x close

มอระกู่-บุหรี่ไฟฟ้า ใครว่าปลอดภัย ?


วิธีเลิกบุหรี่

          มอระกู่ และบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ที่อ้างว่าสูบแล้วปลอดภัย ช่วยเลิกบุหรี่ แต่คำพูดเหล่านี้เป็นเท็จทั้งสิ้น !

          ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ยาสูบได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการตลาดเพื่อเข้าถึงวัยรุ่นและเยาวชนทั่วโลกมากขึ้น โดย 2 ผลิตภัณฑ์สุดฮิตที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ ก็คือ "มอระกู่" (บารากู่) และ "บุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งมีการอวดอ้างสรรพคุณที่เป็นเท็จว่า มีความปลอดภัยในการสูบหรือเสพ เลยเถิดถึงกระทั่งว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสรรพคุณในการช่วยเลิกบุหรี่ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงเลย ซึ่งเว็บไซต์ สสส. ได้ชี้แจงเรื่องนี้ให้ฟังกัน

          โดย ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ กล่าวให้ข้อมูลเพื่อเน้นย้ำกับสังคมไทยอีกครั้งว่า "ไม่เป็นความจริง" เนื่องจากผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ อย่างน้อย 2 ฉบับ รายงานผลแบบเดียวกันว่า "บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีความสามารถที่จะช่วยให้คนที่อยากเลิกบุหรี่ สามารถเลิกบุหรี่ได้จริง" นั่นหมายความว่า "บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้คนเลิกบุหรี่"

          แต่กลับพบว่า ผู้ที่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อวัตถุประสงค์ในการเลิกบุหรี่ กลับติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน !

          "เรื่องนี้ต้องฝากเอาไว้ แล้วขอให้ผู้ซื้อไตร่ตรองข้อมูลชวนเชื่อของผู้ขายที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนด้วย" ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

          เพราะแม้จะมีสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ รวมถึงวิทยุร่วมทำข่าว และรายงานผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2 ชนิดนี้ ที่มีต่อสุขภาพเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนแล้วก็ตาม แต่ช่องทางสื่อออนไลน์ที่กลุ่มผู้ค้าปลีกใช้เข้าถึงเด็กและเยาวชนนั้น หากยังไม่มีการควบคุมก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง...


มอระกู่
มอระกู่ อันตรายไม่แพ้บุหรี่

ชูความหอม ซ่อนพิษร้าย
             
          ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายคนเข้าใจว่า "มอระกู่" มีความปลอดภัย ก็เพราะคิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลไม้ตากแห้ง ซึ่งจากการตรวจสอบในปัจจุบัน พบว่ามีส่วนผสมของสารอื่น ๆ รวมไปถึงใบยาสูบผสมอยู่ด้วย จากนั้นมีการเติมแต่งกลิ่นและรส ด้วยสารเคมีและสารอินทรีย์ทั้งหลายเพื่อให้มีกลิ่นหอมชวนใช้

          "ในต่างประเทศมีงานวิจัยชัดเจนว่า มอระกู่ หรือ ยาสูบผ่านกระบอกน้ำ หากผู้เสพ เสพต่อเนื่องในแต่ละครั้ง นานประมาณสัก 30 นาที ก็จะได้รับสารพิษ และสารเคมีต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย เทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่มวน ประมาณ 20 มวน หรือ 1 ซองเต็ม ฉะนั้นสิ่งที่คนคิดว่ามันปลอดภัย จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้ปลอดภัย"

          นอกจากนี้ หากมีการใช้กระบอกสูบมอระกู่ร่วมกันกับผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค หรือเป็นโรคติดต่อทางน้ำลาย (ไวรัสตับอักเสบ บี) ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคจากผู้อื่นมากขึ้นด้วย


บุหรี่ไฟฟ้า


บุหรี่ไฟฟ้า ยาสูบสร้างโรค

          ด้าน "บุหรี่ไฟฟ้า" ที่มีโฆษณากล่าวอ้างว่า ปลอดภัย เสพได้ไม่เป็นไร ไม่ก่อโรคเหมือนอย่างการสูบบุหรี่ทั่วไป ผศ.นพ.สุทัศน์ ย้ำว่า เป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงค่อนข้างชัดเจน เพราะในปัจจุบัน งานวิจัยทางการแพทย์หลายชิ้นยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย

          "ไม่ต้องดูอื่นไกล ทางสำนักควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค สธ. ได้ไปสุ่มจับบุหรี่ไฟฟ้าในหลายพื้นที่ เมื่อปลายปี 2556 จากนั้นส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ไปให้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์วิเคราะห์ส่วนประกอบ พบสิ่งที่น่าตกใจ ว่า มีสารพิษอยู่มากมาย ทั้งสารโลหะหนัก (สารปรอท สารหนู แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ฯลฯ) ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ในการก่อสร้าง แต่หากสารพวกนี้เข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แล้ว ในระยะยาวล้วนก่อให้เกิดมะเร็งทั้งสิ้น สารไฮโดรคาร์บอน ที่พบในท่อไอเสียรถยนต์ และ สารโพรไพลีนไกลคอล สารตัวทำละลาย ที่เมื่อถูกความร้อนในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว สามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี แตกออกเป็นสารใหม่ ซึ่งหลายตัวเป็นตัวที่ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นพิษต่อร่างกายหรือไม่ แต่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาวะพิษเพิ่มเติม"

          ทั้งนี้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านภัยสุขภาพจากยาสูบ ให้ข้อมูลเสริมด้วยว่า งานวิจัยทางการแพทย์ของสมาคมโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปี 2557 พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ โดยเซลล์หลาย ๆ ตำแหน่งของร่างกาย สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ทั่วไป


พิษยาสูบร้าย ทำลายชีวิต

          "คนที่สูบบุหรีไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหอบหืด และมีอาการตีบแคบของหลอดลมมากกว่าคนทั่วไป ตรงนี้เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่ผู้ขายพยายามที่จะอุปโลกน์ หรือโฆษณาชวนเชื่อ" ผศ.นพ.สุทัศน์เน้นย้ำ และอธิบายเพิ่มว่า

          "ผลกระทบที่บุหรี่ไฟฟ้ามีต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่ก็คือผลกระทบที่เหมือนกับบุหรี่ทั่วไป ก็คือ "ต้องใช้เวลา" ผู้เสพจะยังไม่เห็นผลแบบร้ายแรงในช่วง 1-2 วัน 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน แต่เมื่อตรวจสุขภาพหลังจาก 5-10 ปีนับจากเริ่มสูบแล้วละก็ เมื่อมีอาการแสดงออกแล้ว ทุกโรคไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม ล้วนเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ ว่าเมื่อถึงตอนนั้น ผู้ซื้อมาสูบเป็นผู้ขาดทุน เพราะสุขภาพที่เสียไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ ได้แต่รักษาและประคองในส่วนที่เหลืออยู่เท่านั้น” ประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่กล่าวสรุป
         
          ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุน พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยได้ที่ http://chn.ge/17cDBYg



หมายเหตุ : ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน มอระกู่ (น.) คือ หม้อสูบยาของชาวอาหรับ (ช.)






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มอระกู่-บุหรี่ไฟฟ้า ใครว่าปลอดภัย ? อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 16:03:56 3,873 อ่าน
TOP