x close

หน่อไม้ฝรั่ง สรรพคุณเหลือล้ำ ขอย้ำว่าต้องกิน !


          หน่อไม้ฝรั่ง หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Asparagus ผักกรุบกรอบชนิดนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง ทั้งช่วยบรรเทาอาการไม่สบาย และช่วยบำรุงดูแลสุขภาพก็ได้ เจ๋งไม่เบาเลย

          ผักที่มีความกรุบกรอบอย่างหน่อไม้ฝรั่งก็มีดีไม่แพ้ใคร และหากใครยังไม่มั่นใจว่าเรารู้จักสรรพคุณของหน่อไม้ฝรั่งครบหรือยัง กระปุกดอทคอมจะขออาสาทำหน้าที่นำเสนอประโยชน์ของหน่อไม้ฝรั่งให้ทุกคนได้รู้ซึ้งในวันนี้ แล้วจะรู้เลยว่า หน่อไม้ฝรั่งก็มีดีต่อสุขภาพของเราหลากหลายด้านเลยนะ แต่ก่อนจะไปว้าว ! กับสรรพคุณของหน่อไม้ฝรั่ง เรามาทำความรู้จักหน่อไม้ฝรั่งเพิ่มขึ้นอีกนิดกันดีกว่าค่ะ
 

หน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่งกับความเป็นมา

          หน่อไม้ฝรั่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Asparagus ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Asparagus officinalis หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชพื้นเมืองทางแถบยุโรปและแอฟริกา ส่วนลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชผักที่มีลำต้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนลำต้นใต้ดิน และส่วนลำต้นเหนือดิน

          ลำต้นใต้ดินจะเป็นระบบรากรวมหรือเหง้า มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายดินสอ ซึ่งยอดอ่อนหรือหน่ออ่อนที่เรานำมารับประทานกันก็เป็นส่วนที่เจริญมาจากเหง้า และหากปล่อยให้หน่ออ่อนเจริญเติบโตไปจะกลายเป็นลำต้นเหนือดิน มีความสูงประมาณ ​1.5-2 เมตร

          ส่วนลำต้นเหนือดินจะมีใบเป็นเกล็ดบาง ๆ ติดอยู่ตามข้อ ส่วนที่เห็นเป็นลักษณะคล้ายเส้นขนจริง ๆ แล้วเป็นใบของหน่อไม้ฝรั่งเองค่ะ และหน่อไม้ฝรั่งก็มีดอกนะคะ เป็นขนาดเล็ก ๆ ติดอยู่ตามกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก ส่วนผลก็มีด้วยเช่นกัน โดยผลจะมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก มีสีเขียวเมื่ออ่อน และมีสีแดงส้มเมื่อสุก และในผลก็มีเมล็ดอยู่ 2-3 เม็ดด้วย

          ทั้งนี้หน่อไม้ฝรั่งที่เรานำมาบริโภคกันก็มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ หน่อไม้ฝรั่งสีขาว ซึ่งเป็นชนิดที่จะเก็บเมื่อหน่อโผล่พ้นดินมาประมาณ​ 1 เซนติเมตร นิยมนำไปทำหน่อไม้ฝรั่งกระป๋องหรือครีมซุป และหน่อไม้ฝรั่งสีเขียว ซึ่งจะเก็บเกี่ยวก็ต่อเมื่อหน่ออ่อนแทงพ้นดินมาประมาณ 15-22 เซนติเมตร เป็นหน่อไม้ฝรั่งชนิดที่บ้านเรานิยมนำมาผัด มาทอด หรือปรุงเป็นอาหารกันนั่นเอง

          และแม้หน่อไม้ฝรั่งจะเป็นพืชพื้นเมืองทางฝั่งยุโรปและแอฟริกา ทว่าในบ้านเราก็หากินไม่ยากนะคะ เพราะมีแหล่งปลูกหน่อไม้ฝรั่งอยู่แถวประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ชลบุรี และนนทบุรีค่ะ

หน่อไม้ฝรั่ง
 
คุณค่าทางโภชนาการของหม่อไม้ฝรั่งดิบ (ปริมาณ 100 กรัม)

