x close

ตกขาวสีน้ำตาล ผิดปกติไหม ตกขาวสีนี้บอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง

         ตกขาวสีน้ำตาล เป็นปัญหาตกขาวอย่างหนึ่งที่ผู้หญิงมักเป็นกันบ่อย ๆ สำหรับใครที่กำลังมีปัญหานี้อยู่ มาดูกันเลยว่าตกขาวสีน้ำตาลนั้น เกิดจากอะไร และเป็นเพราะอะไรกันแน่

ตกขาวสีน้ำตาล

         ตกขาวสีน้ำตาล เชื่อว่าเป็นปัญหาคาใจสำหรับสาว ๆ อยู่พอสมควร เพราะโดยทั่วไปแล้วตกขาวที่ปกตินั้นจะมีสีขาวขุ่นและไม่มีกลิ่น แต่ถ้าเมื่อไรที่ตกขาวเริ่มมีสี มีกลิ่น นั่นก็แสดงว่าภายในช่องคลอดของเราเริ่มที่จะผิดปกติหรือเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจได้เห็นตกขาวในสีที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะอะไร แล้วตกขาวสีน้ำตาลที่เราเป็นอยู่นี่ล่ะจะบอกปัญหาสุขภาพด้านไหน เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน
          

ตกขาวสีน้ำตาล เกิดจากสาเหตุไหนได้บ้าง


          ตกขาวสีน้ำตาลเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น


ตกขาวสีน้ำตาล

เป็นเลือดประจำเดือนที่ตกค้าง


          โดยมีสาเหตุมาจากเลือดประจำเดือนไหลช้าในช่วงที่เริ่มจะเป็นประจำเดือน ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกจะค่อย ๆ หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน และช่วงวันท้าย ๆ ของการมีรอบเดือนที่เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกหมดแล้ว ทำให้มีเลือดประจำเดือนน้อยลง มดลูกก็บีบตัวได้น้อยลง และเมื่อเลือดไหลออกช้าลงก็มีโอกาสอยู่ในช่องคลอดนานขึ้น ได้สัมผัสออกซิเจนจากอากาศมากขึ้น จนมีสีคล้ำเป็นสีน้ำตาลได้

ฮอร์โมนไม่สมดุล


          การมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจะทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในส่วนของผนังเยื่อบุมดลูก เป็นเหตุให้มีเลือดไหลผิดปกติจากช่องคลอด และปนมากับตกขาวจนกลายเป็นสีแดงคล้ำไปจนถึงสีน้ำตาลได้ 

การคุมกำเนิด


          ไม่ว่าจะด้วยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิด ในระยะแรก ๆ ก็อาจส่งผลให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดได้ และหากเลือดที่ว่านี้ค้างอยู่ในช่องคลอดนาน เนื่องจากมีปริมาณน้อยจึงบีบตัวออกมาได้ช้า ก็อาจทำปฏิกิริยากับอากาศจนกลายเป็นสีน้ำตาล ทำให้เราเข้าใจว่านี่คือตกขาวสีน้ำตาล แต่จริง ๆ แล้วเป็นเลือดที่มาจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก

อยู่ในช่วงตกไข่


          ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อยู่ในช่วงไข่ตกอาจพบว่ามีของเหลวสีคล้ายเลือดหรือออกสีน้ำตาลออกมาจากช่องคลอด และเข้าใจว่าเป็นตกขาวสีน้ำตาล แต่นี่อาจจะเป็นเลือดที่ออกในช่วงตกไข่ จากการที่มีไข่ที่สุกแล้วตกลงมาในช่องเชิงกราน และหลอดมดลูกส่วนปลายจะพยายามนำไข่กลับเข้าไปในมดลูกเพื่อรอการปฏิสนธิ ซึ่งกระบวนการนี้อาจทำให้ผิวรังไข่แตกและมีเลือดออกเล็กน้อย พร้อมอาการปวดท้องน้อยคล้าย ๆ ตอนเป็นประจำเดือน ทว่าจะมีเลือดออกช่วงไข่ตกหรือไม่มีเลือดออกมาเลยก็ถือว่าเป็นปกตินะคะ

ตั้งครรภ์


          ของเหลวสีน้ำตาลที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นตกขาวสีน้ำตาลพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ เช่นกัน โดยในทางการแพทย์จะเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) ซึ่งก็คือเลือดที่ออกจากช่องคลอดในช่วงก่อนที่จะตั้งครรภ์ อันเกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อน หรือช่วงที่มีการปฏิสนธิระหว่างตัวอ่อน (อสุจิ) กับเยื่อบุโพรงมดลูกนั่นเอง อย่างไรก็ตาม อาการนี้จะเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์บางคนเท่านั้น โดยจะมีอาการ เช่น มีเลือดออกจาง ๆ สีชมพูอ่อน หรือสีน้ำตาล ไม่มีกลิ่น หรือสีผิดปกติ ไม่ปวดท้อง ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย มาไม่รู้ตัว อาจมาวันเดียวแล้วหาย หรืออาจเป็นอยู่ 2-3 วัน แล้วแต่คน และเลือดที่ออกมาก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อทารกแต่อย่างใด


ตั้งครรภ์นอกมดลูก


          เลือดที่ออกมาจากช่องคลอดแล้วเป็นสีน้ำตาล คล้ายกับการตกขาวสีน้ำตาลที่หลายคนเข้าใจกัน อาจมีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์นอกมดลูกด้วย ซึ่งถ้าใช่จริง ๆ ก็จะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดอุ้งเชิงกราน มีเลือดออกจากช่องคลอดมาก ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดทวารหนัก หน้ามืด เป็นลม หรืออาจจะช็อกได้ด้วย ซึ่งควรรีบไปรักษานะคะ

ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Cyst)


          ถุงน้ำรังไข่ หรือซีสต์รังไข่ เป็นซีสต์ในอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ที่จะเกิดขึ้นตามปกติเหมือนรอบเดือนของสาว ๆ โดยฮอร์โมนจะไปกระตุ้นรังไข่ให้เกิดการตกไข่ ไข่ก็จะอยู่ในถุงน้ำ เมื่อถุงน้ำโตขึ้นแล้วแตก ไข่ก็จะไหลออกมารอการปฏิสนธิ ส่วนถุงน้ำก็จะค่อย ๆ ฝ่อไปในที่สุด ซึ่งเราเรียกถุงน้ำชนิดนี้ว่า ฟังชันนัล ซีสต์ (Functional Cyst) 

          แต่นอกจากถุงน้ำดังกล่าวแล้ว ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่ยังมีอีก 2 ประเภท คือ เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor) และถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) ซึ่งเป็นถุงน้ำรังไข่ที่ผิดปกติ อาจกลายเป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือมะเร็งรังไข่ได้ และหากซีสต์เหล่านี้มีการบิดขั้ว รั่ว ปริ แตก ก็อาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อตัวก้อนเนื้องอกมากขึ้น และในกรณีร้ายแรงก็อาจทำให้ตกเลือดในช่องท้อง อันตรายถึงชีวิตได้เลย


ถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)


          อีกหนึ่งโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย กล่าวคือ มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายสูงเกินปกติ ส่งผลให้วงจรการตกไข่ถูกรบกวน และเมื่อไข่ไม่ตก ประจำเดือนก็มาไม่ปกติเช่นกัน ดังนั้นสาว ๆ ที่มีภาวะนี้อาจพบว่าประจำเดือนมาวันเดียวแล้วหายไป ประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนเป็นสีน้ำตาล มาน้อยจนคิดว่าเป็นตกขาวสีน้ำตาลได้ ร่วมกับอาการแสดงอื่น ๆ เช่น หน้ามัน สิวขึ้น ขนดก อ้วน มีพุง เป็นต้น


การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด


ตกขาวสีน้ำตาล

          การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด หรือการติดเชื้อที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ อาจทำให้มีเลือดปนออกมากับตกขาว กลายเป็นของเหลวสีน้ำตาล และมักจะมีจุดสังเกตคือกลิ่นเหม็น ซึ่งควรไปปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาทางรักษาต่อไป

กระดูกเชิงกรานอักเสบ


          อีกหนึ่งภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง จนทำให้เกิดการอักเสบ หรือมีพังผืดเกาะ และทำให้ประจำเดือนไหลช้าลง จนมีเวลาทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ เลือดสีแดงฉานจึงกลายเป็นสีแดงคล้ำหรือสีน้ำตาล และนี่ก็ไม่ใช่ตกขาวด้วยนะคะ 

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่


          อาการแสดงของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบอาจทำให้เข้าใจว่ามีตกขาวสีน้ำตาลได้เหมือนกัน เพราะมักจะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ มาน้อย มาช้า จนเป็นประจำเดือนสีน้ำตาลหรือสีดำ แต่โรคนี้ก็จะมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดประจำเดือนมาก มีอาการคลื่นไส้-อาเจียน ปวดหลังส่วนล่าง ปวดกระดูกเชิงกราน ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ท้องอืด-ท้องเสียง่าย


ตกขาวสีน้ำตาลแบบไหน ควรไปหาหมอ


ตกขาวสีน้ำตาล

          แม้ว่าในบางกรณี ตกขาวสีน้ำตาลจะไม่ส่งผลใด ๆ ต่อสุขภาพ แต่บางกรณีก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ความไม่ปกติได้ ยิ่งหากมีตกขาวสีน้ำตาลร่วมกับอาการต่อไปนี้

      • มีตกขาวสีน้ำตาลติดต่อกันเกิน 3 เดือน
      • มีตกขาวมากผิดปกติ 
      • ตกขาวเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง สีเขียว ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
      • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น คัน ระคายเคืองช่องคลอด เจ็บช่องคลอด ปวดท้องน้อย เป็นต้น
      • ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทั้ง ๆ ที่เคยมาตามปกติตลอด
      • เคยมีประวัติติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์มาก่อน และกลับมามีตกขาวสีน้ำตาลอีกครั้ง
      • มีตกขาวสีน้ำตาลหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
     
          ตกขาวสีน้ำตาลหรืออาจจะเป็นเลือดจากช่องคลอดก็ตาม หากพบว่ามีพร้อมกับอาการข้างต้นก็อย่ามัวสงสัยอยู่ในใจ แต่ควรพาตัวเองไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยให้ละเอียดนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับตกขาว

      • เช็ก 15 อาการตกขาวผิดปกติ สาว ๆ ต้องกังวลหรือไม่
      • ตกขาวเป็นน้ำ ไขปัญหาเรื่องภายในของผู้หญิง
      • ตกขาวสีเหลือง เป็นเพราะอะไร ? เรื่องใกล้ตัวที่สาว ๆ ควรรู้
      • ตกขาวสีเขียว สัญญาณนี้บอกอะไร ?
      • สมุนไพรรักษาตกขาวจากเชื้อรา แก้ง่าย ๆ ด้วยวิธีธรรมชาติ
      • 10 อาหารที่สาว ๆ ควรเลี่ยง เพราะเสี่ยงทำให้มีตกขาวเยอะ
     
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 พฤษภาคม 2566
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตกขาวสีน้ำตาล ผิดปกติไหม ตกขาวสีนี้บอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 09:25:54 691,432 อ่าน
TOP