x close

กัด แกะ ดึง เกา กับทางแก้

ผู้หญิง

กัด แกะ ดึง เกา กับทางแก้ (สุดสัปดาห์)

          บางคนชอบแทะเล็มกินเล็บตัวเองเป็นอาหารว่างทุกทีที่เผลอ อาการ "ติด" อะไรบางอย่างแบบหยุดไม่ได้ หลายคนเป็นกัน ดีไม่ดีไม่รู้ด้วยซ้ำ แต่ก่อนที่จะติดงอมแงมจนเสียบุคลิกไปมากกว่านี้ และอาจถึงขั้นต้องเคาะประตูปรึกษาหมอจิตเวช เรามีที่มาที่ไป แนวทางแก้ไข และคำแนะนำมาฝาก

กัดจนกุด

          ส่วนใหญ่เลือกกัดนิ้วมือทั้งสิบนิ้วนี่แหละ แต่อาจมีบ้างที่อุตริกัดเล็บเท้าเข้าไปด้วย พบมากในช่วง 3-6 ชวบ เริ่มพัฒนาจากการแคะเล็บก่อนแล้วเริ่มกัดแทะ คนที่กัดเล็บไม่เลิก แม้จะโตแล้วเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หมอวินิจฉัยว่าไม่ใช่โรค แต่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก เมื่อบุคคลนั้นอยู๋ในภาวะเครียด เศร้า หรือรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ทำจนติดเป็นนิสัย กัดมากัดไปเล็บกุดเว้าจนเกือบถึงโคนเล็บก็มี

พู...พูด...ติ...ติด...ติดอ่าง

          เอ้อ...อ้า...กว่าจะหลุดแต่ละคำออกจากปากได้ต้องลุ้นแทบแย่ ติดอ่างเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม พบตั้งแต่เด็กและติดตัวมาเรื่อย ๆ จนโต ทำให้การพูดขาดความต่อเนื่อง ติด ๆ ขัด ๆ ในคำหรือเฉพาะกับบางคำ การที่พูดติดอ่างขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจที่เครียด หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ขาดความมั่นใจด้วย ใครติดอ่างแล้วไปเจอเพื่อนชอบล้ออีก ยิ่งจะทำลายความมั่นใจไม่เหลือ เคยเห็นไหม บางคนพูดกับคนอื่นแล้วติดอ่าง แต่กลับร้องเพลง พูดคนเดียว หรือพูดกับสัตว์เลี้ยงได้คล่องปรื๋อ

          สังเกตดี ๆ แล้วจะพบว่าผู้ชายมีอาการติดอ่างมากกว่าผู้หญิงเยอะ เทียบแล้วประมาณ 3 ต่อ 1 เชียวละ

ชอบดมกลิ่นยา (ดม)

          ติดยาดมแบบไม่ยอมว่างห่างจมูก จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ คิดว่าในยาดมมีสารเสพติด ซึ่งจริง ๆ ตัวการที่ทำให้ไม่ยอมวางหลอดยาดม คือสารสเตียรอยด์ซึ่งเป็นส่วนผสม ออกฤทธิ์โล่งโพร่งจมูก ถ้าดมติดต่อกันนาน ๆ ก็กลายเป็นความเคยชิน รู้สึกสบาย ปลอดโปร่งเมื่อได้สูดดม เลยต้องพกหลอดยาดมติดตัวไว้ นอกจากทำให้เสียบุคลิกแล้ว ยังส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบได้ ในกรณีที่เสียบหลอดไว้กับรูจมูกตลอดเวลา

ดึงผมเพลิน เกินห้ามใจ

          เป็นปัญหาทางพฤติกรรมโดยมีปัญหาทางอารมณ์แฝงอยู่ด้วย คนที่ชอบดึงผมตัวเองมักเก็บกด พูดน้อย เก็บงำความรู้สึก แสดงออกไม่เป็น และไม่มีทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่งปลูกฝังความรู้สึกสะสมมาตั้งแต่เด็ก การดึงผมเพลินซ้ำ ๆ จนผมแหว่งเป็นหย่อม ๆ นับเป็นอาการความผิดปกติทางจิตใจที่เรียกว่า โรคทริโซทิโลมาเนีย (Trichotilomania) คือ ไม่สามารถควบคุมความต้องการที่พุ่งขึ้นมาจากภายในได้

