x close

ยังไม่เข้าไทย ผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์สที่ร้อยเอ็ด ตรวจแล้ว ไร้เชื้อ

ยังไม่เข้าไทย ผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์สที่ร้อยเอ็ด ตรวจแล้ว ไร้เชื้อ

            กรณีพบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคเมอร์สที่ร้อยเอ็ด กรมควบคุมโรคยืนยัน ตรวจแล้ว ไม่พบการติดเชื้อ เผยยังไม่พบผู้ป่วยเมอร์สในไทย

            จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์สในประเทศเกาหลีใต้และหลายประเทศ ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับโรคนี้มากขึ้น และในไทยเอง ก็มีการเฝ้าระวังรวมถึงประกาศให้ ไวรัสเมอร์ส เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หากใครป่วยต้องสงสัยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว ซึ่งก็มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการพบผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์สในไทยออกมาเป็นระลอก ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาชี้แจง และยืนยันว่า ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ในไทยแต่อย่างใด

            ทั้งนี้ ได้มีกระแสข่าวอีกว่า พบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคเมอร์ส ที่ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุด (17 มิถุนายน 2558) ทาง สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค จึงได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ "ข้อเท็จจริงกรณีพบผู้ป่วยสงสัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ที่จังหวัดร้อยเอ็ด" ว่า ได้มีการตรวจสอบแล้ว ไม่พบการติดเชื้อโรคเมอร์สในผู้ป่วยทั้งสามราย และยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวในไทย ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก และหากมีการตรวจพบผู้ป่วยโรคเมอร์สเมื่อใด กระทรวงสาธารณสุขจะรีบแจ้งให้ทราบ เพื่อการป้องกันควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว

ยังไม่เข้าไทย ผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์สที่ร้อยเอ็ด ตรวจแล้ว ไร้เชื้อ

            และเพื่อเป็นการป้องกันโรคดังกล่าว ทางกรมควบคุมโรค จึงขอให้คำแนะนำต่อประชาชนดังนี้

            1. ประชาชนที่เดินทางไปประเทศที่พบผู้ป่วย ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ได้แก่

            - หากไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานพยาบาลในช่วงที่มีการระบาดของโรค

            - หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม

            - หลีกเลี่ยงการเข้าไปหรือสัมผัสฟาร์มสัตว์ หรือสัตว์ป่าต่าง ๆ หรือดื่มน้ำนมดิบ โดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค โดยเฉพาะน้ำนมอูฐ ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อได้

            - ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่

            - ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชำระปิดปากและจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิดและล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรไอหรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขน ไม่ควรจามรดมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

            - หลังจากกลับจากการเดินทาง หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือโทร. 1669 พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

            2. ประชาชนสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ เว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่




ภาพจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยังไม่เข้าไทย ผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์สที่ร้อยเอ็ด ตรวจแล้ว ไร้เชื้อ อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2558 เวลา 09:43:01 3,059 อ่าน
TOP