x close

เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


อาหารเพื่อสุขภาพ

 
เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (สสส.)
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

          อาหารเป็นปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อชีวิต ที่ช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่ในปัจจุบันยิ่งโลกมีการพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ความมั่นคงทางอาหารก็ยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น

          วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ทางองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดให้เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ทั้งในเรื่องของการผลิต คุณค่าของอาหารและโภชนาการ ที่สำคัญคือ ปัจจุบันโลกมีประชากรรวมกันถึง 7 พันล้านคน แต่กว่าครึ่งยังตกอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ ในปีนี้จึงมีการรณรงค์ภายใต้หัวข้อ "Feeding the World, Caring for the Earth" การให้อาหารโลก, การดูแลรักษาโลก
         
          วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เรื่องของความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญของโลก ปัจจุบันพบว่าฐานของทรัพยากรที่เป็นตัวสนับสนุนเรื่องระบบอาหารเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราไม่สามารถที่จะผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความปลอดภัยได้เพียงพอ ฉะนั้นหากเราไม่ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายอย่างที่เคยเป็นมา การผลิตอาหารที่มีคุณภาพก็เป็นไปได้ยาก
         
          ทั้งนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ข้อมุลเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทยว่า ปัญหาเรื่องอาหารในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ซับซ้อน คนไทยได้รับอาหารในระดับที่เพียงพอมากขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็น "ครัวของโลก" ยังคงพบประชากรที่ขาดแคลนอาหารอีกกว่า 5 ล้านคน โดยสัดส่วนของเด็กไทยที่ขาดแคลนอาหารนี้ มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคตประมาณ 1 ล้านคน นอกจากนี้สิ่งที่น่าตกใจก็คือการพบปัญหากลุ่มประชากรบริโภคเกิน หรือบริโภคไม่เหมาะสมมากกว่าจำนวนประชากรที่ขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกินสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย
        

          "จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจาก การบริโภคแบบสมัยใหม่ อาทิ อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารบุฟเฟ่ต์ที่สามารถรับประทานได้ไม่อั้นเป็นตัวการสร้างพฤติกรรมการบริโภคเกินความจำเป็นแก่ประชาชน"

 
เกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์ทางเลือกในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
     
          ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก แต่ผลิตอาหารเน้นปริมาณ มีการใช้สารเคมีในการเกษตรมากขึ้น ทำให้คุณภาพของอาหารที่ผลิตได้ ปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน ซึ่งสิ่งที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ การทำเกษตรอินทรีย์
          
          "ในแง่ของการส่งออกหากเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าสินค้าทั่วไปกว่า 30% โดยเฉลี่ย รวมถึงลดปัญหาในเรื่องของการใช้ต้นทุนและปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกันผู้บริโภคในประเทศก็จะได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยอีกด้วย"
     
          "แม้ว่าเกษตรอินทรีย์จะได้รับความนิยมและมีการพูดถึงเป็นจำนวนมาก แต่ในประเทศไทยยังคงมีปริมาณของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่สูงมาก ซึ่งทุกฝ่ายทุกหน่วยงานยังคงต้องทำงานอย่างหนักในการรณรงค์เพื่อให้เกษตรอินทรีย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารคุณภาพต่อไป" วิฑูรย์ กล่าว
     
          ทุกคนสามารถเป็นผุ้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพเองได้ การผลิตเพื่อการบริโภคเองสามารถทำได้ทุกคนแม้แต่คนในเมือง เห็นได้จากโครงการสวนผักคนเมืองของทาง สสส. ที่มีการแพร่หลายเป็นอย่างมาก ทั้งในพื้นที่อยู่อาศัย โรงเรียน หน่วยงานต่างๆ มีการให้ความสนใจในเรื่องการทำเกษตรในเมืองมากขึ้น หรือแม้ว่าเราไม่สามารถเป็นผู้ผลิตอาหารได้ เราก็สามารถเลือกบริโภคอาหารจากการผลิตที่ปลอดภัยซึ่งเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านอาหาร                                                                        

ตลาดสีเขียว หนึ่งยุทธศาสตร์สร้างทางเลือกให้ผุ้บริโภคยุคสมัยใหม่
      
          ตลาดสีเขียว คือ การสร้างอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพโดยจัดสรรเป็นตลาดทางเลือกแก่ผู้บริโภค โดยขณะนี้ในหลายจังหวัดได้มีการพัฒนาให้เป็นต้นแบบตลาดสีเขียว อาทิ จังหวัดยโสธรที่มีการจัดการเรื่องของตลาดสีเขียวให้มีขึ้นในทุกอำเภอ แม้แต่ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ก็มีการจัดตั้งเครือข่ายตลาดสีเขียว แต่ยังคงเป็นตลาดนัดที่มีการขายเป็นครั้งคราวในหนึ่งเดือนเนื่องจากพื้นที่จำกัด แต่ในอนาคตจะมีการผลักดันให้เกิดตลาดสีเขียวที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น
      
          วิฑูรย์ ยังแนะนำวิธีเลือกบริโภคเพื่อความมั่นคงทางอาหารแก่ประชาชนว่า มี 2 วิธี ได้แก่

          1. เลือกบริโภคอาหารที่มาจากการผลิตของท้องถิ่น เช่น ผักพื้นบ้าน ผลไม้พื้นบ้าน

          2. การเลือกบริโภคอาหารที่ผลิตมาจากระบบแบบอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้สินค้าอินทรีย์มีการวางจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการซื้อโดยตรงจากเกษตรกรหรือเรียกว่าระบบ CSA เป็นระบบที่ได้รับความนิยมมากในทั่วโลก ทำให้ประชาชนเข้าใกล้แหล่งผลิตของอาหาร และสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรให้เกิดในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
      
          "ทั้งหมดนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการสร้างความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในสถานการณ์อาหารร่วมกันทั้งคนเมืองและชนบท เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทางออกร่วมกันในอนาคต อีกทั้งช่วยสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจในปัญหาความต้องการระหว่างคนเมืองและคนชนบท" ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวทิ้งท้าย
 





 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกษตรอินทรีย์ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2560 เวลา 06:44:57 1,395 อ่าน
TOP