x close

เมาแล้วขับชนคนตาย ... ประมาทหรือเจตนาฆ่า !

เมาแล้วขับ


          "เมาแล้วขับ ชนคนตาย" โศกนาฏกรรมซ้ำซากในสังคมไทย เหตุการณ์เศร้าสลดต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้น ถูกผลิตซ้ำวนเวียนและดูเหมือนว่าจะไม่มีทางแก้ไขอะไรได้ แม้ล่าสุด จะได้มีการแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ. จราจร 2522, แก้ไข พ.ศ. 2551) ให้ "เพิ่มโทษ" คนเมาแล้วขับรถชนคนตาย ติดคุกสูงสุด 10 ปี ปรับสูงสุด 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ  

          แต่ก็ดูเหมือนว่า โทษทัณฑ์หลังคำตัดสินที่ได้รับ จะไม่เพียงพอต่อสำนึกของเหล่านักดื่มเท่าไหร่นัก ประเทศไทย จึงจัดเป็นประเทศที่มีตัวเลขของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีคอเหล้า “ เมาแล้วขับ ” เป็นผู้นำขบวน ด้วยสถิติอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตต่อวันที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาลพบว่า สัดส่วนผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีอาการมึนเมาสูงกว่าในช่วงเวลาปกติถึงกว่า 40 % คำถามจึงมีว่า เราจะทำอย่างไรกับการดื่มแล้วขับที่กลายเป็นวิสัยธรรมดาของคนไทย ? ซึ่งในทางสากล “ การเมาแล้วขับรถชนคนตาย ” จะถูกพิจารณาว่า เป็น “ เจตนา ” และมีความผิดร้ายแรง จนทำให้สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้หรือไม่ ?

          เพราะมุมมองของผู้ออกกฎหมายคือ ทุกคนที่ดื่มย่อมรู้ดีว่า การดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีผลต่อการควบคุมสติสัมปชัญญะและมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ ดังนั้น การที่มีผู้ฝ่าฝืนโดยการดื่มแล้วมาขับ จึงถือเป็นความเจตนาและไตร่ตรองมาแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งต้องมีบทลงโทษร้ายแรง โดยมีกรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ต่อการจัดการปัญหาและปราบปรามป้องกันปัญหา " เมาแล้วขับ " ดังนี้

          ในอดีต ปัญหาการขับรถชนคนตายในประเทศญี่ปุ่น ยังถูกพิจารณาว่าเป็นเรื่อง “ ประมาท ” มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 5 แสนเยน จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1999 ได้เกิดกรณีมีคนเมาขับรถบรรทุก (มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 126 mg %) ชนรถเก๋งบนทางด่วนโทลล์เวย์ ทำให้รถเกิดไฟลุกไหม้ ส่งผลให้ลูกสาววัย 1 ขวบและ 3 ขวบเสียชีวิตทันที เช่นเดียวกับในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2006 เกิดคดีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมาแล้วขับชนท้ายรถเก๋งครอบครัวที่อยู่บนสะพานตกลงไปในอ่าวฮานาตะ เมืองฟูกูโอกะ เป็นเหตุให้เด็กที่นั่งมาในรถทั้ง 3 คนเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่คนนี้ได้ขับหนีและขอให้เพื่อนช่วยหลอกว่าเป็นผู้ขับขี่แทน 

เมาแล้วขับ

          จากเหตุการณ์ดังกล่าว สังคมญี่ปุ่นได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายเพิ่มโทษ โดยต่อมา กฎหมายเมาแล้วขับ ตามมาตรา 65 พ.ร.บ. การจราจรของญี่ปุ่น ได้ถูกยกร่างขึ้นใหม่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2007 โดยบทบัญญัติครอบคลุมตั้งแต่ ห้ามขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย, ห้ามให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะแก่ผู้ที่น่าวิตกว่าจะกระทำผิด, ห้ามร้องขอหรือไหว้วานให้ผู้อื่นขับขี่ยานพาหนะไปส่งตนเองโดยที่รู้อยู่แล้วว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในร่างกาย อีกทั้งห้ามร่วมโดยสารไปในยานพาหนะที่ขับขี่โดยบุคคลที่กระทำผิดตามที่กำหนด และที่สำคัญ “ บทลงโทษ ” ผู้ขับขี่เมาแล้วขับ จะรุนแรงและครอบคลุมผู้เกี่ยวข้อง โดยมีหัวใจสำคัญว่า การเมาแล้วขับและทำให้มีผู้เสียชีวิตจะมีโทษรุนแรง รองจากความผิดฐานฆ่าคนตายเลยทีเดียว เช่นนี้แล้ว 

          ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่สังคมไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับบทลงโทษที่เข้มงวดและจริงจังเสียทีถ้าคุณไม่อยากให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เกิดขึ้นกับคนที่คุณ เชิญร่วมกด Like กด Share คลิปวีดีโอในโครงการ “ ดื่มไม่ขับ ” ได้ที่ http://socialmarketingth.org




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมาแล้วขับชนคนตาย ... ประมาทหรือเจตนาฆ่า ! อัปเดตล่าสุด 10 เมษายน 2558 เวลา 14:12:29 4,141 อ่าน
TOP