x close

10 วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงน้ำท่วม

วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงนํ้าท่วม
ภาพจาก think4photop / Shutterstock.com

          สถานการณ์น้ำท่วมจะเรียกว่าเป็นปัญหาระดับชาติก็ไม่ผิดนัก เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายในวงกว้างแล้ว ภาวะน้ำท่วมยังพาเอาจิตใจของผู้ประสบภัยเหี่ยวเฉาตามไปด้วย

          ช่วงนี้น้ำท่วมภาคใต้ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใช้ชีวิตอย่างลำบาก จนอาจนำมาซึ่งภาวะเครียด เศร้าซึม และบางคนอาจกำลังมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงขอแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจผู้ประสบภัยช่วงน้ำท่วม ซึ่งมีหลักและวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

          ไม่มีอะไรดีไปกว่าการยอมรับความเป็นจริง พยายามทำความเข้าใจว่าทุกสิ่งได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่แค่เกิดกับเราเท่านั้น แต่เรายังมีผู้ร่วมชะตากรรมอีกนับไม่ถ้วน ซึ่ง ณ จุดนี้เราเข้าใจค่ะว่าอาจต้องใช้เวลานานสักหน่อยที่จะยอมรับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทว่าให้เวลาตัวเองรู้สึกท้อแค่เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้นก็พอ อย่าลืมว่าชีวิตยังมีพรุ่งนี้เสมอ และเราต้องเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งที่สุด

วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงนํ้าท่วม
ภาพจาก aphichato / Shutterstock.com

2. ตั้งสติ จัดลำดับความสำคัญของชีวิต

          พยายามนั่งพักให้จิตใจสงบนิ่ง แล้วรวบรวมสติมองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง จากนั้นจึงจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ การกิน การนอน เรื่องการขับถ่าย รวมทั้งการป้องกันโรคและสัตว์มีพิษ เป็นต้น

3. หมั่นพูดคุยกับคนรอบข้าง

          การได้พูดคุยกับคนรอบข้างก็เป็นการระบายความรู้สึกที่อัดแน่นในใจเราออกไปได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไปด้วยนะคะ หนำซ้ำยังอาจเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะยิ่งเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านที่สนิทชิดเชื้อ ก็อย่าลืมถามไถ่ทักทายกันบ่อย ๆ

4. พยายามเข้าใจคนรอบข้างด้วย

          ในสถานการณ์วิกฤตอย่างที่เป็นอยู่ บางคนอาจเครียดจนมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิม หรือเด็ก ๆ อาจสติแตกด้วยความหวาดกลัวกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งหากคนรอบข้างของเราเป็น ก็อย่ามีอารมณ์ร่วมตามไปด้วยเลยดีกว่า แต่ขอให้พยายามทำความเข้าใจและให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ทับถม ไม่ทำร้ายกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปอีก

วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงนํ้าท่วม
ภาพจาก aphichato / Shutterstock.com

5. ลองเป็นอาสาสมัครดูบ้าง

          กรมสุขภาพจิตแนะนำว่า วิธีลดความกังวลในจิตใจที่ดีและน่าลองอีกวิธีหนึ่ง ก็คือการเป็นจิตอาสาหรือทำสิ่งที่ช่วยเหลือผู้อื่นดูบ้าง เพราะจะทำให้เราเห็นปัญหาของหลาย ๆ คน ส่งผลให้เราตระหนักได้ว่าไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่เจออะไรหนัก ๆ แต่ยังมีคนอื่นอีกมกที่ร่วมลำบากไปกับเราด้วย ที่สำคัญการได้ช่วยเหลือผู้อื่นยังเป็นการส่งกำลังใจถึงกันและกันที่ดีอีกวิธีหนึ่งเลยล่ะ

6. ทำสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ

          ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านเหลือเกิน แนะนำให้สวดมนต์ไหว้พระหรือทำสมาธิก่อนนอนทุกวัน ซึ่งจะช่วยให้เรามีสติและสงบจิตสงบใจลงได้ไม่มากก็น้อย

7. หายใจคลายเครียด

          ถ้าหากรู้สึกเครียดมาก ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตดี ลองอยู่นิ่ง ๆ สักพักค่ะ แล้วหายใจเข้า-ออกช้า ๆ นาน 2-3 นาที เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่สมอง ส่งผลให้ความเครียดลดลง หรือลองทำตาม 9 วิธีนี้ก็ได้

          - 9 วิธีคลายเครียด จัดไปให้หายกังวลใน 10 นาที

8. ยืดเหยียด บิดขี้เกียจ

          ในช่วงที่เผลอจมอยู่กับปัญหา ร่างกายเราอาจไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวตามปกติก็เป็นได้ ดังนั้นลองลุกขึ้นยืนแล้วบิดขี้เกียจเพื่อคลายเส้นกันค่ะ เชื่อไหมว่าแค่ทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ก็ช่วยไล่ความเหนื่อยล้าที่เราแบกอยู่บนบ่าได้อย่างมหาศาลแล้ว

 วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงนํ้าท่วม

9. ดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างดี

          การดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากร่างกายเราป่วย ความอ่อนแอก็อาจจะเล่นงานเราได้ง่าย ดังนั้นอย่าลืมพักผ่อนและกินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เรามีแรงลุกขึ้นสู้ในวันต่อไปนะคะ

10. ปรึกษาจิตแพทย์

          ในกรณีที่มีความทุกข์หนักหนาสาหัสมาก แนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์โดยทันที หรือหากสังเกตเห็นว่าคนรอบข้างมีอาการหนัก ก็ต้องรีบขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน 

          อย่างไรก็ตาม เราขอส่งกำลังใจให้ผู้ประสบภัยทุกท่านผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตในเร็ววัน และขอให้ความเข้มแข็งจงสถิตอยู่ในจิตใจของทุกคนด้วยนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, กรมสุขภาพจิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 วิธีดูแลจิตใจผู้ประสบภัยช่วงน้ำท่วม อัปเดตล่าสุด 13 มกราคม 2560 เวลา 17:27:14 4,862 อ่าน
TOP