          - พลังงาน 20 กิโลแคลอรี
          - คาร์โบไฮเดรต 3.38 กรัม
          - โปรตีน 2.20 กรัม
          - ไขมันทั้งหมด 0.12 กรัม
          - คอเลสเตอรอล 0 มิลลิกรัม
          - ไฟเบอร์ 2.1 กรัม
          - โฟเลต 52 ไมโครกรัม
          - ไนอะซิน 0.978 มิลลิกรัม
          - ไรโบฟลาวิน 0.141 มิลลิกรัม
          - ไทอะมิน 0.143 มิลลิกรัม
          - วิตามินซี 5.6 มิลลิกรัม
          - วิตามินเอ 756 IU
          - วิตามินอี 1.13 มิลลิกรัม
          - วิตามินเค 41.6 ไมโครกรัม
          - โซเดียม 2 มิลลิกรัม
          - โพแทสเซียม 202 มิลลิกรัม
          - แคลเซียม 24 มิลลิกรัม
          - ทองแดง 0.189 มิลลิกรัม
          - เหล็ก 1.14 มิลลิกรัม
          - แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม
          - แมงกานีส 0.158 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส 52 มิลลิกรัม
          - เซเลเนียม 2.3 ไมโครกรัม
          - สังกะสี 0.54 มิลลิกรัม

หน่อไม้ฝรั่ง

ประโยชน์ของหน่อไม้ฝรั่ง

1. ช่วยลดน้ำหนัก

          หน่อไม้ฝรั่ง หรือแอสพารากัส มีไฟเบอร์สูงมาก กินเข้าไปแล้วจึงรู้สึกอิ่มอยู่ท้องได้ค่อนข้างนาน อีกทั้งยังเป็นผักที่ให้พลังงานค่อนข้างต่ำ โดยหน่อไม้ฝรั่ง 100 กรัม ให้พลังงานเพียง 20 กิโลแคลอรีเท่านั้นเองค่ะ

          อ้อ ! ที่สำคัญไฟเบอร์ในหน่อไม้ฝรั่งยังเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ จึงสามารถช่วยละลายไขมันชนิดเลวในร่างกาย และคงระดับไขมันชนิดดีหรือ HDL ในร่างกายไปด้วยในตัว ทว่าก่อนจะรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง แนะนำให้ลวก นึ่ง หรือปรุงให้สุกก่อนทุกครั้งนะคะ เพราะหน่อไม้ฝรั่งเป็นผักชนิดเปลือกและเนื้อแข็ง การปรุงให้สุกก็เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารจากหน่อไม้ฝรั่งได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

2. ปรับสมดุลลำไส้
   
          หน่อไม้ฝรั่งเป็นผักที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดอินนูลิน เป็นหนึ่งในสารประเภทฟรุกโตสโตโอลิโกแซคคาไรด์ ให้รสหวานคล้ายน้ำตาล แต่จะไม่ถูกย่อยในระบบทางเดินอาหารจึงไม่เพิ่มระดับน้ำตาลอินนูลิน ด้วยเหตุนี้หน่อไม้ฝรั่งจึงมีส่วนช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ พร้อมกันนั้นก็ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้ ส่งผลให้ความเสี่ยงอาการท้องร่วง หรืออาการลำไส้แปรปรวนลดลง

3. ลดอาการท้องอืด
   
          ไฟเบอร์ในหน่อไม้ฝรั่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร อีกทั้งคาร์โบไฮเดรตชนิดฟรุกโตสโตโอลิโกแซคคาไรด์ยังให้โพรไบโอติกกับลำไส้ ปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ จึงช่วยลดกรดและแก๊สในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้สบาย ๆ

4. ช่วยบำรุงสุขภาพทางเดินปัสสาวะ
  
          หน่อไม้ฝรั่งมีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า แอสพาราจีน มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะจากธรรมชาติ จึงช่วยร่างกายขับน้ำส่วนเกินและโซเดียมออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ โดยเฉพาะสาว ๆ ที่ปัสสาวะยาก หรือชอบกลั้นปัสสาวะจนเสี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กินหน่อไม้ฝรั่งเข้าไปก็จะเข้าห้องน้ำง่ายขึ้นค่ะ
   
หน่อไม้ฝรั่ง

5. แก้เมาค้าง
   
          กรดอะมิโนและแร่ธาตุที่มีอยู่ในหน่อไม้ฝรั่งมีสรรพคุณช่วยยับยั้งอนุมูลอิสระ และกระตุ้นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยแอลกอฮอล์ในร่างกายให้ทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อีกทั้งหน่อไม้ฝรั่งยังมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะในระดับหนึ่ง จึงช่วยระบายแอลกอฮอล์ที่ค้างอยู่ในร่างกายได้อีกทาง แก้อาการเมาค้างได้ง่าย ๆ

6. บำรุงผิวพรรณ
   
          เห็นหน่อไม้ฝรั่งเงียบ ๆ แต่วิตามินอีเพียบนะจ๊ะ และวิตามินอีเหล่านี้ก็จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยบำรุงดูแลผิวพรรณ กำจัดสารอนุมูลอิสระแล้ว ยังมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราด้วยนะ อ้อ ! และเพื่อการดูดซึมวิตามินซีจากหน่อไม้ฝรั่งให้เต็มที่มากที่สุด นักโภชนาการก็แนะนำให้กินหน่อไม้ฝรั่งคู่กับน้ำมันมะกอกด้วยนะคะ

