x close

โรคกลัวทะเล เช็กอาการแล้วอาจคุ้น เหมือนกำลังเป็นอยู่ !

          หลายคนอาจรักทะเล อยากไปเที่ยวทะเลอยู่เนือง ๆ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นทะเลแล้วขยาด บางคนอาจไม่กล้ามองแม้แต่รูปภาพซะด้วยซ้ำ !

โรคกลัวทะเล

          เชื่อไหมคะว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ถ้ามีแพ็กเกจเที่ยวทะเลฟรี ๆ ก็สามารถเมินหนีได้หน้าตาเฉย หรือบางรายอาจแสดงอาการขนลุกขนพองแถมให้อีกต่างหากถ้าบังเอิญมีรูปภาพทะเลให้เขาเห็นด้วย นั่นเพราะเขามีอาการของโรคกลัวทะเลอยู่ยังไงล่ะคะ และหากคุณก็เป็นอีกคนที่ไม่กล้าลงเล่นทะเล หรือไม่กล้าแม้แต่จะเห็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหวใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระแสน้ำเลย รวมทั้งแม่น้ำลึก ๆ ด้วย ลองมาเช็กกันค่ะว่า โรคกลัวทะเลเป็นโรคที่เรากำลังป่วยอยู่หรือเปล่า

โรคกลัวทะเล (thalassophobia) คืออะไร

          ถ้าถอดจากรากศัพท์แล้วต้องอธิบายว่า thalassophobia เป็นภาษากรีก โดย thalasso หมายถึงทะเล ห้วงมหาสมุทร หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ส่วน phobia ก็คือความกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างผิดปกติ กลัวเกินเหตุ กลัวอย่างไม่มีเหตุผล ดังนั้นคำว่า thalassophobia จึงแปลว่าโรคกลัวทะเลนั่นเองค่ะ
       
          อย่างไรก็ตาม โรคกลัวทะเลจัดเป็นโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง คือมีความรู้สึกกลัวน้ำเค็ม กลัวคลื่นขนาดใหญ่ กลัวความลึกของน้ำที่เหมือนจะห่างไกลพื้นดิน หรือกลัวระยะห่างจากชายฝั่ง กลัวสิ่งที่ไม่มีรากฐานให้ยึดเกาะ และในบางเคสอาจรู้สึกกลัวความเวิ้งว้างที่ดูไร้ซึ่งขอบเขตของท้องทะเลหรือแม่น้ำที่กว้างใหญ่ หรือบางคนสามารถเห็นทะเลได้ แต่ถ้าให้ลงไปเล่นก็ไม่กล้า เพราะมีความกลัวโลกใต้ผืนน้ำที่ดูช่างลึกลับจับใจ

โรคกลัวทะเล

โรคกลัวทะเล มีสาเหตุมาจากอะไร

          โรคกลัวทะเลอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้

          - เกิดจากภาพอุบัติเหตุทางน้ำที่เห็นได้บ่อย ๆ ในภาพยนตร์ ข่าว และสารคดี โดยเฉพาะประเด็นสัตว์ใต้ท้องทะเลที่น่ากลัว มีพิษรุนแรง หรือเหตุเรือล่มที่น่าหดหู่ใจ เป็นต้น

          - เกิดจากประสบการณ์ฝังใจ โดยบางคนอาจเคยเกือบจมน้ำทะเล โดนคลื่นทะเลซัดความเค็มเข้าปากและจมูก เป็นต้น

          - เกิดจากคำสั่งสอนของผู้ปกครองในแนว ๆ ว่า อย่าเข้าใกล้ทะเล เดี๋ยวโดนคลื่นซัดหายไป อย่าลงเล่นน้ำ เดี๋ยวจมหาย เป็นต้น

          - เกิดจากความผิดปกติของยีน หรือความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจกระทบให้ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตหลั่งออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ขาดตรรกะในบางเรื่อง หรือส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกผิดแผกไปจากปกติได้

โรคกลัวทะเล
       
โรคกลัวทะเล อาการเป็นอย่างไร

          ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วใครคิดว่าลักษณะโรคกลัวทะเลดูคลับคล้ายคลับคลากับเรา เอาเป็นว่าลองมาเช็กอาการโรคกลัวทะเลให้ชัดกันไปข้างเลยดีกว่า