แคะค้นในรูจมูก

          ผู้ใหญ่ที่ติดนิสัยแคะจมูกตลอดเวลา แม้ว่าอยู่ในที่สาธารณะ หรือต่อหน้าผู้อื่น มักมีพฤติกรรมแบบนี้ติดตัวมาตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มจากการกระตุ้นตัวเองเพียงเล็กน้อย จนติดเป็นนิสัย และกลายเป็นความเคยชินในที่สุด ถ้าปล่อยไว้จนโตยังแก้ไม่หย เพื่อนและสังคมนอกบ้านจะมีส่วนช่วยในการแก้นิสัยนี้ได้ดี เพราะคงทนไม่ไหวที่เห็นใครมาแคะจมูกตรงหน้าอยู่เรื่อย และเจ้าตัวคงเห็นด้วย ต้องเลิกเสียทีก่อนที่จะไม่มีใครคุยด้วย

เขย่าขา ขัดตาคนมอง

          มักเป็นกับผู้ชายซึ่งไม่ค่อยนิ่งอยู่แล้ว บวกกับความเบื่อหน่ายเมื่อนั่งในท่าเดิมนาน ๆ จึงต้องหาอะไรทำสักอย่างเพื่อกระตุ้นตัวเอง และกลายเป็นความเคยชินในที่สุด แก้ง่าย ๆ ด้วยการหากิจกรรมอื่นที่ชอบมาเบี่ยงเบนความสนใจแทน

อธิบายด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์

          การทำความเข้าใจสาเหตุของอาการติด และมีภาวะการกระตุ้นตัวเอง ต้องอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เชื่อว่าพัฒนาการในแต่ละวัยของคนเรา มีการเปลี่ยนแปลงของจุดที่ให้ความสุข โดยระยะต้นของการพัฒนาบุคลิกภาพเรียกว่า ระยะปาก (Oral Stage) เกิดจากการดูดเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การดูดกินนมแม่ ดูดนิ้ว และชอบสำรวจสิ่งของต่าง ๆ ด้วยการเอาเข้าปาก เพราะจุดสนใจและการรับสัมผัสส่วนใหญ่ของเด็กรวมอยู่ที่ปาก

          แต่หากเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ยังมีลักษณะพฤติกรรมของวัยนั้นอยู่ เป็นเพราะมีการชะงักงันของพัฒนาการบุคลิกภาพ (Fixation) ในวัยทารก เช่น ติดขวดนม ติดกัดเล็บ ติดดูดนิ้ว รวมทั้งเกิดจากการต้องการเรียกร้องความสนใจ และเป็นผลจากโรคซนสมาธิสั้น


ทำตามคำแนะนำนี้เพื่อหนีปัญหา

          1. หลักการสร้างแรงจูงใจเอามาใช้ได้ดีที่สุด ลองตั้งใจจริงเสียอย่าง ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แก้ไข

          2.เตือนตัวเองทุกทีที่เผลอปฏิบัติตามความเคยชิน พกหมากฝรั่ง ลูกอม ติดตัวไว้เสมอ เพื่อเอาไว้กัดแทนเวลาเหงาปากอยากดูดนิ้ว อยากกัดเล็บ แถมเคี้ยวหมากฝรั่งยังมีสารที่ลดความเครียดได้ด้วย

          3.เริ่มจากฝึกสมาธิ และใช้หลักสติบำบัดง่าย ๆ เช่น การฝึกจดจ่อกับลมายใจ หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกห้องยุบ เพื่อให้ผ่อนคลายและควบคุมตัวเองได้มากยิ่งขึ้น

          4.พ่อแม่หมั่นใส่ใจสังเกตพฤติกรรมของลูก เพื่อป้องกันและหาทางแก้ไขตั้งแต่วัยเด็ก จะไม่ได้พกอาการติดมาจนโต จะยิ่งแก้ยาก หาวิธีที่เป็นแรงจูงใจในทางบวก เช่น กันการดูดนิ้ว กัดเล็บ โดยทาสีเล็บให้ลูกสาวแล้วบอกว่า ถ้ากัดเล็บจะไม่สวย แต่วิธีเด็ดขาดอย่างการทายาขมที่นิ้วอาจยิ่งทำให้เด็กต่อต้าน หันไปจัดการกับนิ้วอื่นแทน

          5.ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงของการปรับพฤติกรรมครั้งสำคัญ ถ้าเพื่อนหรือคนรอบข้างล้อเลียนอาการที่ติด เจ้าตัวอาจหาทางแก้ด้วยการเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปในทางอื่น เช่น ซึมเศร้า หนีสังคม ติดเพื่อน ติดยาเสพติด สร้างปัญหาตามมาอีกหลายระลอก

          6.ตามทฤษฎีพัฒนาการเด็ก เมื่อเด็กมีวุฒิภาวะมากขึ้น 90 เปอร์เซ็นต์จะเลิกภาวะติดเหล่านี้เอง



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กัด แกะ ดึง เกา กับทางแก้ อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 09:37:03 7,105 อ่าน
TOP