x close

แพทย์ลั่น ใช้เข็มทิ่มนิ้วรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สุดมั่ว !!

ใช้เข็มทิ่มนิ้วรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สุดมั่ว

          แพทย์เตือน ใช้เข็มเจาะนิ้ว-ดึงปากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ชี้หากเริ่มมีอาการผิดปกติต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ยิ่งถึงมือแพทย์เร็วก็ยิ่งดี

          จากกรณีมีคลิปชายอ้างเป็นหมอนวดกดเส้น กำลังนวดกดเส้นให้ลูกค้าบริเวณลำคอ จนมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมายืนยันว่าเป็นการนวดที่อันตรายมาก อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงก้านสมองไม่เพียงพอ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมหมอนวดในคลิป พร้อมแจ้งข้อหาลักลอบเปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต [อ่านข่าว : รวบแล้ว ! หมอนวดในคลิปนวดกดเส้นล้างขยะสมอง พบไร้ใบอนุญาต สั่งปิดทันที]

          ล่าสุด (11 ตุลาคม 2559) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยังได้รับการร้องเรียนว่า พบกระแสการแชร์ข้อมูลที่อ้างว่า สามารถช่วยชีวิตคนป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยเมื่อผู้ป่วยปากเบี้ยวให้ดึงหู และให้นำเข็มแทงปลายนิ้วแล้วบีบให้เลือดไหล ซึ่งเป็นวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้องและอาจทำให้คนเข้าใจผิดได้

          โดย รศ. นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยว่า วิธีการข้างต้นเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องและไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการศึกษาใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่ารักษาคนไข้ได้จริง การเจาะเลือดปลายนิ้วนั้นไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้นไม่ว่ากับโรคใด ๆ ก็ตาม

          ทั้งนี้สำหรับโรคหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน จากภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเรื้อรัง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด ดังนั้นใครที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอาการของโรคอย่างสม่ำเสมอ โดยการรักษาจะมี 2 ส่วนคือ การพบแพทย์เพื่อให้มีการตรวจวัดความดัน และตรวจเลือดเพื่อที่จะดูภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น เช่น มีภาวะหัวใจโตหรือไตวายหรือไม่

ใช้เข็มทิ่มนิ้วรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สุดมั่ว

          โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาโดยการใช้ยาลดความดันควบคุมความดัน รวมทั้งการตรวจดูว่ามีโรคมอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงส่วนหนึ่งจะมีทั้งโรคไขมันในเลือดสูง หรือว่ามีภาวะเบาหวานร่วมด้วย

          และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กับการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะต้องรับประทานอาหารที่มีรสจืด กินผักให้มากขึ้น กินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง นอกจากนี้หากมีภาวะไขมันในเลือดสูงด้วย ก็ต้องควบคุมอาหารที่ทำให้มีไขมันในเลือดสูง เช่น อาหารมัน อาหารทอด หรืออาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลต่าง ๆ
          ทั้งนี้ รศ. นพ.สมศักดิ์ เผยว่า ยังมีประชาชนจำนวนมากที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แล้วยังมีความเข้าใจผิดว่าเมื่อไม่มีอาการปวดศีรษะ คือมีระดับความดันปกติ จริง ๆ คนที่เป็นความดันโลหิตสูงมากกว่า 95% จะไม่มีอาการใดบ่งบอก เว้นแต่จะมาพบแพทย์แล้วตรวจวัดความดัน หากความดันสูงก็จะต้องรักษาตามความรุนแรงของความดัน

          และหากผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง หรือว่ามีอายุมากขึ้น หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง หากพบความผิดปกติเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

          - มีอาการปวดศีรษะขึ้นมาอย่างรุนแรง
          - มีอาการตาพร่ามัวมองไม่เห็น
          - มีอาการปากเบี้ยว
          - หลับตาไม่สนิท
          - แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง หรือมีอาการมึนชาของร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
          - นึกคำพูดไม่ออก

ใช้เข็มทิ่มนิ้วรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สุดมั่ว

          เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูง เช่น เกิดปัญหาสมองขาดเลือด หรือเลือดออกในเนื้อสมองเนื่องจากเส้นเลือดสมองแตกจากภาวะความดันโลหิตสูง หากประวิงเวลาอาจทำให้เสียโอกาสนาทีทองในการรักษาโรคไป ถ้าเกินนาทีทองไปแล้วโอกาสที่เราจะกลับมาเป็นปกติยากมาก

          สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน ยังสามารถโทรศัพท์ไปที่เบอร์ 1669 เพื่อใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงใช้แอพพลิเคชั่น Fast Track หรือ  EMS1669 เรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วย เพื่อนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงที

          ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง จัดเป็นภัยซ่อนเร้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหลอดเลือดสมองแตกหรือตีบเฉียบพลัน จนส่งให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวาย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคความดันจะไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้

          โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาด้วยโรคดังกล่าวผ่านสายด่วน 1669  มากถึง 9,215 ราย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราต้องหมั่นตรวจวัดความดันอยู่สม่ำเสมอเพราะจะทำให้ช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก หากเราสามารถควบคุมความดันโลหิตให้ได้ถึงเกณฑ์ปกติตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยจะช่วยให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ด้วย

          สำหรับการวัดระดับความดันโลหิตจะมีการแสดงผลอยู่สองส่วนด้วยกัน คือ ค่าตัวบน และ ค่าตัวล่าง โดยความดันค่าตัวบนเราเรียกว่า ความดันช่วงหัวใจบีบตัว ส่วนค่าตัวล่างจะเป็นความดันช่วงหัวใจคลายตัว โดยความดันโลหิตที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ตัวบนต้องไม่เกิน 120 มม. ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท เรียกสั้น ๆ ว่า 120/80

          และความดันสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มม. ปรอท และตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม. ปรอท ดังนั้นประชาชนควรหมั่นตรวจวัดความดันของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ใช้เข็มทิ่มนิ้วรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สุดมั่ว

ภาพและข้อมูลจาก
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์ลั่น ใช้เข็มทิ่มนิ้วรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน สุดมั่ว !! อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2559 เวลา 00:47:13 4,705 อ่าน
TOP