x close

ไทยเข้าไม่ถึงเครื่องมือแพทย์ คนจนไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจไฮเทค




ไทยเข้าไม่ถึงเครื่องมือแพทย์ WHOชี้คนจนไม่มีปัญญาจ่ายค่าตรวจไฮเทค (ไทยโพสต์)

            องค์การอนามัยโลก จี้ทุกประเทศร่วมแก้ปัญหาการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ หลังพบช่องว่างการเข้าถึง แม้แต่เข็มฉีดยาที่ปลอดภัย เผยผลสำรวจพบประเทศยากจนมีเครื่องแมมโมแกรม 1 ต่อ 5.7 ล้านคน ขณะที่ประเทศร่ำรวย 1 ต่อ 4.7 หมื่นคน เหตุราคาแพงลิบ แถมภาคอุตสาหกรรมเน้นผลิตเครื่องมือเทคโนโลยีสูงรักษาแต่คนรวย ขณะที่ นักวิชาการสาธารณสุขชี้ ไทยมีเครื่องเพ็ทซีทีสแกน 5 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 800 ล้านบาท แต่ใช้ไม่คุ้มค่า แถมยังมีการเสนอขอซื้อเพิ่ม

            นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติ เรื่อง "เครื่องมือแพทย์ ครั้งที่ 1" ร่วมกับ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เป็นการประชุมครั้งแรกในโลก โดยประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์การอนามัยโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ การวิจัย และพัฒนาเครื่องมือแพทย์ การใช้เครื่องมือแพทย์อย่างเหมาะสม รวมทั้งการกระจายเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็นช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน ทั้งจากนักวิชาการ แพทย์ ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และตัวแทนผู้ป่วยเข้าร่วมจาก 190 ประเทศเข้าร่วม

            ด้าน พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์และใช้อย่างเหมาะสมนั้น ราคาถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่มักผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพงมาก

            ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจขององค์การอนามัยโลกล่าสุดพบว่า ในการจัดหาเครื่องแมมโมแกรมในการตรวจหามะเร็งเต้านม มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน โดยประเทศที่ร่ำรวยมีเครื่องแมมโมแกรม 1 เครื่อง ต่อประชากร 47,000 คน ส่วนประเทศยากจนอยู่ในอัตรา 1 เครื่อง ต่อประชากร 5.7 ล้านคน ขณะที่เครื่องซีทีสแกน ประเทศร่ำรวยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1 เครื่อง ต่อประชากร 1.7 แสนคน ขณะที่ประเทศยากจนอยู่ที่อัตรา 1 เครื่อง ต่อประชากร 3.8 ล้านคน

            นอกจากนี้ในประเทศยากจนยังพบว่าแม้เข็มฉีดยาซึ่งถือเป็นเครื่องมือแพทย์ราคาถูกก็ยังมีความขาดแคลน ทำให้มีอัตราการใช้เข็มที่ไม่ปลอดภัยสูงถึง 40% อีกทั้งการสำรวจยังพบว่า ในประเทศกำลังพัฒนากว่า 30 ประเทศ ไม่มีเครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง

            พญ.มากาเร็ต ชาน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในหลายประเทศมีการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ที่เกินความจำเป็น ไม่เหมาะกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ถือเป็นการใช้เครื่องมือแพทย์อย่างไม่เหมาะสมและไม่เต็มประสิทธิภาพที่มี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ ส่วนหนึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งผลิตเครื่องมือแพทย์ราคาแพง ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เน้นกลุ่มโรคที่สามารถทำกำไรในกับประชากรที่มีฐานะร่ำรวยได้ โดยการนำเข้าเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ของประเทศกำลังพัฒนาพบว่า 70% กลับไม่สามารถตอบสนองได้ เนื่องจากไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จะใช้เครื่องมือแพทย์ และระบบการดูแล ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่เราต้องช่วยกัน

            ดร.นพ.ยศ ตรีวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการกระจายเครื่องมือแพทย์ โดยเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองเท่านั้น และบางอย่างยังมีการสั่งซื้อนำเข้ามาเกินความจำเป็น อย่างเครื่องเพ็ทซีทีสแกนมูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตรวจหามะเร็ง หัวใจ และโรคทางสมอง ซึ่งประเทศไทยมีถึง 5 เครื่อง

            โดยเครื่องเพ็ทซีทีสแกนดังกล่าว อยู่ใน กทม.ทั้งหมด เป็นของโรงพยาบาลรัฐ 3 เครื่อง โรงพยาบาลเอกชน 2 เครื่อง ซึ่งทุกวันนี้ยังใช้งานไม่คุ้มค่า เพราะค่าบริการอยู่ที่ 50,000-60,000 บาท ทำให้คนเข้าไม่ถึง ทั้งๆ ที่หากบริหารจัดการให้ดีจะยังสามารถรองรับดูแลผู้ป่วยได้อีก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากลับมีการเสนอขอสั่งซื้อเพิ่มเพื่อมาไว้ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีบางเครื่องมือแพทย์ที่มากเกินความจำเป็น เช่น เครื่องซีทีสแกน ที่พบว่าเฉพาะโรงพยาบาลใน กทม. มีเครื่องมือชนิดนี้มากกว่าอังกฤษทั้งเกาะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยเข้าไม่ถึงเครื่องมือแพทย์ คนจนไม่มีเงินจ่ายค่าตรวจไฮเทค อัปเดตล่าสุด 10 กันยายน 2553 เวลา 16:31:05
TOP