x close

เพ่งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตนาน ๆ ระวังสายตาสั้นเทียม


เพ่งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตนาน ๆ ระวังสายตาสั้นเทียม ก่อนสั้นจริง
เพ่งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตนาน ๆ ระวังสายตาสั้นเทียม ก่อนสั้นจริง

          ภาวะสายตาสั้นเทียม อีกหนึ่งอาการสำคัญของสุขภาพตา ที่จอมแชทและนักท่องเน็ตควรระวังเอาไว้ให้ดี

          อาการผิดปกติยอดฮิตเมื่อเวลาเราใช้งานสมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ อย่างเช่น ปวดตา ปวดหัว สายตาพร่ามัว มองอะไรใกล้ ๆ ไม่ชัด อาจทำให้เราเข้าใจผิดว่า เอ๊ะ เรากำลังสายตาสั้นลงหรือเปล่านะ แท้จริงแล้ว อาจเป็นเพียงภาวะสายตาสั้นเทียมเท่านั้น แต่เกิดจากอะไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรกันล่ะ ? กระปุกดอทคอมมีวิธีการเช็กตัวเองง่าย ๆ จาก สสส. มาฝากค่ะ

          ปัจจุบันโลกออนไลน์และการใช้สมาร์ทโฟน มีผลกับการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และผลกระทบทางสุขภาพกายใจ เห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังค­­­มแห่งชาติ ปี 2557 เผยว่า คนไทยใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที­­­่สุด ถึงร้อยละ 77 โดยเฉลี่ยใช้วันละ 7.2 ชั่วโมง นับว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อีก 2.6 ชั่วโมง ซึ่งไม่เพียงส่งผลให้ผู้ใช้มีอาการซึมเศร้า ละเมอแชท หรือติดโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของดวงตาอย่างมีนัยสำคัญ

          จากข้อมูลนี้กล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อมีการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น ย่อมส่งผลให้คนไทยมีปัญหาทางสายตามากขึ้นด้วย ยุคนี้หลายคนที่เคยสายตาดี เมื่อสายตาเริ่มมัว ก็เลยเข้าใจว่า ตนเองมีสายตาสั้นขึ้น แต่พอไปตรวจและวัดสายตาแล้วอาจพบว่า สายตาปกติ ชวนให้สงสัยว่าจริงๆ แล้ว เรานั้น "สายตาสั้นเทียม" หรือ "สายตาสั้นจริง"

เพ่งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตนาน ๆ ระวังสายตาสั้นเทียม ก่อนสั้นจริง

สายตาสั้นเทียม คืออะไร

          รศ.(พิเศษ)พญ.โสฬส วุฒิพันธุ์ ฝ่ายวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ภาวะสายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เกิดจากการหดตัวผิดปกติของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในลูกตาเพื่อให้เลนส์ตาโป่งออก ทำให้สภาพตาในขณะนี้เสมือนเป็นคนสายตาสั้น เราจึงมองเห็นของที่อยู่ใกล้ชัดขึ้น แต่พอเราเลิกมองใกล้ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะคลายตัวโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเห็นของที่ไกลชัดขึ้น ซึ่งปกติกล้ามเนื้อส่วนนี้ จะหดและคลายตัวสลับกันไปมาตลอด แต่หากเราใช้สายตาเพ่งดูจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์นานเกินไป ก็จะทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ในตาหดตัวเกือบตลอดเวลาทำให้มีอาการเสมือนอยู่ในสภาพสายตาสั้น มองไม่ชัด แต่เมื่อใส่แว่นสายตาสั้น กลับมองชัดขึ้น

รู้ได้อย่างไรว่า สายตาสั้นเทียม

          คุณหมอผู้เชี่ยวชาญ อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการของสายตาสั้นเทียมและสายตาสั้นจริง มีส่วนที่เหมือนกันตรงที่มองไกลไม่ชัดทั้งคู่ แต่สำหรับอาการสายตาสั้นเทียมนั้น จะมีอาการที่สังเกตได้ง่ายกว่า ดังนี้

          มีอาการมองไม่ชัดค่อนข้างจะทันที เช่น ตามัวมา 1 อาทิตย์ ขณะที่สายตาสั้นจริงจะค่อย ๆ มองไม่ชัดมานาน

          มีอาการปวดตา ปวดหัว บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

          หลังการใช้สายตามาก ๆ หรือนาน ๆ จะมีอาการตามัวมากขึ้น

          วัดสายตาแล้วได้ค่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน มีค่าสายตาน้อยว่าสายตาจริง เช่น วัดสายตาแล้วพบว่าสั้น -4.00 เมื่อลองใส่แว่น -4.00 แล้วก็ยังเห็นไม่ชัด แต่พอลองใส่แว่น -5.00 แล้วมองเห็นชัดมาก

          กรณีที่ใช้ยาหยอดขยายม่านตา เพื่อช่วยทำให้กล้ามเนื้อในลูกตาที่หดตัวผิดปกติคลายออก แล้วลองวัดค่าสายตาใหม่ พบว่า ก่อนหยอดยาวัดค่าสายตาได้ สั้น -4.00 แต่หลังหยอดตาวัดแล้วกลับพบว่า ไม่มีอาการสายตาสั้นเลย

          ฉะนั้นหากสงสัยว่า สายตาสั้นเทียมหรือไม่ เหตุใดใส่แว่นแล้วยังเห็นไม่ชัด หรือใส่แล้วมีอาการปวดหัวร่วมด้วย การพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษาเพื่อดูแลสุขภาพตา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

เพ่งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตนาน ๆ ระวังสายตาสั้นเทียม ก่อนสั้นจริง

สายตาสั้นเทียม รักษาได้

          รศ.(พิเศษ) พญ.โสฬส จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำถึงการรักษาอาการสายตาสั้นเที­­­ยมในเบื้องต้นเอาไว้ ดังนี้

          ควรพักสายตาเมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนในระยะใกล้ โดยการพักสายตาทุก 30 นาที ด้วยการมองไกล ๆ หรือไม่ต้องจ้องอะไรเลยนาน 5 นาที

          หลีกเลี่ยงการบริหารตาด้วยการเพ่งมอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ เพราะด้านการบริหารตาเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า สามารถรักษาภาวะสายตาสั้นเทียมได้

          หากมีอาการตามัวมองไกลไม่ชัด อย่าเพิ่งคิดเอาเองว่า สายตาเราเพิ่มขึ้น แล้วไปตัดแว่นสายตาสั้นที่มีค่ามากกว่าเดิมมาใส่เอง แต่ควรสงสัยพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของตัวเองก่อ­­­นเป็นอันดับแรก และควรใช้ให้น้อยลงกว่าเดิม

          สำหรับวิธีป้องกันภาวะสายตาสั้นเทียมในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีนั้น ไม่แนะนำให้ใช้อุปกรณ์จำพวกสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เลย ส่วนเด็กที่โตกว่า 2 ปี ไม่ควรใช้มากกว่า 2ชั่วโมงต่อวัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content (www.thaihealth.or.th)






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เพ่งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตนาน ๆ ระวังสายตาสั้นเทียม อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 07:11:15 10,377 อ่าน
TOP