x close

รู้จักโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

ปวดหัว


รู้จักโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (ชีวจิต)


          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ Meniere\'s disease ถูกค้นพบโดยนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Prosper Meniere โรคนี้มักเกิดกับคนในช่วงอายุ 20-60 ปีเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะอายุเฉลี่ย 40 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

          ถึงแม้โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะไม่ใช่โรคติดต่อหรือโรคร้ายถึงแก่ชีวิต แต่ปัญหาก็คือเป็นโรคเรื้อรัง โดยทั่วไปจะไม่มีอาการปรากฎ ยกเว้นเวลาที่กำเริบเท่านั้น ซึ่งอาจจะกำเริบบ่อย ๆ หรือเป็นครั้งคราว แล้วแต่กรณี

อาการของ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยผู้ป่วยมักจะหน้ามืด เวียนศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน หูอื้อ มีเสียงผิดปกติในหู แน่นในหู บางรายอาจถึงกับสูญเสียการได้ยินและสูญเสียการทรงตัว

          อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นแค่ 20 นาทีแล้วหายไป หรืออาจถึงขั้นเป็นอยู่ตลอด 2-3 วัน หรือมากกว่า

กลไกที่ทำให้เกิด โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          หลายปัจจัย เช่น เกิดการอุดตันของท่อระบายน้ำในหู มีการผลิตน้ำในหูมากเกินไป เกิดการติดเชื้อ เช่น โรคซิฟิลิส ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ปัญหาเส้นเลือดที่หูชั้นใน รวมทั้งกรรมพันธุ์และความเครียด

ทำอย่างไรเมื่ออาการกำเริบ

          คุณควรพยายามนอนกับพื้นนิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย สายตามองที่จุดเดียว ไม่ขยับเขยื้อน อย่ากินหรือดื่มอะไร และเมื่ออาการทุเลาแล้วจึงค่อยลุกขึ้นช้า ๆ

          สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด คือ อาจเกิดการบาดเจ็บได้ เพราะฉะนั้นควรหยุดกิจกรรมเหล่านี้ทันทีที่อาการกำเริบ เช่น ขับรถ ปีนบันได ทำงานกับเครื่องมือเครื่องจักรที่อันตราย และอย่าเคลื่อนไหวร่างกายโดยเร็ว

การป้องกัน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          ทางที่ดีที่สุด คือ ลดความเครียดในชีวิตประจำวันของคุณ อาจจะด้วยการทำงานอดิเรก เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ฟังเพลง อาบน้ำ อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ

การรักษา โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

          ความที่สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันยังเป็นปริศนาอยู่ ทำให้ไม่มีการรักษาใดที่จะช่วยแก้ได้โดยชะงัด ถ้าคุณไปพบแพทย์ คุณอาจได้รับยาซึ่งมีผลข้างเคียง คือทำให้คุณนอนหลับสนิทตลอดวัน ส่วนการผ่าตัดก็ไม่ใช่วิธีที่จะการันตีว่า จะช่วยให้หายขาดได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม วิธีที่จะช่วยให้คุณจัดการกับโรคน้ำในหูไม่เท่ากันด้วยตัวเอง คือ

          งดสูบบุหรี่

          งดแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้คุณหน้ามืดวิงเวียนได้

          งดกาเฟอีน กาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง และมีผลต่อโรคที่เกี่ยวกับหูชั้นในด้วย และอย่าลืมว่า กาเฟอีนไม่ได้มีอยู่เฉพาะในกาแฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต และยาบางตัว

          ลดปริมาณการบริโภคเกลือ (โซเดียม) เพราะโซเดียมมีผลต่อการเพิ่มของของเหลวในหูชั้นใน คุณจึงควรงด ไม่ใช่แค่ไม่เติมเกลือ แต่ต้องระวังอาหารหลายชนิดที่มักมีโซเดียมเป็นส่วนผสมอยู่มาก เช่น อาหารฝรั่ง และอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย

          ออกกำลังเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหมเกินไป

          หลีกเลี่ยงความเครียด



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน อัปเดตล่าสุด 25 สิงหาคม 2560 เวลา 14:53:39 2,330 อ่าน
TOP