x close

มหิดลแจ๋ว ผลิตเครื่องวัดความเค็มพกพา ตรวจปุ๊บรู้ปั๊บ


เกลือ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

         สุดแจ๋ว นวัตกรรมใหม่ล่าสุดจากมหาวิทยาลัยมหิดล เครื่องวัดความเค็มแบบพกพา ตรวจปั๊บรู้ปุ๊บ ช่วยลดพฤติกรรมการรับประทานเค็มได้

         เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ผศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยในงานแถลงข่าวเรื่อง ความสำเร็จของเครือข่ายลดบริโภคเค็มในปี 2557 ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาเครื่องตรวจวัดระดับความเค็มในอาหารและปัสสาวะ โดยใช้หลักการนำไฟฟ้ามาใช้ในการตรวจสอบได้เป็นผลสำเร็จแล้ว และในขณะนี้เครื่องสามารถตรวจวัดระดับความเค็มในส้มตำ และต้มยำได้ ส่วนการตรวจหาค่าความเค็มในอาหารชนิดอื่น ๆ จะต้องกำหนดค่าเข้าไปใหม่

          ทั้งนี้วิธีทำก็ไม่ยุ่งยาก เพราะมีโปรแกรมรองรับอยู่แล้ว แถมยังเหมาะกับการตรวจวัดระดับความเค็มในอาหารไทยมากกว่าเครื่องที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากอาหารไทยมีรสจัด ในขณะที่เครื่องนี้สามารถวัดความเค็มได้สูงถึง 20% ปัจจุบันนี้ราคาเครื่องอยู่ที่ 1,000 บาท แต่ถ้าหากเริ่มผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ราคาก็อาจจะถูกลงอีก ในขณะที่เครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาสูงถึง 3,000 - 8,000 บาท


         ด้าน ดร.พรพิมล ศรีทองคำ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับแผ่นทดสอบปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ ที่ผลิตมาจากสารที่มีความจำเพาะเจาะจงกับโซเดียมนั้นมีการทำงานที่คล้ายคลึงกับกระดาษลิสมัส คือเมื่อหยดปัสสาวะลงไปบนแผ่นทดสอบ 1 หยดแล้ว แผ่นทดสอบก็จะเปลี่ยนสีไปตามปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในปัสสาวะ หากมีสีแดงอ่อนนั้นแปลว่ามีโซเดียมน้อย และสีจะเข้มขึ้นตามปริมาณของโซเดียม ซึ่งปริมาณสูงสุดที่วัดได้คือ 0.5% โดยแผ่นทดสอบสามารถตรวจวัดระดับโซเดียมได้ตั้งแต่ 0.1 - 1% ทำให้สามารถคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคไตได้ ทั้งนี้้ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่แผ่นละ 3 บาท ต่างจากการนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาถึงแผ่นละ 50 -120 บาท แต่ในปัจจุบันยังผลิตได้ในปริมาณน้อยและยังไม่มีวางจำหน่าย แต่หากมีหน่วยงานใดสนใจก้พร้อมที่จะขย้ายการผลิตเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

         ขณะที่นายสง่า ดามาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลว่า ในอนาคตอันใกล้อาจจะมีการนำนวัตกรรมทั้ง 2 ประเภทมาใช้งานจริง โดยจะเริ่มแจกจ่ายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) ทดลองใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังผู้มีภาวะเสี่ยงโรคไตก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำแนะนำกับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม ให้รับประทานให้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตและความดันโลหิตสูง เป็นต้น



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มหิดลแจ๋ว ผลิตเครื่องวัดความเค็มพกพา ตรวจปุ๊บรู้ปั๊บ อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2557 เวลา 20:19:25 4,491 อ่าน
TOP