x close

ปมร้อน ! แพทย์ระบุพบเชื้อ HIV รักษานาน 4 ปี สุดท้ายความจริงปรากฏ



           รองเลขาธิการแพทยสภา ผุดข้อสังเกตกรณีแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชน ระบุพบเชื้อเอชไอวีในเลือดคนไข้ จนเกิดการเข้าใจผิด ก่อนตรวจพบไม่ติดเชื้อ ชี้ต้องดูว่าผิดพลาดที่แล็บ หรือการแปลผลของแพทย์

           จากกรณีที่ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องของผู้เสียหายที่ร้องเรียนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เนื่องจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลระบุว่าพบเชื้อเอชไอวีในเลือด จนทำให้ต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องนานถึง 4 ปี กระทั่งความจริงมาปรากฏภายหลังว่าไม่ได้ติดเชื้อ จึงทวงถามไปยังโรงพยาบาลที่ทำการรักษา แต่กลับได้รับคำตอบจากแพทย์ว่าเป็นเพราะร่างกายของผู้ป่วยล้างเชื้อเอชไอวีได้เอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย และผู้เสียหายก็ไม่กล้าไปตรวจซ้ำที่อื่นเพราะอับอาย จึงได้นำเรื่องฟ้องร้องจนศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดและต้องจ่ายค่าเสียหาย แต่ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลกลับไม่มีความผิดใด ๆ นั้น

           ความคืบหน้าในวันที่ 9 กันยายน 2558 พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้น ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Ittaporn Kanacharoen" โดยให้ข้อมูลถึงข้อเท็จจริงที่น่ารู้ก่อนฟ้อง ระบุว่า การตรวจเลือดและรายงานนี้เป็นงานของนักเทคนิคการแพทย์ในห้องแล็บ ซึ่งแพทย์ต้องรักษาตามผลแล็บที่รายงานมา กรณีที่เกิดขึ้นนั้นจึงต้องตรวจสอบว่า ผลเลือดที่ระบุว่าติดเชื้อครั้งแรกนั้น เป็นการรายงานจากห้องแล็บ หรือเป็นการแปลผลที่ผิดพลาดของแพทย์ อย่างไรก็ตามการร้องเรียนเพื่อตรวจสอบแพทย์นั้นสามารถทำได้



           พร้อมกันนี้ยังได้สรุปข้อสังเกตออกเป็น 4 กรณี

           ก. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลการตรวจเชื้อเอชไอวีเป็น (-) แต่แพทย์แปลผลผิดพลาดเป็น (+) แล้วรักษาแบบ (+) ซึ่งผิดมาตรฐาน แพทย์จะต้องรับผิดชอบ...

           ข. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลการตรวจเชื้อเอชไอวีเป็น (+) แพทย์แปลผลตามเป็น (+) รักษาแบบ (+) ถือเป็นแพทย์รักษาตามมาตรฐาน

           ค. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลการตรวจเชื้อเอชไอวีเป็น (+) แต่จริง ๆ ผลเป็น (-) ในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็น (-) นั้น อาจเกิดจากการรายงาน "ผิด" ด้วยเหตุต่าง ๆ ทางเทคนิค ที่ต้องสืบค้นข้อมูลว่าความผิดพลาดอยู่ที่ใด

           ง. ถ้าห้องแล็บบอกว่าผลการตรวจเชื้อเอชไอวีเป็น (+) และพิสูจน์พบว่าผลก็เป็น (+) จริงตามมาตรฐานในครั้งแรก และอีก 4 ปีต่อมาผลเป็น (-) นั้น อาจเกิดจากการรายงาน "ถูกต้อง" แต่เป็นภาวะ (+) เทียม ทางแล็บ หรือเป็นภาวะ (+) จริง ๆ จากสภาวะผู้ป่วยเอง แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านไปนาน อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นอาจได้รับยาและรักษาอะไรมาบ้าง ซึ่งต้องใช้หลักฐานประกอบอื่น ๆ เช่น ผลเลือดตรวจจำนวนไวรัสอื่น ๆ ก่อนตัดสินข้อเท็จจริง

           สำหรับกรณี ค. และ ง. จะอยู่ในความรับผิดชอบของห้องแล็บ และนักเทคนิคการแพทย์ สามารถตรวจสอบมาตรฐานของแล็บได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข และสภาเทคนิคการแพทย์ (ไม่ใช่แพทยสภา)

           ตามข่าวรายนี้ คาดว่าผลแล็บออกมาว่า (+) คือ "เป็น" ปกติแพทย์ต้องรักษาให้ยาตามมาตรฐาน จน 4 ปีมาตรวจซ้ำผลแล็บว่า (-) คือ "ไม่เจอ" ...ซึ่งน่าจะถือเป็นโชคดีของคนไข้ ถ้าเป็นจริง

           น่าสนใจบทสรุปว่า

           1. ผลเลือด (+) นี้เป็นความผิดพลาด (Medical Error) ทางเทคนิค ที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ หรือเป็นเรื่องจริงทางการแพทย์ที่คนไข้เคย (+) แล้วกลับ (-) ได้ (ซึ่งเป็นความหวังของคนไข้เอดส์ทุกคน)..

           2. สุดท้ายจะเป็นความรับผิดชอบของใคร ?

           3. คดีเรียกร้องค่าเสียหายทุกข์ใจ..จะจบลงอย่างไร ?



ภาพจาก เฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปมร้อน ! แพทย์ระบุพบเชื้อ HIV รักษานาน 4 ปี สุดท้ายความจริงปรากฏ อัปเดตล่าสุด 1 ธันวาคม 2558 เวลา 15:03:51 56,428 อ่าน
TOP