x close

เถาวัลย์เปรียง…สรรพคุณเลอค่า สมุนไพรช่วยบอกลาอาการปวด

          เถาวัลย์เปรียง...สมุนไพรที่ชื่ออาจไม่ค่อยคุ้นหูสำหรับคนรุ่นใหม่  แต่ความจริงคนโบราณรู้จักนำเอาเถาวัลย์เปรียงมาใช้ประโยชน์ในทางยามานานแล้ว

เถาวัลย์เปรียง

          ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด…ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน   กลอนของท่านสุนทรภู่บทนี้สอนว่าจิตใจมนุษย์นั้นไซร้ยากแท้หยั่งถึง แต่สำหรับพืชไม้เลื้อยอย่างเถาวัลย์เปรียงนั้นกลับได้รับการเชื่อถือและยอมรับในวงการแพทย์พื้นบ้านและแผนปัจจุบันด้วยสรรพคุณชั้นยอดในการแก้อาการปวดเมื่อย และรักษาโรคอื่น ๆ ของมัน

          วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนไปรู้จักสมุนไพรชนิดนี้ให้มากขึ้น แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จักสรรพคุณต่าง ๆ ของเถาวัลย์เปรียง วิธีใช้ ข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ เรามาทำความรู้จักข้อมูลเบื้องต้นของเถาวัลย์เปรียงกันก่อนดีกว่า

เถาวัลย์เปรียง…หลากชื่อเรียก

          เถาวัลย์เปรียง หรือชื่อภาษาอังกฤษเพราะ ๆ ว่า Jewel Vine  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Derris scandens (Roxb.) Benth. อยู่ในวงศ์ถั่ว  FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE เป็นสมุนไพรที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย จึงมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  ภาคกลางเรียกเถาวัลย์เปรียงแดง หรือ เถาวัลย์เปรียงขาว ตามสีของเนื้อไม้ ภาคเหนือเรียกเครือเขาหนัง หรือ เครือค้องแกบ ภาคอีสานเรียกเครือตับปลา หรือ เครือตาปลา ภาคใต้เรียกย่านเหมาะ หรือ ย่านเมราะ
 
เถาวัลย์เปรียง
       
เถาวัลย์เปรียง หน้าตาเป็นยังไงนะ ?

          เถาวัลย์เปรียง เป็นพรรณไม้เถา ชอบเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปไข่ เป็นมันสีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อสีขาว กลีบรองดอกเป็นสีม่วงดำ ตรงปลายกลีบดอกนั้นจะเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ ผลเป็นฝักแบนเล็ก ๆ ภายในจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-4 เมล็ด
 
เถาวัลย์เปรียง สรรพคุณเด่นจนต้องรู้ !
 
1. แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

          ในตำรับยาพื้นบ้าน มีการนำเถาของเถาวัลย์เปรียงมาคั่วชงน้ำ แล้วดื่มกินแก้ปวดเมื่อย ส่วนตำรับยาแผนปัจจุบัน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ร่วมกันวิจัยทางคลินิกเพื่อศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของสารสกัดเถาวัลย์เปรียงในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง จำนวน 70 ราย แล้วพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเถาวัลย์เปรียงชนิดแคปซูลขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน มีอาการปวดหลังลดลงไม่ต่างจากกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ขนาด 25 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลาเท่ากัน

2. พิชิตโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม

          เถาวัลย์เปรียงนับเป็นสมุนไพรที่ช่วยแก้ปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้ดีทีเดียว ดังที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยร่วมวิจัยกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แล้วพบว่า ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ได้รับยานาโปรเซน ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์ มีประสิทธิผลในการรักษาและความปลอดภัยไม่แตกต่างจากผู้ที่รับยาสารสกัดเถาวัลย์เปรียง ขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 4 สัปดาห์

3. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

          ตามตำรับยาแผนโบราณ เถาวัลย์เปรียงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะเพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และมีงานวิจัยจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยเช่นกันค่ะ โดยให้อาสาสมัครสุขภาพดี 59 คน กินแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียงวันละ 400 มิลลิกรัม เช้า-เย็น เป็นเวลา 2 เดือน ก็พบว่าสารสกัดเถาวัลย์เปรียงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ กับร่างกาย แถมยังมีส่วนช่วยควบคุมหรือเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้จริง ๆ

4. รักษาอาการตกขาว

          สรรพคุณของเถาวัลย์เปรียงยังดีต่อสุขภาพผู้หญิงเช่นกัน เพราะช่วยรักษาอาการตกขาวชนิดที่ไม่มีอาการคัน ไม่มีกลิ่น และไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียวได้ด้วยค่ะ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว วิธีใช้ก็คือ นำเถาวัลย์เปรียงสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มดื่มต่างน้ำ หรือดื่มวันละ 3 เวลา

ตกขาว

5. ขับโลหิตเสีย-ช่วยให้มดลูกเข้าอู่

          อีกหนึ่งสรรพคุณที่พืชชนิดนี้มีดีต่อผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรก็คือ มีฤทธิ์ช่วยขับโลหิตเสียของผู้หญิง โดยการนำเถาวัลย์เปรียงทั้งห้าแบบสด ๆ นำมาต้มกับน้ำแล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ดื่มต่างน้ำ นอกจากนี้เถาวัลย์เปรียงยังช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น โดยการนำเถาสดมาทุบให้ยุ่ย แล้ววางทาบบนหน้าท้องคุณแม่หลังคลอด จากนั้นนำหม้อเกลือที่ร้อนมานาบลงบนเถาวัลย์เปรียง