7. บำรุงครรภ์
   
          หน่อไม้ฝรั่งจัดเป็นอาหารบำรุงครรภ์ที่ดีชนิดหนึ่ง เพราะหน่อไม้ฝรั่ง (ทำให้สุก) 1 ทัพพี ให้โฟเลตสูงถึง 60.8 ไมโครกรัมเชียวนะคะ ซึ่งเจ้าโฟเลตนี้ก็มีประโยชน์ในด้านช่วยป้องกันความพิการของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยบำรุงเลือด บำรุงสมอง และเป็นสารสำคัญต่อการสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายด้วยนะ นั่นแปลว่าต่อให้ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ การรับประทานโฟเลตก็สำคัญกับร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียวล่ะ

8. บำรุงสมอง
   
          อย่างที่บอกค่ะว่าโฟเลตมีสรรพคุณช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท ซึ่งในหน่อไม้ฝรั่งก็มีโฟเลตอยู่สูงเช่นกัน ดังนั้นอยากสมองใสปิ๊ง ไม่เสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม ก็รับประทานหน่อไม้ฝรั่งกันเถอะ

9. ช่วยดูดซึมแคลเซียม
   
          ในหน่อไม้ฝรั่งมีวิตามินเค ที่เป็นสารช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารและเครื่องดื่มได้ดีขึ้น อีกทั้งวิตามินเคยังดีต่อระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย มีส่วนช่วยให้เลือดมีความแข็งตัว  คนที่เลือดไหลไม่หยุด หรือไหลแล้วหยุดยาก กรณีนี้วิตามินเคในหน่อไม้ฝรั่งก็จะช่วยให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลได้ดีขึ้น

หน่อไม้ฝรั่ง



10. ช่วยให้อารมณ์ดี
   
          โฟเลตในหน่อไม้ฝรั่งก็มีส่วนช่วยปรับสมดุลอารมณ์ของเราเช่นกัน โดยมีการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ได้รับโฟเลตในจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะมีความสุขมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับโฟเลตเลย นอกจากนี้นักโภชนาการยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในหน่อไม้ฝรั่งไม่ได้มีเพียงโฟเลตและวิตามินบีที่ดีต่อสารเคมีในสมองเท่านั้น แต่ยังพกทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่ช่วยเพิ่มความสุขให้ร่างกายมาด้วย

11. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
   
          ด้วยความที่หน่อไม้ฝรั่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และยังมีกลูต้าไธโอน ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าแห่งสารต้านอนุมูลอิสระทั้งปวง เหตุผลนี้จึงทำให้หน่อไม้ฝรั่งมีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคหัวใจไปด้วยในตัว

12. ช่วยปลุกอารมณ์ทางเพศ
   
          คู่รักคู่ไหนที่เรื่องบนเตียงมีอาการแผ่ว ๆ ไม่ค่อยหวือหวาจนความสุขที่อยู่ด้วยกันเริ่มลดลง ลองปรุงเมนูหน่อไม้ฝรั่งกินสักหน่อยดีไหมคะ เพราะหน่อไม้ฝรั่งเป็นยาโด๊ปจากธรรมชาติ ที่มีโฟเลตและวิตามินบี 6 เป็นตัวเสริมให้อารมณ์รักติดไฟได้ง่ายขึ้นไปอีก นอกจากนี้วิตามินอีในหน่อไม้ฝรั่งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศ ทั้งเอสโตรเจนในเพศหญิงและเทสโทสเตอโรนในเพศชายเลยล่ะ !

วิธีเลือกซื้อหน่อไม้ฝรั่ง

          แนะนำให้เลือกซื้อหน่อไม้ฝรั่งที่ยังอ่อน ลำต้นแน่นตรง หน่อต้องสด กรอบ ปลายแห้งและไม่บานออก โดยวิธีสังเกตง่าย ๆ คือ หากส่วนโคนของต้นมีเสี้ยน ๆ ยาวเกิน 15% ของความยาวทั้งหมด แสดงว่าเป็นหน่อที่แก่เกินไป แต่ถ้ามีเสียงดังเอี๊ยดเวลาบีบทั้งกำแบบเบา ๆ แปลว่าหน่อยังสดอยู่ นอกจากนี้หน่อไม้ฝรั่งที่เลือกควรต้องไม่มีโรคและแมลง รอยช้ำ หรือแตกหักด้วยนะคะ
   
          อ้อ ! และหากซื้อหน่อไม้ฝรั่งมาแล้วควรรีบนำไปปรุงอาหารโดยทันทีจะดีที่สุด เพราะหากเก็บไว้นาน หน่อจะช้ำและแห้งได้ง่าย ไม่น่ารับประทานค่ะ

