x close

แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น 3 ภัยเสี่ยงวันลอยกระทง


วันลอยกระทง
ภาพประกอบจาก GOLFX /Shutterstock.com

สพฉ. แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น รับมือภัยเสี่ยงเทศกาลลอยกระทง (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)

          สพฉ. แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น รับมือ 3 ภัยเสี่ยงเทศกาลลอยกระทง ย้ำหากพบผู้ป่วยฉุกเฉินรีบแจ้งสายด่วน 1669 หากพบคนจมน้ำ ต้องช่วยเหลืออย่างมีสติ พร้อมเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนระวังอุบัติเหตุจราจร
         
          วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เมื่อย้อนดูสถิติอุบัติเหตุหรืออัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ย้อนหลังในหลาย ๆ ปี จะพบว่าเดือนพฤศจิกายนที่มีเทศกาลลอยกระทง เป็นอีกเดือนที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉินค่อนข้างมาก โดยอุบัติเหตุและอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มักเกิดขึ้นคือ คืออุบัติเหตุจากประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ การจมน้ำ และอุบัติเหตุจราจร



          สำหรับการบาดเจ็บจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้เด็กจุดประทัดเล่นเองโดยเด็ดขาด โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ในวันลอยกระทง 14 ราย  อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับอันตราย ให้รีบแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินที่สายด่วน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

          โดยระหว่างรอการช่วยเหลือควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้บาดเจ็บจากความร้อนให้ใช้ผ้าชุบน้ำประคบบริเวณบาดแผล หรือให้น้ำไหลผ่านเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด จากนั้นปิดด้วยผ้าสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้หากผู้บาดเจ็บสวมใส่เครื่องประดับ ควรถอดออกด้วย เพราะหากปล่อยไว้นิ้วหรือข้อมืออาจบวมจนทำให้ถอดยาก และหากมีบาดแผลฉีกขาดจากการระเบิดของปะทัดให้ใช้ผ้าสะอาดกดที่บริเวณบาดแผลเพื่อทำการห้ามเลือด
                
          เลขาธิการ สพฉ. กล่าวต่อว่า ส่วนอันตรายจากการจมน้ำและตกน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากผู้คนที่เบียดเสียด และการลงน้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง โดยหากพบคนตกน้ำ จมน้ำควรช่วยเหลือโดยคิดถึงความปลอดภัยตัวเองเป็นสำคัญก่อน โดยเบื้องต้นให้ยื่นอุปกรณ์ให้จับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วงหรือไม้ตะขอ หรือโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ จากนั้นผู้ช่วยเหลืออาจเอาเชือกผูกอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง ซึ่งวิธีการช่วยเหลือดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือจะมีความปลอดภัยเกือบ 100% เพราะผู้ช่วยอยู่บนฝั่งหรือยืนได้ในน้ำตื้น

          ส่วนวิธีการกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น เป็นวิธีการที่ต้องพึงระวังอย่างมาก และผู้ช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์ เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำและจมน้ำด้วยวิธีนี้ 

วันลอยกระทง
ภาพประกอบจาก GOLFX /Shutterstock.com

          ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยจมน้ำนั้น ควรสังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่ยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก

          นอกจากนี้ยังมีภัยที่น่าเป็นห่วงเทศกาลลอยกระทง คือ ภัยจากอุบัติเหตุจราจร โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนเนื่องจากเป็นช่วงที่ประชาชนใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนนาก ดังนั้นจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กำหนด ที่สำคัญคือต้องไม่ดื่มสุราหากต้องขับรถ นอกจากนี้หากขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย

          ทั้งนี้หากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุสามารถโทรแจ้งที่สายด่วน 1669 ได้ บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น 3 ภัยเสี่ยงวันลอยกระทง อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2557 เวลา 16:15:28 1,257 อ่าน
TOP