          นอกจากสรรพคุณอย่างที่บอกไปข้างต้นแล้ว เถาวัลย์เปรียงยังมีประโยชน์อีกมากมายตามตำรายาพื้นบ้าน เช่น

          - เถา  มีรสเฝื่อนเล็กน้อย คนโบราณนิยมใช้เป็นยาถ่ายเสมหะ ลงสู่ทวารหนัก ถ่ายเส้นทำให้เส้นอ่อนและหย่อนดี รักษาเส้นเอ็นขอด แก้เมื่อย แก้เหน็บชา รักษาปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด ไอ และหวัด บางตำราว่าส่วนเถามีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลังได้ด้วย วิธีใช้คือนำเถามาหั่นตาก แล้วคั่วไฟให้หอม ชงน้ำกินแทนน้ำชา 

          - ราก มีรสเฝื่อนเมา ตามตำรับยาไทยใช้เป็นยารักษาอาการไข้ และขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย มีสารพวก Flavonol ที่มีชื่อว่า สคาเดอนิน และนันลานิน ใช้เป็นยาเบื่อปลาได้ แต่ไม่มีคุณสมบัติฆ่าแมลง

          - ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนของเถาวัลย์เปรียง มีรสมัน ๆ นำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกได้

เถาวัลย์เปรียง
แคปซูลเถาวัลย์เปรียง….การต่อยอดจากภูมิปัญญาไทย

          การนำเถาวัลย์เปรียงแบบสด ๆ มาใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ อาจยุ่งยากไปสักหน่อย ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงพัฒนาเถาวัลย์เปรียงให้อยู่ในรูปแบบแคปซูลเพื่อใช้ในโรงพยาบาล และได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มี 2 ตัวคือ

          1. ยาเถาวัลย์เปรียง สกัดมาจากส่วนเถา ใช้บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ  โดยกินครั้งละ 500  มิลลิกรัม-1 กรัม วันละ 3 ครั้งหลังอาหารทันที

          2. ยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง ที่สกัดมาจากส่วนเถา 50 เปอร์เซ็นต์ของเอทิลแอลกอฮอล์ ใช้บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) และอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) โดยกินครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังอาหารทันที
        
เถาวัลย์เปรียง ใช้แล้วมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?

          เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในการใช้ เถาวัลย์เปรียงก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน

          1. ผลข้างเคียงของการใช้ยาเถาวัลย์เปรียง คือ ทำให้ผู้ใช้มีอาการปวดท้อง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง ใจสั่น อาจมีอาการผิวหนังอักเสบ หรือเป็นผื่นจากการแพ้

          2. ผลข้างเคียงของการใช้ยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง คือ ทำให้ผู้ใช้มีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และอุจจาระเหลว
   
เถาวัลย์เปรียง

โทษของเถาวัลย์เปรียงมีไหม มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ?

          แม้ว่าเถาวัลย์เปรียงจะมีสรรพคุณโดดเด่นในการรักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ก็มีข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้กับบุคคลบางกลุ่มดังนี้

          1. ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์

          2.  ควรระวังในการใช้ในผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก สำหรับยาเถาวัลย์เปรียง ที่ใช้บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียงที่ใช้บรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาการปวดจากข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากเถาวัลย์เปรียงออกฤทธิ์คล้ายยาแก้ปวด กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) อาจทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารได้

          3. เถาวัลย์เปรียงมีสารที่มีฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเพศหญิง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

          4. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคความดันโลหิต ไม่ควรรับประทาน เพราะยังไม่มีผลการศึกษาแน่ชัดว่า เถาวัลย์เปรียงอาจมีผลไปยับยั้งหรือเสริมฤทธิ์ของยาได้
        
เถาวัลย์เปรียงในผลิตภัณฑ์สุขภาพ                                                    

          ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรเถาวัลย์เปรียงออกมาให้เราได้เลือกซื้อกันอย่างหลากหลาย เช่น เถาวัลย์เปรียงชิ้นตากแห้ง แคปซูล เถาวัลย์เปรียงผสมโสม ฯลฯ นับเป็นโชคดีของเราที่มีทางเลือกในการรักษาอาการปวดเมื่อยและบำรุงสุขภาพเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพายาที่เป็นสารเคมีล้วน ๆ แต่เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หากใครมีโรคประจำตัว หรือต้องทานยาแผนปัจจุบันอะไรอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาสมุนไพรเพื่อความปลอดภัยด้วยนะคะ

    
ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

- มหาวิทยาลัยมหิดล
- อภัยภูเบศร
- สำนักยา
- วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เถาวัลย์เปรียง…สรรพคุณเลอค่า สมุนไพรช่วยบอกลาอาการปวด อัปเดตล่าสุด 28 พฤษภาคม 2562 เวลา 16:41:38 205,517 อ่าน
TOP