x close

ยาคุมกำเนิด กินติดต่อกันนานเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพ !

          ยาคุมกำเนิด อีกหนึ่งวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยม แต่เคยรู้กันบ้างหรือไม่ว่าการใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

          การกินยาคุมกำเนิด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคุมกำเนิดที่สาว ๆ นิยมใช้ เพราะเป็นวิธีที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ หลายคนเลยเผลอใช้อย่างต่อเนื่อง โดยหารู้ไม่ว่าการกินยาคุมกำเนิดมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพต่าง ๆ ได้ โดยมีการศึกษาพบว่า ผู้หญิงเราไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 5 ปี แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ควรเว้นระยะในการใช้อย่างน้อย 6 เดือน หรือหากกินยาคุมเพื่อรักษาโรคบางชนิดจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

          วันนี้เราจะพาคุณสาว ๆ ไปเรียนรู้ภัยเสี่ยงสุขภาพจากการรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนาน ๆ เพื่อให้สาว ๆ ได้ระมัดระวังในการใช้มากขึ้นอีกนิดหนึ่งค่ะ

โรคหัวใจและหลอดเลือด

          การรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนาน ๆ สามารถเพิ่มความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดอุดตันไ โดยเฉพาะกับคนที่สูบบุหรี่ หรือมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ซึ่งอาการหลอดเลือดอุดตันนี่ล่ะค่ะ ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ดังนั้นจึงต้องมีการสังเกตอาการในช่วงที่ใช้ยาคุมกำเนิดอย่างใกล้ชิด โดยถ้าหากมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด หน้ามืด ปวดศีรษะบ่อย ๆ หรือเริ่มพูดไม่ชัด ควรรีบหยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ด้วย เพราะนั่นอาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดอุดตัน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

          การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกัน แต่อยู่ในอัตราต่ำ ประมาณ 4 ใน 10,000 คน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะไปส่งเสริมการสร้างโปรตีนที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดให้มากเกินกว่าปกติ ทำให้เกิดเป็นก้อนเลือดหรือลิ่มได้มากขึ้น ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นจะเป็นลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่ขาแล้วกระจายไปตามกระแสเลือด และไปอุดตันที่หลอดเลือดดำในปอด

          ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดจะมีทั้งชนิดฮอร์โมนรวม และชนิดฮอร์โมนเดี่ยว โดยการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นลิ่มเลือดอุดตันมากกว่า เพราะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินรวมกันในเม็ดเดียว ซึ่งอย่างที่ทราบไปแล้วว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนช่วยเพิ่มการแข็งตัวของเลือด อันอาจนำไปสู่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้

          ขณะที่ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว จะมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่พบหลักฐานว่า ฮอร์โมนชนิดนี้จะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการแข็งตัวของเลือด

โรคต้อหิน

          ต้อหินถือเป็นโรคอันตรายสำหรับดวงตา เพราะอาจจะทำให้ถึงขั้นตาบอดได้ และการใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อหินได้เช่นกัน โดยจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเมืองซานฟรานซิสโก และมหาวิทยาลัยดุ๊ก พบว่าจากการสอบถามข้อมูลจากผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป จำนวน 3,046 คน เกี่ยวกับการมองเห็นและการคุมกำเนิด พบว่าผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิด 3 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต้อหินมากกว่าผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดน้อยกว่านั้นหรือไม่เคยใช้เลย ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากผิดปกติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต


เนื้องอกในสมอง

          วารสารทางการแพทย์อย่าง British Medical Journal of Clinical Pharmacology ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกในสมองและยาคุมกำเนิด โดยจากการศึกษาได้พบว่า ผู้หญิงวัย 15-49 ปี ที่มีการใช้ยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม ต่างมีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกในสมองชนิด Giloma ซึ่งเป็นชนิดที่หายาก โดยความเสี่ยงนั้นจะมากกว่าผู้หญิงทั่วไปที่ไม่เคยใช้ยา และยังมีความเสี่ยงสูงที่ก้อนเนื้อเหล่านั้นจะกลายเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย
 
มะเร็งเต้านม

          การกินยาเม็ดคุมกําเนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ก็จริง แต่น้อยมาก แม้ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่เริ่มกินยาคุมตั้งแต่วัยรุ่น แต่ความเสี่ยงมะเร็งเต้านมจะลดลงเรื่อย ๆ หลังหยุดกิน กระทั่งหยุดกินยาคุมกำเนิดไปแล้วเกิน 10 ปี ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมก็จะเท่ากับคนที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิด ยกเว้นว่าจะมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว จึงแนะนำให้ผู้กินยาเม็ดคุมกำเนิดตรวจเต้านมเป็นประจำนะคะ

มะเร็งปากมดลูก

          การศึกษาของ International Agency for Research on Cancer (IARC) พบว่า การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานอาจเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เล็กน้อย แต่เมื่อหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งจะลดลง

          อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยแท้จริงแล้วเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ โดยทางการแพทย์สันนิษฐานด้วยว่า หญิงที่กินยาคุมกำเนิดมักจะละเลยการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งนั่นก็อาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HPV มากขึ้นได้


      ใครที่ใช้ยาคุมกำเนิดก็ฝากให้ระวังกันไว้นิดหนึ่งค่ะว่าอย่าใช้ยาติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจได้รับความเสี่ยงอย่างที่กล่าวมา ส่วนคนที่จำเป็นต้องกินยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ก็ควรใช้ในปริมาณที่แพทย์กำหนด และคอยสังเกตอาการอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่งค่ะ

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
healthline.com
columbia.edu
medicalnewstoday.com
mayoclinic.org
prevention.com

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาคุมกำเนิด กินติดต่อกันนานเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพ ! อัปเดตล่าสุด 1 มิถุนายน 2564 เวลา 08:10:17 43,530 อ่าน
TOP