x close

ความจริงของภาพพยาธิไชเข้าผิวหนัง เพราะกินส้มตำจริงหรือ ?


พยาธิไชเข้าผิวหนัง

          ชาวเน็ตแชร์ว่อน ภาพพยาธิไชเข้าผิวหนังโผล่เป็นเส้นนูนบนใบหน้า อ้าง เกิดจากการกินส้มตำปลาร้า แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่

          ทำเอาคนชอบกินส้มตำตกอกตกใจไปตาม ๆ เมื่อในช่วงที่ผ่านมา ชาวเน็ตพากันแชร์ภาพผู้หญิงคนหนึ่งมีเส้นนูนสีแดงคล้ายเส้นเลือดปรากฏอยู่บนใบหน้า บริเวณใต้ขากรรไกรซ้าย โดยระบุว่า นี่คือเส้นทางเดินของพยาธิที่เกิดขึ้นหลังจากผู้หญิงคนนี้ไปทานส้มตำปูปลาร้ามา ทำให้พยาธิตัวจี๊ดชอนไชขึ้นมาบนใบหน้า แถมยังระบุว่าด้วยว่า ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด ทำได้เพียงลดอาการบวมและคันเท่านั้น หรือไม่ก็ต้องผ่าตัด

          เรื่องดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงในสังคมออนไลน์ไม่น้อยว่า ฟอร์เวิร์ดเมลที่ส่งต่อกันมานี้เป็นความจริงหรือไม่ โดยหลายคนถึงกับบอกว่ากลัวไม่กล้ากินส้มตำ หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะกลัวพยาธิ

          ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 เฟซบุ๊ก Drama-addict ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน พร้อมอธิบายว่า เส้นดังกล่าวคือพยาธิจริง ๆ เรียกว่า larva migran เกิดจากพยาธิไชเข้าผิวหนัง แต่ก็ทำได้แค่เลื้อยไปมาอยู่ในชั้นผิวหนังเท่านั้น ไม่มีอันตรายถึงชีวิต และไม่ได้ติดจากการกินส้มตำ วิธีป้องกันก็คือ อย่าเดินเท้าเปล่า และไม่นำมือที่เปื้อนดินมาสัมผัสร่างกาย

          ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ก็พบคำอธิบายเพิ่มเติมว่า อาการดังกล่าวคือโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) คือโรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน ส่วนมากเป็นพยาธิปากขอ หรือพยาธิเส้นด้ายของสัตว์ โดยพยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดผื่น มีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่พยาธิไชผ่าน

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโตได้ พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ภายในร่างกายคนได้ ซึ่งในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง สำหรับอาการแสดงทางผิวหนังนั้นจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ

          ทั้งนี้โรคดังกล่าวมักพบมากในเขตร้อน เช่น ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่าในพื้นดินชื้นแฉะ หรืออาจจะไชเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทราย นอกจากนี้ยังสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบาง ๆ เช่นชุดว่ายน้ำได้

          โดยเมื่อไชเข้ามาสู่ร่างกายแล้ว พยาธิจะเข้ามาอยู่ในชั้นหนังกำพร้า แต่ไม่สามารถไชผ่านหนังแท้ได้ หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเกิดการอักเสบ ต่อมาอีก 2-3 วันพยาธิตัวอ่อนจะเริ่มเคลื่อนที่ไปใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังจะมีการอักแสบ บวมน้ำ มีเม็ดเลือดขาวมาคั่งอยู่ หลังจากนั้นจะเกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงก่อน เมื่อพยาธิเริ่มเคลื่อนที่ก็จะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตร คดเคี้ยวไปมา และมีอาการคันอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

          สำหรับวิธีการรักษานั้น ปกติแล้ว ถ้าไม่รักษาผื่นอาจหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์-2 ปี แต่ก็สามารถใช้ยารักษาเพื่อให้หายเร็วขึ้น


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Pairoch Vasanakomut

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความจริงของภาพพยาธิไชเข้าผิวหนัง เพราะกินส้มตำจริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 23:01:09 6,805 อ่าน
TOP