x close

ฉะเชิงเทราพบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นตาย ไม่เจอกว่า 15 ปี


ฉะเชิงเทราพบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นตาย ไม่เจอกว่า 15 ปี

รพ.เมืองแปดริ้วรับมีคนป่วยไข้กาฬหลังแอ่นตาย (ไอเอ็นเอ็น)

            โรงพยาบาลเมืองแปดริ้ว แถลงข่าวยอมรับ มีคนป่วยตายด้วยไข้กาฬหลังแอ่นจริง ระบุ ไม่เคยพบในพื้นที่มานาน 15 ปี

            เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 นพ.ประสิทธิ์ คงเคารพธรรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา และ นพ.วีระศักดิ์ อนุตรอังกูร ผอ.รพ.พุทธโสธร (เมืองฉะเชิงเทรา) พร้อมด้วยคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกว่า 20 คน ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีมีข่าวการเสียชีวิตของหญิงวัย 26 ปี ชาวกัมพูชา ผู้ป่วยด้วยโรคกาฬหลังแอ่น โดยระบุว่า การเสียชีวิตของหญิงชาวต่างชาติด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเพียงทางผ่านของโรคที่หญิงรายดังกล่าวที่เดินทางผ่านเข้ามาเพื่อที่จะกลับบ้านไปยังในประเทศกัมพูชา

ฉะเชิงเทราพบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นตาย ไม่เจอกว่า 15 ปี

            สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้มีการแถลงชี้แจงให้ทางสื่อมวลชนทราบตั้งแต่ต้นนั้น เนื่องจากต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ความชัดเจนเพื่อยืนยันโรคเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปิดบังแต่อย่างใด

            ด้าน นพ.สมชาย แก้วเขียว รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผลการตรวจสารคัดหลั่งของผู้ป่วยจากห้องแล็ปภายใน รพ.นั้น ยืนยันได้แล้วว่าผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นจริง แต่ยังคงต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ยืนยันชนิด และสายพันธุ์ของโรคว่า เป็นสายพันธุ์ใด

            ขณะที่ พญ.รุจิรัตน์ ปุณยลิขิต รอง ผอ.รพ.พุทธโสธร ด้านระบบบริการสุขภาพชุมชน กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรานั้น ไม่เคยพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มานานถึง 15 ปีเต็มแล้ว โดยรายล่าสุดพบในเด็กวัย 5 ขวบ เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว

โรคไข้กาฬหลังแอ่น คืออะไร

          สำหรับโรคไข้กาฬหลังแอ่น ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ผ่านทางการไอ หรือจาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย เสมหะ น้ำมูก จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เช่น จูบปาก เป่าปาก ใบหน้าใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน สูบบุหรี่ร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน การผายปอดช่วยชีวิต

          อย่างไรก็ตาม บางคนติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ เป็นเพียงพาหะเท่านั้น เพราะมีภูมิคุ้มกันที่สร้างไว้ในวัยเด็กหลงเหลืออยู่จึงสามารถต้านเชื้อชนิดที่ก่อโรครุนแรงได้ แต่หากไม่มีภูมิคุ้มกันจะก่อให้เกิดโรค โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด โดยเริ่มจากการเจ็บคอ ไอ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ ตามด้วยไข้สูงและมีอาการซึม หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะมีอาการรุนแรงและรวดเร็ว ผู้ป่วยราว ๆ ร้อยละ 75 จะมีผื่นขึ้นตามตัว ลักษณะคล้ายจุดเลือดออก และเป็นแฉกคล้ายดาวกระจาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อย ๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบพุงเท้า เยื่อบุตา หรือไม่ แต่อาจพบผื่นลักษณะอื่นด้วยได้

          หากมีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองจะปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน คอแข็ง ไม่ค่อยรู้สึกตัว สับสน อาจมีอาการชักเกร็ง หลังแอ่นแข็งได้ ในรายที่รุนแรงจะมีเลือดออกในลำไส้และต่อมหมวกไต รวมทั้งภาวะที่เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มทั่วร่างกาย (Waterhouse-Friderichsen Syndrome) จนเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตในที่สุด โดยอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น อาจเสียชีวิตได้ภายใน 48 ชั่วโมง

          อย่างไรก็ตาม หากรู้ตัวเร็วและรีบรักษาก็ลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ไม่ควรตื่นตระหนกเกิดเหตุ เพราะล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันว่า โรคไข้กาฬหลังแอ่นไม่ได้ระบาดในประเทศไทย

          อ่านข้อมูลเรื่องโรคไข้กาฬหลังแอ่นทั้งหมดได้ที่นี่ "ไข้กาฬหลังแอ่น เช็กอาการโรคติดต่ออันตราย อาจตายได้เฉียบพลัน"
 






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉะเชิงเทราพบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นตาย ไม่เจอกว่า 15 ปี อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2558 เวลา 16:06:13 1,954 อ่าน
TOP