          1. ตัวสั่น เหงื่อแตก ใจเต้นไม่เป็นส่ำ เมื่อมองเห็นคลื่นทะเล หรือแม่น้ำที่มีความลึกและกว้างใหญ่

          2. หากได้ดูรูปภาพ สารคดี หรือภาพยนตร์ที่มีฉากการตายในทะเล ฉากเรือล่ม มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก หรือเห็นภาพข่าวเหตุการณ์สึนามิจะรู้สึกกลัวแทบหยุดหายใจ  ต้องรีบหันหน้าหนีจากภาพนั้น หรือในบางคนอาจมีอาการเห็นภาพหลอนเหล่านั้นให้อยู่ไม่เป็นสุขไปอีกสักระยะหนึ่ง

          3. ถ้าต้องล่องเรือ หรือลงไปสัมผัสน้ำทะเลจะมีอาการใจสั่น ตัวชา ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ และหากมีอาการกลัวมาก ๆ อาจถึงขั้นเป็นลมล้มพับ กรี๊ด วิ่งหนี หรืออาเจียนออกมา

          อย่างไรก็ตาม อาการของโรคกลัวทะเลในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีระดับความกลัวมาก-น้อยต่างกัน โดยบางคนสามารถเดินริมชายหาดได้ แต่ให้ไปเล่นน้ำก็ไม่เอาเด็ดขาด หรือระหว่างที่อยู่บนชายหาด ยืนอยู่ริมน้ำ หรือริมน้ำตก ก็มักจะจินตนาการว่าตัวเองจะตกลงไป ถูกกระแสน้ำพัดหายไป หรือมีอะไรบางอย่างใต้น้ำมาดึงให้เราจมดิ่งลงไปและไม่กลับขึ้นมาอีกเลย เรียกง่าย ๆ ว่าสมองสั่งให้หลอนตัวเองไปก่อน ทั้ง ๆ ที่เท้ายังไม่ได้แตะน้ำซะด้วยซ้ำ ซึ่งอาการแบบนี้จะบ่งชี้ว่าเป็นโรคกลัวทะเลหรือกลัวน้ำลึกก็ได้เหมือนกัน

โรคกลัวทะเล

โรคกลัวทะเล รักษาได้ไหม

วิธีรักษาโรคกลัวทะเลในแนวทางจิตวิทยาอาจทำได้ 2 วิธี ดังนี้

1. การสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy)

          เป็นการรักษาความกลัวด้วยการที่นักจิตวิทยาจะขุดรากถอนโคนถึงสาเหตุของความกลัวนั้น ๆ แล้วค่อย ๆ เคลียร์ต้นเหตุของความกลัวออกไปทีละอย่าง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็อาจช่วยลดความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยได้ หรืออาจบำบัดจนหายจากอาการกลัวทะเลไปเลยก็มี

2. การจัดพฤติกรรมของสมองและใต้จิตสำนึก (Neuro-linguistic programming therapy)

          หรือที่ในวงการจิตแพทย์เรียกกันว่าการรักษาแบบ NLP โดยจะค่อย ๆ ปรับความเข้าใจกับผู้ป่วยให้เขาหลุดออกจากโลกแห่งความกลัวที่สร้างขึ้นมาหลอนตัวเอง ซึ่งแม้วิธีนี้จะต้องใช้เวลาในการรักษา (ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ป่วย) แต่ก็เป็นวิธีรักษาโรคกลัวทะเลและโรคโฟเบียอื่น ๆ ที่ค่อนข้างได้ผลดีวิธีหนึ่ง

โรคกลัวทะเล

          โปรดจำไว้เสมอว่าเราจะหายจากอาการกลัวและความผิดปกติทุกชนิด ก็ต่อเมื่อเรายอมรับว่าเราป่วยจริงและยอมเข้ารับการรักษานะคะ ที่สำคัญต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าคนที่ป่วยโรคจิตเวชไม่ใช่คนบ้าแต่อย่างใด ดังนั้นอย่ากลัวการเข้าพบจิตแพทย์เลย



ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
fearof
common-phobias


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกลัวทะเล เช็กอาการแล้วอาจคุ้น เหมือนกำลังเป็นอยู่ ! อัปเดตล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 10:55:57 77,725 อ่าน
TOP