x close

แพทย์จุฬาฯ ชี้ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์ อาจชุบชีวิตได้ แต่ไม่คุ้ม


ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์ ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์

            อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผย ไครโอนิกส์ เทคโนโลยีแช่แข็งมนุษย์ เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ครอบครัวสามารถทำได้ แต่ไม่คุ้มเพราะค่าใช้จ่ายสูง และหากชุบชีวิตได้จริง อาจมีปัญหาเรื่องความทรงจำ

            จากกรณีที่ ดร.สหธรณ์ และ ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ สองสามีภรรยานักธุรกิจ บริจาคเงินให้มูลนิธิอัลคอร์ไลฟ์ เอ็กซ์เทนชั่น ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เพื่อให้นำร่างของลูกสาว ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ หรือน้องไอนส์ อายุ 2 ขวบ ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสมองแล้ว นำไปเก็บรักษาเซลล์ด้วยการแช่แข็งภายใต้อุณหภูมิ -196 องศา หรือวิธี "ไครโอนิกส์" โดยหวังว่าในอนาคตหากวิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า อาจจะมีวิธีปลุกชีวิตลูกสาวขึ้นมาใหม่ จนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของกระแสสังคมอย่างมากในตอนนี้นั้น

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ดร.สุธีรา รัตนศิรินทรวุธ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการเก็บรักษาเซลล์ของมนุษย์ไว้ในไนโตรเจนเหลวภายใต้อุณหภูมิ -196 องศา นั้นสามารถทำได้มานานแล้ว และที่ผ่านมา ก็เคยมีการแช่แข็งเซลล์ไข่ เซลล์สเปิร์ม หรือเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น แต่ในส่วนของการแช่แข็งร่างกาย หรืออวัยวะระบบใดระบบหนึ่ง โดยหวังว่าจะนำกลับมาเพิ่มอุณหภูมิ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายกลับมาเริ่มทำงานอีกครั้งนั้น ยังไม่มีทฤษฎีหรืองานวิจัยใดที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้

            ส่วนข่าวที่ว่า การทำไครโอนิกส์ทั้งร่างกายเพื่อหวังที่จะชุบชีวิตขึ้นมาใหม่นั้น มองว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำมาก เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีใครทำได้ รวมถึงในสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า ในอีกสิบปี หรือร้อยปีข้างหน้านั้น เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของมนุษย์จะพัฒนาไปไกลถึงขั้นชุบชีวิตมนุษย์ได้หรือไม่ อีกทั้งกระบวนการในการชุบชีวิต ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า หากชุบชีวิตมนุษย์ได้จริง มนุษย์ถูกชุบชีวิตขึ้นมาจะได้ความทรงจำเดิมกลับมาได้อย่างไร

พ่อน้องไอนส์ เปิดใจหลังส่งร่างลูกสาวแช่แข็ง เชื่อน้องยังมีชีวิตอยู่จริง

            ดร.สุธีรา กล่าวต่อว่า หากพูดถึงกระบวนการโคลนนิ่งที่สามารถทำได้แล้วในสัตว์ สัตว์ที่ผ่านการโคลนนิ่งมักมีความผิดปกติในการเจริญเติบโต อาทิ เกิด Large offspring syndrome จึงมีความเสี่ยงสูงที่สิ่งมีชีวิตที่ผ่านกระบวนการนี้จะเกิดความผิดปกติขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านจริยธรรมตามมาอีกหลายประการ และที่สำคัญพบว่าสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการโคลนนิ่ง จะเป็นเพียงฝาแฝดเท่านั้น ไม่ได้มีความทรงจำเดิม ส่วนที่มีการให้ข่าวว่า ได้มีการนำหนูไปทำไครโอนิกส์แล้ว สามารถมีชีวิตฟื้นขึ้นมาใหม่นั้นน่าจะเป็นการเข้าใจผิดจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งระบุว่า ได้มีการนำเซลล์ของหนูที่แช่แข็งไว้นานหลายสิบปีกลับมาสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ด้วยกระบวนการโคลนนิ่ง ทำให้ได้หนูที่มีพันธุกรรมแบบหนูต้นฉบับที่แช่แข็งไว้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การชุบชีวิตหนูขึ้นมาได้แต่อย่างใด

            ทั้งนี้ในการเก็บเซลล์สมองและเซลล์ในระบบประสาทนั้นสามารถทำได้จริง แต่การที่สมองซึ่งเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนจะสามารถกลับมาทำงานได้หลังการถูกแช่แข็งเป็นระยะเวลานานนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก และที่สำคัญ แม้เซลล์จะกลับมาทำงานได้อีกครั้งก็ไม่ได้หมายความว่า กลไกการทำงานต่าง ๆ จะช่วยรื้อฟื้นความคิดหรือความทรงจำเก่า ๆ ขึ้นมาได้ อีกทั้งในการใช้วิธี "ไครโอนิกส์" ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ความเป็นไปได้ที่จะสามารถชุบชีวิตมนุษย์ได้นั้นน้อยยิ่งกว่าน้อย จึงถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

            อย่างไรก็ดี หากผู้ที่ใช้บริการแช่แข็งนั้นมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และไม่ได้เข้าร่วมเพราะถูกโน้มน้าวให้เชื่อถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่มีจริงหรือคำกล่าวอ้างเกินจริง แต่ได้ใช้วิจารณญาณแล้วและยินดีที่จะใช้เงินจำนวนมากแลกกับความเป็นไปได้อันน้อยนิดก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงกระทำได้

            สำหรับ ดร.สุธีรา รัตนศิรินทรวุธ นั้น จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านชีวเวชศาสตร์ (Biomedical Sciences) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา


 เกาะติดข่าวน้องไอนส์ เด็กแช่แข็ง แบบอัพเดททั้งหมด


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Matheryn Naovaratpong , Alcor Life Extension Foundation
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์จุฬาฯ ชี้ไครโอนิกส์ แช่แข็งมนุษย์ อาจชุบชีวิตได้ แต่ไม่คุ้ม อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2558 เวลา 16:21:46 28,454 อ่าน
TOP