x close

คุณพร้อมหรือยัง ที่จะมีอายุเกิน 100 ปี


คุณพร้อมหรือยังที่จะมีอายุเกิน 100 ปี (กรุงเทพธุรกิจ)

         รายงาน CIA World Factbook ของสหรัฐปี 2553 ประเมินอายุเฉลี่ยของคนไทยไว้ที่ 72.55 ปี โดยเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 70.24 ปี เพศหญิงเฉลี่ย 74.98 ปี ผู้สูงอายุเหล่านี้จำนวนไม่น้อยสามารถดูแลตัวเอง และยังปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้ไม่ต่างคนวัยอื่น

         แต่ชีวิตที่ยืนยาว ยังมีต้นทุนที่ต้องจ่าย เพื่อแลกกับสุขภาวะของชีวิตปัจฉิมวัย สมบูรณ์ รวยโชค อดีตข้าราชการครูซี 7 วัย 56 ปี เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่แบกรับต้นทุนอายุยืน

         "เคยคิดว่า อาจจะตายเมื่ออายุ 50 ปี เพราะว่า มีโรคเยอะ สิงหาคมนี้ ก็จะครบ 56 ปีแล้ว ก็อย่างว่า คนไม่ถึงที่ตายก็ไม่ตาย" ครูเรือจ้างที่เลิกพายเรือก่อนวัยเกษียณ บอกด้วยน้ำเสียงครึกครื้นเหมือนไม่ยี่หระต่อสารพัดโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง พาร์กินสัน และเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด

         ครูสมบูรณ์ได้รับบำนาญเดือนละ 19,000 บาท  ดูแล้วน่าจะเพียงพอกับการดำเนินชีวิตตามประสาคนโสด ไม่ต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูใคร แค่จ่ายค่าคอนโด ค่ากินอยู่แต่ละมื้อตามปกติ

         แต่ถ้าเป็นคนสามัญที่ไม่มีบำนาญและเงินเก็บ เขาอาจตายไปแล้วหลายปี เพราะแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ตกร่วม 26,000 บาท ไม่รวมค่ารถไปหาหมอแต่ละครั้ง

         "เป็นคนอื่นตายล่วงหน้าแล้วแหละ พอรู้ว่าเป็นโรคเยอะขนาดนี้ก็ตายแล้ว...  ยิ่งถ้ารู้ค่ายาคงแทบอยากฆ่าตัวตายไปเลย โชคดีที่ผมใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ายาได้" ลุงสมบูรณ์ เปลี่ยนน้ำเสียงขรึมขึ้นทันที

         แต่ละวัน เขาต้องกินยาสารพัด เริ่มต้นจากยาเบาหวาน มียา 3 ตัวหลักๆ ได้แก่ ยา ACTOS  กิน 1 เม็ด หลังอาหารเช้า ตัวที่สอง Clucophang กินหลังอาหาร เช้า กลางวัน และ เย็น ครั้งละ 1 เม็ด และ ตัวที่สาม Minidiab กินก่อนอาหารเช้า 2 เม็ด ก่อนอาหารเย็น 2 เม็ด 

         ตามด้วยยาลดความดัน ที่มีชื่อว่า Diovan ที่ต้องกินตอนเช้า วันละ 1 เม็ด ขณะที่ยาลดไขมัน มี 2 ตัว ด้วยกันโดยตัวแรกชื่อ Supralip กินหลังอาหารเช้า 1 เม็ด ส่วนตัวที่สอง Zimex กินหลังอาหารเย็น วันละ 1 เม็ด แต่ยา 2 ตัวนี้ห้ามกินพร้อมกัน เพราะทำให้ไตวายได้ เขาจึงต้องระวังเป็นพิเศษ  
 

         ยังมียารักษาโรคพาร์กินสัน ทั้งหมด 5 รายการ ตัวแรกยา คือ Stalevo ต้องกินทุกวัน เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า 11 โมงเช้า 4 โมงเย็น และ 2 ทุ่ม ตัวที่สอง Sifrol กินเวลาเดียวกันกับตัวแรกแต่กินครั้งละเศษ 3 ส่วน 4 เม็ด ตัวที่สาม  Molax - M กิน 4 เวลา ครั้งละ 1 เม็ด ก่อนอาหารตัวที่สี่ Prenarpil ให้กินเวลาฝันร้ายวันละ 1 ครั้งก่อนนอน  ตัวสุดท้ายตัวที่ห้า Madopar กินก่อนนอนวันละเม็ด

