช่นกัน

          "ขอแนะนำให้ผู้ปกครองควรเลี้ยงลูกให้มีน้ำหนักตัวเหมาะสม ดูแลอาหารการกินลดอาหารรสหวาน หรืออาหารที่มีไขมันมาก  ฝึกให้เด็กกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ให้เล่นตามวัย เด็กที่มีความเสี่ยงจะอ้วนง่ายกว่าเด็กทั่วไปคือ เด็กที่มีพ่อหรือแม่อ้วน ลูกมีโอกาสอ้วน 4-5 เท่าตัว หากพ่อแม่อ้วนทั้งคู่ ลูกจะมีโอกาสอ้วนสูงถึง 14 เท่าตัว เนื่องจากพ่อแม่จะดูแลอาหารการกินความเป็นอยู่ของลูกเหมือนที่ตัวเองปฏิบัติ ลูกจึงมีเสี่ยงมีน้ำหนักตัวอ้วนเหมือนพ่อแม่" นายแพทย์พรเทพ กล่าว   
 
          นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า ผู้ที่มีลูกผู้หญิงอายุ 7-8 ปี แล้วมีรูปร่างอวบหรืออ้วน รวมทั้งสูงเร็ว ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อดูแลรักษาและประเมินอายุกระดูก สำหรับการพัฒนาความสูงของเด็กให้สมวัย มีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงชั้นประถมศึกษาที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเติบโตเร็วในช่วงมัธยมศึกษาที่ 1 จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และออกกำลังกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ เล่นบาสเกตบอล และโหนบาร์ จะช่วยเพิ่มความสูงได้ รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ 5 หมู่และหลากหลาย รวมทั้งเพิ่มการบริโภคผัก ผลไม้ พร้อมดื่มนมทุกวัน

          ทั้งนี้กรมอนามัยตั้งเป้าภายใน พ.ศ. 2568  ผู้ชายไทยอายุ 18 ปี มีส่วนสูงเฉลี่ยให้ได้มาตรฐาน 177 เซนติเมตร  ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร ซึ่งขณะนี้ส่วนสูงเฉลี่ยของคนไทยเพศชายสูง 167.1 เซนติเมตร หญิง 157.4 เซนติเมตร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ห่วงปัญหาโรคอ้วน ทำเด็กหญิงยุคใหม่เป็นสาวก่อนวัย อัปเดตล่าสุด 13 ตุลาคม 2557 เวลา 09:39:17
TOP