x close

ฉากสูบบุหรี่ในหนัง สร้างค่านิยมสิงห์อมควัน

สูบบุหรี่

ฉากสูบบุหรี่ในหนัง สร้างค่านิยมสิงห์อมควัน (สสส.)
เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

          ส่งผลเยาวชนทำตาม

          ฉากการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ มีผลต่อพฤติกรรมลอกเลียนแบบของเด็กและเยาวชนหรือไม่ ??? คำถามนี้ได้ยินทีไร เป็นต้องถกเถียงกันใหญ่โตหาที่สิ้นสุดไม่ได้เสมอมา บ้างก็ว่ามีผลกระทบอย่างร้ายแรง บ้างก็ว่าเด็กและเยาวชนสมัยใหม่คิดเองได้ ล่าสุด! หนังฟอร์มยักษ์ ทำรายได้ทะลุทะลวงไปแล้วกว่า 2 พันล้านบาท อย่าง "อวตาร" ก็ทำให้ประเด็นถกเถียงกันถึงความเหมาะสมของฉากสูบบุหรี่ บูม!! ขึ้นมาอีกครั้ง...

          ที่ผ่านมาข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบเด็กและเยาวชนไทยที่สูบบุหรี่สูงมากถึง 1,605,211 คน และที่น่าเป็นห่วงอยู่มาก ก็คือ ตัวเลขอายุของผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่นับวันกลับยิ่งน้อยลง ซึ่งในจำนวนนั้นมีมากถึง 7,176 คน ที่สูบบุหรี่เมื่ออายุเพียง 11 ปีเท่านั้น ถือว่าเป็นตัวเลขเยาวชนที่อายุต่ำมาก

          นี่อาจเป็นเพราะพื้นฐานของเด็กและเยาวชน มักจะมีฮีโร่ หรือไอดอลประจำใจ และจะทำพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือตัวละครในภาพยนตร์ ซึ่งจะเกิดผลร้าย หากตัวละครที่พวกเขาชื่นชอบ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เด็กเหล่านี้ก็จะกระทำตามโดยไม่คิดไตร่ตรอง เพราะคิดว่าเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว!!!

          และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ถึงแม้อัตราการสูบบุหรี่ภาพรวมของคนไทยจะลดลง จาก 19.5% เหลือ 18.1% ในปี 52 แต่มันกลับไปเพิ่มมากขึ้นในผู้หญิงจาก 1.6% เพิ่มเป็น 1.7% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข อีกทั้งในฉากเจ้าปัญหาในหนัง "อวตาร" ยังใช้ตัวแสดงที่เป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เก่ง แต่กลับดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็จะยิ่งตอกย้ำให้วัยรุ่นไทยเข้าใจผิด ๆ ว่า ถ้าอยากเป็นผู้หญิงเก่ง สวย จะต้องสูบบุหรี่เหมือนอย่างตัวละครในหนัง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะยิ่งทำให้อัตราเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ ก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

          โดยการมีฉากสูบบุหรี่ในหนังจะยิ่งทำให้เพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ขึ้น คือ เมื่อพบว่าผลการวิจัยต่างประเทศ ที่เผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับอิทธิพลของการนำเสนอฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ ซึ่งกระตุ้นให้วัยรุ่นทดลองสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น การศึกษาของประเทศเยอรมนี พบว่า วัยรุ่นที่ได้ชมภาพยนตร์ที่มีฉากสูบบุหรี่มีอัตราการทดลองสูบเพิ่มเป็น 2 เท่าของวัยรุ่นที่ไม่เคยเห็นการสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ ขณะที่งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ร้อยละ 52 ของนักสูบหน้าใหม่ อายุ 12-17 ปี หรือประมาณ 390,000 คนต่อปี เริ่มสูบบุหรี่หลังเห็นฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์ ซึ่งนั้นอาจบ่งบอกได้ว่าจะมีเยาวชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นหากดูหนังที่มีฉากสูบบุหรี่

          ซึ่งนอกจากผลกระทบที่จะทำให้ตัวเลขเยาวชนที่เป็นนักสูบเพิ่มมากขึ้นแล้ว เรื่องของสุภาพก็เป็นอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้หญิง ซึ่ง ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บอกเอาไว้ว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดโรคร้ายต่าง ๆ มากกว่าผู้ชาย โดยมีโอกาสเสียชีวิตในวัยกลางคนถึงร้อยละ 50 และอายุเฉลี่ยจะสั้นลงประมาณ 10 ปี มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบจะเพิ่มมากกว่าคนปกติอย่างมาก

          นอกจากนี้การสูบบุหรี่จะยิ่งทำให้ผู้หญิงแก่ก่อนวัย มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและใบหน้าโดยมีรอยย่นมากขึ้น ริมฝีปากคล้ำ มีปัญหาโรคช่องปาก โรคมะเร็งปากมดลูกที่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย ซึ่งจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ช้า หรือไม่มีบุตรมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า

          เมื่อมีฉากสูบบุหรี่ในหนัง หรือละครโทรทัศน์แล้วเกิดผลเสียตามมามากมายเช่นนี้ แล้วการจัดเรตหนังในประเทศไทยไปอยู่ไหน...

          เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นในใจว่าประเทศไทยก็มีการจัดเรต ทั้งรายการโทรทัศน์ ละคร รวมถึงภาพยนตร์แล้วทำไมถึงเกินเหตุเช่นนี้?? ในขณะที่ต่างประเทศก็มีการจัดเรตให้ภาพยนตร์ "อวตาร" เป็นประเภท น.13+ คือ เหมาะสำหรับเยาวชนอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่ทำไมประเทศไทยจัดให้หนังดังกล่าวอยู่ในประเภท ท.หรือทั่วไป คือเหมาะกับทุกเพศทุกวัยได้ นั่นคือคำถามที่ค้างคาใจ...

          มิใช่เพียงเท่านี้ เพราะที่ผ่านมามีภาพยนตร์หลายเรื่องก็ยังมีฉากที่ล่อแหลมต่อการผิดกฎหมาย เช่น มีโฆษณาแฝง โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสินค้าต่าง ๆ มากมาย ทำไมถึงปล่อยออกมาได้คงถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หันมาทำงานกันอย่างจริงจังเสียที ก่อนที่บ้านเมืองเราจะกลายเป็นเมืองแห่งอบายมุขกันทั้งประเทศ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉากสูบบุหรี่ในหนัง สร้างค่านิยมสิงห์อมควัน อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2553 เวลา 17:38:56 1,223 อ่าน
TOP