         "เป็นช่องมาจัดยาไว้เพื่อให้ไม่กินซ้ำ แต่ไม่รู้เหมือนกัน ว่ายังกินผิดอยู่หรือเปล่า บางครั้งมันเบลอ" เสียงลุงสมบูรณ์เริ่มเนือยลง เหมือนจะหมดแรงระหว่างเล่า

         อดีตครูวิทยาศาสตร์ รวบรวมพลังอธิบายต่อไปว่า เหตุที่เขาต้องกินยาหลายขนาน เพราะยาบางชนิด เมื่อใช้ร่วมกันอาจเกิดอันตรายได้ หรืออาจทำให้ผลการรักษาลดลง แต่บางชนิดใช้ด้วยกันแล้วทำให้ผลการรักษาดีขึ้น การใช้ยาร่วมกันเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ว่ายาแต่ละชนิดมีผลกระทบกันหรือไม่

         เขายกตัวอย่าง ยา  Molax -M มีคุณสมบัติช่วยให้ดูดซึม Stalevo และ Sifrol รวมทั้งแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน จากการแพ้ Sifrol ส่วนอาการฝันร้ายที่มีผลจาก Sifrol เลยต้องกินยา Prenarpil   

         เช่นเดียวกับ สมถวิล โคกสูงเนิน อดีตข้าราชการกระทรวงยุติธรรม วัย 67 ปี ที่แต่ละวันต้องมีกินยารักษาโรคหัวใจ กระดูกพรุน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
 

         "ตื่นมาแปรงฟันล้างหน้าเสร็จ กินแคลเซียมละลายน้ำ 1 ซอง ก่อนทานข้าวหลังทานข้าวเสร็จ กินยาความดัน 1 เม็ด ยา Herbesser ครึ่งเม็ด  Plavix 1 เม็ด  กลางวันกินยาหลังอาหาร แคลเซียม 1 เม็ด ยา Herbesser ครึ่งเม็ด ตกเย็นกินยา Zocor ลดไขมัน ครึ่งเม็ด Herbesser ครึ่งเม็ด และ วิตามินบี 3 อีก 1 เม็ด  แต่ถ้าเกิดปวดจะต้องกินยา Ultracet แก้ปวด"

         ยังไม่หมด คุณยายต้องกิน Fosamax เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนสัปดาห์ละครั้ง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมง ระหว่างนั้น ต้องนั่งอยู่เฉยๆ เพราะจะมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้   

         "ทุกครั้งที่หาหมอไปรับยาเหมือนไปชอปปิ้ง เคยลองคำนวณค่ายา ต่อเดือนตก 10,000  บาท  มีรายได้จากบำนาญเดือนละ 14,000  บาท ถ้าเป็นพนักงานบริษัทแย่ไปแล้ว เพราะเบิกไม่ได้ก็เคยคิดว่า เรายังโชคดีนะ ที่มียากิน แต่ก็ไม่ได้อยากกินเลย"

         ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา อธิบายถึง ปัญหาดังกล่าวว่า มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องกินยาตลอดชีวิต เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท  แถมบางโรคมียาหลายขนาน

         ยาแต่ละตัวมีฤทธิ์เสริมกัน การได้รับยาที่มากกว่า 1 ขนาน อาจเกิดปัญหา "ยาตีกัน" (อันตรกิริยาของยา) บางครั้งการให้รับประทานก่อนหรือหลังอาหารแยกจากกัน ก็มีจุดมุ่งหมายป้องกันไม่ให้ยาตีกัน

         ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรที่จะรับประทานให้ถูกต้อง เพื่อผลการรักษาที่ดีและลดอาการอันไม่พึงประสงค์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ยาลดไขมัน Supralip กับ Zimex ห้ามกินพร้อมกัน เพราะทำให้ไตวายได้ แพทย์จึงให้กินยาคนละช่วงเวลา  

         ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการยาแนะนำว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ควรใส่ใจกับการดูแลตนเองเป็นพิเศษ เพราะกินยาจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องที่ดี และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องกิน อย่างคนที่เป็นเบาหวาน ไม่อย่างนั้นอาจตาบอด ไตวาย เป็นแผลเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูงได้     

        "วิธีที่ดีที่สุด คือ การออกกำลังกาย ดูแลเรื่องอาหารการกิน ก่อนจะกินอะไรเข้าไปจดจำไว้เสมอว่ากินอะไรก็ได้อย่างนั้น"

เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 
 
 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณพร้อมหรือยัง ที่จะมีอายุเกิน 100 ปี อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2556 เวลา 20:14:25 1,657 อ่าน
TOP