x close

โซดาช่วยลดฟอร์มาลินในอาหารได้ เช็กซิ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?

โซดา ลดฟอร์มาลินในอาหาร

          กระแสโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ว่าโซดาสามารถช่วยลดฟอร์มาลินที่อาจปนเปื้อนในอาหารได้กำลังมาแรง แต่ว่านั่นคือเรื่องจริงหรือแค่ข้อความที่แชร์ต่อกันเท่านั้นกันแน่

          การปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินในอาหารต่าง ๆ ยังคงเป็นเรื่องที่คนจำนวนไม่น้อยวิตกกังวล เพราะสารฟอร์มาลินนั้นเป็นสารที่อันตราย สามารถส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพได้ ทำให้มีการค้นหาวิธีในการขจัดหรือแม้แต่ลดปริมาณสารฟอร์มาลินที่อาจตกค้างมาในอาหาร 

          อย่างเช่นวิธีที่ตอนนี้มีการแชร์กันอย่างแพร่หลายในโซเชียลเน็ตเวิร์ก นั่นก็คือการนำอาหารไปแช่ในน้ำโซดา โดยอ้างว่าการแช่ด้วยน้ำโซดาจะทำให้สารฟอร์มาลินมีค่าเป็นกลางและปลอดภัยต่อสุขภาพ เรื่องนี้จะชัวร์หรือมั่วนิ่มต้องไปดูที่ ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำข้อเท็จจริงมาอธิบายให้เราทราบกัน แค่น้ำโซดาเนี่ยเหรอที่ช่วยลดฟอร์มาลินได้ ?

โซดา ลดฟอร์มาลินในอาหาร

          ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความที่แชร์ต่อกันมานี้ในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ว่าไม่มีการยืนยันเลยว่าน้ำโซดาสามารถเปลี่ยนฟอร์มาลินที่อาจตกค้างอยู่ในอาหารให้มีฤทธิ์เป็นกลาง เพราะน้ำโซดานั้นมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ จากกรดคาร์บอนิก เช่นเดียวกับน้ำอัดลมทั่วไป ไม่ได้มีฤทธิ์เป็นด่างอย่างที่อยู่่ในข้อมูลที่ส่งต่อ ๆ กันมา ทำให้ข้อมูลที่แชร์กันต่อมาในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นไม่ใช่เรื่องที่มีการแนะนำว่าสามารถใช้ได้จริงแต่อย่างใด

          นอกจากนี้ อ.เจษฎา ยังได้เพิ่มเติมว่าปัญหาของสารฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนในอาหารนั้น ในเมืองไทยมุ่งเน้นไปที่การเลือกซื้ออาหารที่ปลอดสารฟอร์มาลินมากกว่าที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการขจัดสารฟอร์มาลินออกจากอาหารที่ปนเปื้อน

โซดา ลดฟอร์มาลินในอาหาร

          อย่างไรก็ตาม วิธีการเลือกอาหารที่ปลอดสารฟอร์มาลินมีวิธีดังนี้

           1. ก่อนซื้อควรดมกลิ่นอาหาร หากมีกลิ่นฉุนจนแสบจมูก แปลว่าอาหารเหล่านั้นใส่สารฟอร์มาลิน

           2. สังเกตอาหารที่จะซื้อให้ดี โดยถ้าหากผักสดนั้นถูกแสงแดดและลมตลอดทั้งวันแล้วยังไม่เหี่ยว หรือเนื้อสัตว์มีสีเข้มและสดผิดปกติทั้ง ๆ ที่ไม่ได้แช่เย็น นั่นแปลว่าอาหารเหล่านั้นมีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลิน ไม่ควรซื้อมารับประทาน

          ส่วนวิธีการลดสารฟอร์มาลินที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่มีการแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงนั้นมีวิธีดังนี้

           1. ล้างอาหารด้วยน้ำประปาไหลผ่านให้ทั่วถึง เพราะสารฟอร์มาลินสามารถละลายได้ในน้ำ

           2. ก่อนนำอาหารแห้งมาใช้ควรแช่อาหารแห้งลงในน้ำ แล้วเทน้ำทิ้งก่อนจะนำไปทำอาหาร

           3. ปรุงอาหารด้วยอุณหภูมิสูง 75 องศาขึ้นไป ความร้อนสูงจะช่วยให้สารฟอร์มาลินลดลงได้

          แต่ถึงแม้จะมีการแนะนำถึงวิธีลดสารฟอร์มาลิน แต่การทดลองในประเทศอินโดนีเซียกลับพบว่าแม้จะนำอาหารที่มีสารฟอร์มาลินปนเปื้อนไปต้มนานถึง 10 นาที แล้ว แต่ก็ใช่ว่าสารฟอร์มาลินจะหมดไป เพราะการต้มนี้ก็ทำได้เพียงลดปริมาณสารฟอร์มาลินเท่านั้น ดังนั้นจึงควรจะหยุดใช้สารฟอร์มาลินในอาหารจะดีที่สุดค่ะ

          นอกจากการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การเลือกอาหารที่สะอาดไร้สารอันตรายปนเปื้อนก็สำคัญเช่นเดียวกัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงอายุยืนยาว อย่าลืมสังเกตอาหารให้ดีทุกครั้งก่อนซื้อ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับสารพิษต่าง ๆ เข้ามาสะสมในร่างกายทำให้สุขภาพเสียในอนาคต 






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โซดาช่วยลดฟอร์มาลินในอาหารได้ เช็กซิ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม? อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 16:10:00 16,586 อ่าน
TOP