x close

ยืนยัน ! ทารกศีรษะเล็ก 2 ราย ติดเชื้อไวรัสซิกา เคสแรกในไทย

ไวรัสซิก้า

ไวรัสซิก้า

          ผลตรวจยันชัด เด็กแรกคลอดศีรษะเล็ก 2 ราย ติดเชื้อไวรัสซิกา พบแม่มีประวัติติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ขณะที่สหรัฐฯ เตือนหญิงตั้งครรภ์เลี่ยงเดินทางมาอาเซียน

          เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค พร้อมผู้เกี่ยวข้อง แถลงข่าวถึงกรณีพบทารกแรกคลอดในประเทศไทยมีศีรษะเล็ก จำนวน 3 ราย ซึ่งภายหลังการได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า สาเหตุของศีรษะเล็กเกิดจากติดเชื้อซิกา 2 ราย ส่วนอีก 1 รายยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุได้
          ทั้งนี้ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า เด็กที่ติดเชื้อซิกา 1 ราย ยืนยันด้วยผลการตรวจน้ำเหลืองด้วยการตรวจหาภูมิคุ้มกันขั้นต้นไอจีเอ็มที่ให้ผลเป็นบวก แสดงว่ามารดาเคยติดเชื้อซิกาแต่ไม่ได้แสดงอาการของโรคซิกา ส่วนอีกรายยืนยันจากการตรวจปัสสาวะ แม้ว่าผลการตรวจจะเป็นลบ แต่เมื่อซักประวัติมารดาก็ทราบว่าเคยมีประวัติออกผื่น ขณะที่เด็กทารกอีกรายยังไม่ทราบสาเหตุที่มีศีรษะเล็ก จึงต้องพิจารณาตรวจสอบเพิ่มเติม

          นพ.ประเสริฐ ระบุว่า การตรวจพบครั้งนี้อาจบอกได้ว่า ทารกทั้ง 2 รายที่มีศีรษะเล็กนั้นเป็น 2 เคสแรกของประเทศไทย แต่ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเด็กทั้ง 2 รายจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้มีอาการเกร็ง เรียกแล้วไม่ค่อยได้ยิน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ยังต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีทารกอีก 1 รายที่ยังไม่คลอด แต่มารดาเคยติดเชื้อซิกาแบบไม่แสดงอาการ จึงต้องติดตามต่อไปเพราะขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าทารกจะมีศีรษะเล็กหรือไม่

ไวรัสซิก้า

          ในส่วนของการป้องกัน ทางคณะกรรมการเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังการติดเชื้อในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ต่อเนื่อง ปรับปรุงแนวทางการตรวจหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยติดเชื้อ หรือในพื้นที่ที่มีการพบผู้ป่วย ระบบการตรวจคัดกรองเด็กในพื้นที่เสี่ยง และให้มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ขณะเดียวกันก็ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายและยุงตัวแก่ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ขอให้สวมเสื้อผ้ามิดชิด ทายากันยุง เพื่อป้องกันการถูกยุงกัด

          อย่างไรก็ตามกรณีทารกที่คลอดแล้วมีศีรษะเล็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซิฟิลิส หัดเยอรมัน เริม สารเคมี หรือการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์

          ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวยืนยันว่า ไทยไม่ได้ปกปิดข้อมูล และซิกาเป็นโรคที่พบในภูมิภาคเอเชียอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าใครจะมีการตรวจและมีการเปิดเผยข้อมูลมากน้อยแค่ไหน โดยในปี 2558 ได้ตรวจไปไม่ถึง 100 ราย พบผู้ป่วย 5 ราย ส่วนปี 2559 ตรวจไปมากกว่า 10,000 ราย ก็พบผู้ป่วยมากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมองรูปแบบของการระบาดแล้วเชื่อว่าไม่ได้แตกต่างจากเดิม และประเทศไม่ใช่พื้นที่การระบาด

ไวรัสซิก้า

          ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำให้สตรีมีครรภ์เลื่อนการเดินทางไปยัง 11 ประเทศ คือ บรูไน, เมียนมา, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, ฟิลิปปินส์, ไทย, ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสซิกา ที่แสดงให้เห็นถึงภาวะบกพร่องอย่างรุนแรงของทารกแรกเกิด

อัพเดทข่าว ไวรัสซิกา ทั้งหมด คลิกเลย

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, ,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยืนยัน ! ทารกศีรษะเล็ก 2 ราย ติดเชื้อไวรัสซิกา เคสแรกในไทย อัปเดตล่าสุด 3 ตุลาคม 2559 เวลา 14:17:53 4,616 อ่าน
TOP