x close

เหยื่อหวัด 2009 ตายแล้ว 30 ราย



สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมนาผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นว่า เรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าสับสน อยากเรียนว่าพยายามที่จะไม่ให้เกิดความสับสน แต่ไม่ง่ายนัก ต้องบอกตรงไปตรงมาว่า 2-3 เดือนที่โรคนี้ปรากฏ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญยังถกเถียงกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ และบางทีการสื่อสารออกไปเกิดเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง อย่างเรื่องความรุนแรงของโรค แต่หลายประเทศขณะนี้เลิกตรวจหมดแล้ว เพราะไม่สามารถตรวจได้หมด และโรคนี้จะระบาดเร็ว

          "ข่าวร้ายต่อไปคือ โรคนี้มีความรุนแรงที่เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ของไทยตอนนี้เสียชีวิตประมาณ 30 คน สหรัฐฯ 200 กว่าคน เชื่อได้ว่าปัจจุบันคนที่ติดเชื้อมีเยอะกว่าตัวเลขที่มีการรายงานส่วนที่สับสนว่าควรปิดโรงเรียนผับบาร์หรือไม่ ประเด็นคือ การติดต่อเป็นแบบคนสู่คน ถ้าเราปิดหมด เราก็ไม่รู้เลยว่าใครไปไหนบ้าง ขอทำความเข้าใจว่าโรคนี้จะยังอยู่ไปถึงปี 2553 ไม่เลือกสีเหลืองสีแดงเป็นได้ทุกคน ไม่เลือกรัฐบาลด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว

          นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯ เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ 2009 ให้น้อยที่สุด จากนั้น นพ.ไพจิตร์แถลงว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หาแนวทางลดจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้เหลือน้อยที่สุด โดย สธ.จะร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรค

          สำหรับแนวทางในการดูแลผู้ป่วย จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้...

          กลุ่มที่ 1. คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ ซึมผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงของการป่วย ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

          กลุ่มที่ 2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรง ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 48 ชั่วโมง และพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรก หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว

          กลุ่มที่ 3. เป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง แนะนำวิธีการดูแลที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ

          นอกจากนี้ นพ.ไพจิตร์ ยังได้กล่าวถึงกรณีีข้อโต้แย้งเรื่องการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นแบบพ่น อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ว่า ประเทศรัสเซียมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มากว่า 30 ปี ซึ่งนำไปใช้กับประชาชนจำนวนมาก โดยไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ออกมาชี้แจงเพื่อความมั่นใจ ที่สำคัญการจะผลิตวัคซีนได้มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก แต่หากการผลิตวัคซีนชนิดนี้ไม่ผ่านกระบวนการตามมาตรฐาน เชื้อไวรัสชนิดเชื้อเป็นก็จะกลายเป็นเชื้อโรคทันที แต่ตามหลักการแล้วทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง จึงไม่ต้องกังวล


ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เหยื่อหวัด 2009 ตายแล้ว 30 ราย อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2552 เวลา 18:48:26 1,042 อ่าน
TOP