หน่อไม้ฝรั่ง

เมนูหน่อไม้ฝรั่ง

          หน่อไม้ฝรั่งมีประโยชน์เหลือล้ำขนาดนี้จะปล่อยผ่านไปง่าย ๆ ได้ยังไง ลองมาทำเมนูหน่อไม้ฝรั่งกินกันดีกว่า

          - 10 เมนูหน่อไม้ฝรั่ง คุณค่าเต็มคำกินอร่อยจากเมนูผักกรอบ ๆ

          - 16 สูตรทำผักย่าง แคลอรีต่ำได้สุขภาพไม่กล้าเขี่ยทิ้ง

โทษของหน่อไม้ฝรั่ง
   
          เหรียญยังมีสองด้าน หน่อไม้ฝรั่งก็มีทั้งคุณและโทษเช่นเดียวกันค่ะ โดยโทษของหน่อไม้ฝรั่งก็มีดังนี้

          - ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นรุนแรง
   
          ในระหว่างกระบวนการย่อยหน่อไม้ฝรั่งจะเกิดแก๊สซัลเฟอร์ออกมา ส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นเขียวอย่างรุนแรง และแม้จะกดชักโครกเรียบร้อยแล้วกลิ่นเหม็นเขียวก็อาจจะตามมาหลอ­­­กหลอนได้อีกสักพัก ฉะนั้นหากกินหน่อไม้ฝรั่งเข้าไปก็พยายามหาห้องน้ำที่เงียบสงบไม­­­่ค่อยมีคนเข้าดีกว่า กลิ่นเหม็นเขียวในปัสสาวะจะได้ไม่เป็นภาระใครเนอะ

          - ไม่ดีต่อสุขภาพผู้ป่วยไทรอยด์
   
          ผู้ที่มีไทรอยด์ผิดปกติไม่ว่าจะกรณีใด ๆ ควรอยู่ห่างจากหน่อไม้ฝรั่งไว้ดีกว่าค่ะ เพราะสารอาหารบางอย่างในหน่อไม้ฝรั่งอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ ทำให้ยิ่งผอมลง และเหนื่อยง่ายกว่าเดิม

          - กระตุ้นความรุนแรงของโรคเกาต์
   
          ในส่วนของผู้ป่วยโรคเกาต์เราไม่ถึงกับห้ามกินหน่อไม้ฝรั่งค่ะ แต่พยายามลดปริมาณการกินให้น้อยลงจะดีกว่า โดยรับประทานได้ครั้งละ 1 ถ้วยตวงต่อวัน ความถี่ก็ประมาณ 4 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น เนื่องจากหน่อไม้ฝรั่งมีพิวรีนค่อนข้างสูง ซึ่งอาจไปกระตุ้นอาการปวดข้อในผู้ป่วยโรคเกาต์ได้

หน่อไม้ฝรั่ง

หน่อไม้ฝรั่งกินดิบได้ไหม
   
          ถ้าจะกินหน่อไม้ฝรั่งดิบ ๆ คงไม่ค่อยจะเวิร์กเท่าไรนะคะ เพราะหน่อไม้ฝรั่งสดจะมีกลิ่นเขียวหน่อย ๆ ไม่น่าอร่อยเท่าไร แถมยังอาจมีรสขมเฝื่อน ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ขอย้ำอีกทีว่าหน่อไม้ฝรั่งเป็นผักที่มีเปลือกผิวแข็งทั้งเปลือกและเนื้อใน ดังนั้นควรปรุงให้สุกในระดับพอดีก่อนรับประทาน เพื่อให้ร่างกายเราดูดซึมสารอาหารจากหน่อไม้ฝรั่งได้อย่างเต็มที่ ย้ำอีกครั้งว่าหน่อไม้ฝรั่งกินดิบ ๆ ไม่แนะนำ กินแบบปรุงสุกดีกว่าจ้า

          ประโยชน์ของหน่อไม้ฝรั่งมีเยอะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะกินแต่หน่อไม้ฝรั่งนะคะ เพราะอะไรที่มากไปก็ไม่ดีแน่ ๆ ดังนั้นหากไม่ค่อยจะกินเลย ก็อยากให้เพิ่มเมนูหน่อไม้ฝรั่งเข้าไปในชีวิตประจำวันบ้าง ร่วมกับรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และที่สำคัญควรเลือกกินอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    
สำนักโภชนาการ กรมอนามัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง
nutrition-and-you
health
eatingwell
medicalnewstoday
healthmeup

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หน่อไม้ฝรั่ง สรรพคุณเหลือล้ำ ขอย้ำว่าต้องกิน ! อัปเดตล่าสุด 4 ตุลาคม 2563 เวลา 08:38:15 103,648 อ่าน
TOP