x close

คำแนะนำของ WHO ต่อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009

ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด2009


คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ระยะหลังการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ (H1N1)2009 (post-pandemic period) (WHO)

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่

           ในปัจจุบัน ทั่วโลกได้เข้าสู่ภาวะหลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ด้วยข้อมูลความรู้ที่มีอยู่จากการระบาดใหญ่ในอดีต ทำให้คาดการณ์ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ (H1N1) 2009 จะยังคงมีการแพร่กระจายอย่างทั่วไปเช่นเดียวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงหลายปีข้างหน้า

           ถึงแม้ว่าความตระหนักของประชาชนได้ลดลงเป็นอย่างมาก แต่การเฝ้าระวังโรคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ยังคงมีความสำคัญ เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังไวรัสในระยะหลังการระบาดใหม่ ๆ ก็ยังคงเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ เช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

           ตัวอย่างเช่น ไวรัสยังคงมีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็ก อย่างน้อยในช่วงหลังการระบาดใหญ่เพิ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวจะลดน้อยลง แต่กลุ่มเด็กยังคงถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุดต่อการเกิดอาการของโรครุนแรง และนอกจากนี้ ประชากรจำนวนไม่มากกลุ่มหนึ่งติดเชื้อ เกิดอาการปอดบวมจากการติดเชื้อไวรัสในระยะแรก ซึ่งมักไม่พบในไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และยากต่อการรักษา ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์รูปแบบของการระบาดในช่วงหลังการระบาดของโรค  ทำให้ต้องมีการเน้นย้ำเรื่องการเฝ้าระวังโรคต่อไป

           องค์การอนามัยโลก ได้ออกคำแนะนำข้อควรปฏิบัติในระยะหลังระบาดของโรค รวมถึงการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา และการติดตามทางไวรัสวิทยา การฉีดวัคซีน และการดูแลรักษาพยาบาล

           เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ยังคงต้องระมัดระวังการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 ในพื้นที่ซึ่งจะยังเกิดขึ้นต่อไป และในบางพื้นที่การระบาดอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อชุมชน

คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในระยะหลังการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

การเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจ

           เฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ผิดปกติ  เช่น กลุ่มก้อนของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิตด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ

           สอบสวนโรคกรณีที่พบผู้ป่วยรุนแรง หรือมีความผิดปกติ, การระบาดเป็นกลุ่มก้อน ที่อาจพบการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านระบาดวิทยา หรือทางด้านความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่

           จัดระบบการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเฝ้าระวังกลุ่มผู้มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มผู้ติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง

           จัดช่องทางในการจัดส่งข้อมูล ไปยังหน่วยงานเฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจ เช่น FluID, FluNet และ EUROFlu เพื่อการรวบรวมข้อมูลโรค

           แจ้งองค์การอนามัยโรคทันที รวมทั้งการรายงานภายใต้ระบบกฎอนามัยระหว่างประเทศ หากตรวจพบ กรณีดังต่อไปนี้
 
                      1. การแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ดื้อยา

                      2. การติดเชื้อในคนด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวอื่น ที่ไม่ได้มีการระบาดในคน

                      3. การเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติ ของไวรัส H1N1 2009 ในด้านความรุนแรงหรือ    ลักษณะทางระบาดวิทยา และด้านคลินิกอื่น ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในการแพร่กระจาย ในกลุ่มอายุ ลักษณะทางคลินิก สัดส่วนของผู้ป่วยหนักใน ICU การเพิ่มขึ้นที่คาดไม่ถึงของจำนวนผู้ป่วย

           การตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่สำคัญของไวรัส (H1N1) 2009 เช่น แอนติเจน หรือความไวต่อยาต้านไวรัส

การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

           การฉีดวัคซีน ยังเป็นสิ่งสำคัญในการลดการเจ็บป่วย และการตายที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงสูงในประเทศที่มีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่

           ไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดในปี 2009 และยังคงแพร่กระจายในบางส่วนของโลกมีความรุนแรงในการระบาดหลายระดับแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในหลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลชนิดวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ (trivalent) ที่ตัววัคซีนดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 แล้วด้วย

           แต่อย่างไรก็ตามในบางประเทศที่ยังไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใช้ องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำว่า สามารถใช้วัคซีน H1N1 ชนิดวัคซีนสายพันธุ์เดี่ยว (monovalent) ก็ได้ ในการลดความเสี่ยงจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ชนิดวัคซีนรวม 3 สายพันธุ์ (trivalent)

           การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ H1N1 ชนิด monovalent ควรให้ตามแนวทางของหน่วยงานผู้ควบคุมกำกับดูแลวัคซีนภายในประเทศ ในการนี้องค์การอนามัยโลกจะได้ทำการปรึกษาคณะผู้เชี่ยวชาญต่อไป

การดูแลรักษาพยาบาล

           ผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้หวัดใหญ่  ควรได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม ตามแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ขององค์การอนามัยโลก

           คาดการณ์ว่าเชื้อไวรัส H1N1 2009 จะยังคงเกิดการระบาดคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในช่วงหลายปีที่จะถึงนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงสูง รวมทั้งกลุ่มคนสุขภาพดีก็อาจพบได้มาก การวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว เพื่อการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาอย่างรวดเร็วและการรักษาที่เหมาะสมในกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้จึงมีความสำคัญ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เสนอคำแนะนำสำหรับการใช้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและโรคไข้หวัดใหญ่ 2009

           กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ (H1N1) 2009 คือ กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางระบบหายใจและระบบอื่น ๆ เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน เป็นต้น ผู้ป่วยดังกล่าวที่มีอาการไข้หวัดใหญ่รุนแรงหรือทรุดลง ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ด้วยยาต้านไวรัส (oseltamivir) ผู้ป่วยที่ความเสี่ยงที่จะเกิดการป่วยรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่ด้วยแล้ว ควรได้รับการรักษาด้วย oseltamivir หรือ zanamivir โดยเร็วที่สุดเช่นกัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำแนะนำของ WHO ต่อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อัปเดตล่าสุด 16 กันยายน 2553 เวลา 16:53:21
TOP