x close

ออกซ์ฟอร์ด เผยผลวิจัยล่าสุด น้ำลายเห็บ มีศักยภาพช่วยป้องกันหัวใจวายได้ !


น้ำลายเห็บ

         ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เผยผลการวิจัยล่าสุด พบว่าน้ำลายเห็บมีโปรตีนยับยั้งการอักเสบ สามารถนำไปรักษาโรคหัวใจได้ ชี้เป็นขุมทองแห่งการคิดค้นยาใหม่ ๆ และอาจช่วยรักษาโรคได้อีกหลายชนิด

         เมื่อพูดถึงบรรดาสิ่งมีชีวิตอันเป็นที่รังเกียจ "เห็บ" คงติดอยู่ในอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะใครก็ตามที่เลี้ยงสุนัข เนื่องจากเห็บเป็นพาหะนำโรคต่าง ๆ มาสู่สัตว์เลี้ยงแสนรัก ซ้ำยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แถมยังแพร่พันธุ์ง่ายและกำจัดลำบาก โดยหากจะให้นึกถึงข้อดีของเห็บ หลายคงคิดไม่ออกอย่างแน่นอน แต่ผลการวิจัยทางการแพทย์ล่าสุด ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะปรสิตตัวเล็ก ๆ เหล่านี้มีส่วนช่วยในการรักษาโรคหัวใจได้
         เห็บ มีความเชี่ยวชาญในการดูดเลือด ในน้ำลายของมันมีโปรตีนที่สามารถยับยั้งการผลิตเคโมไคน์ส (Chemokines) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ทำให้เห็บสามารถเกาะติดบนผิวหนังสัตว์หรือมนุษย์ เพื่อดูดเลือดได้นานกว่า 8-10 วัน โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกเจ็บ หรือระคายเคืองใด ๆ ซึ่งจากกรณีนี้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 สำนักข่าวบีบีซี ได้เผยแพร่บทความจากสารวารสารวิทยาศาสตร์ ไซแอนทิฟิก รีพอร์ตส (Scientific Reports) ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ค้นพบว่า น้ำลายเห็บนั้นสามารถระงับการผลิตสารเคโมไคน์สชนิดที่ก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้อีกด้วย

         อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้นตรวจพบได้ยาก มันสามารถพัฒนากลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ (Dilated Cardiomyopathy) หรือหัวใจล้มเหลวได้ และผู้ป่วยหลายรายจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเพราะสาเหตุนี้

         จากกรณีดังกล่าว โชโม ภัทรจรรยา ศาสตราจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์เกี่ยวกับระบบไหลเวียน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า วิธีการรักษาโรคหัวใจอักเสบในปัจจุบันยังมีน้อยมาก แต่จากการค้นพบครั้งล่าสุด ทีมนักวิจัยคาดหวังว่าการศึกษาหลักการยับยั้งการอักเสบของเห็บ จะสามารถนำไปสู่การพัฒนายารักษาโรคหัวใจได้ ซึ่งมันจะมีประโยชน์ในการรักษาอาการของโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองแตก ข้ออักเสบ ไปจนถึงตับอ่อนอักเสบ น้ำลายเห็บจึงเปรียบเสมือนขุมทองแห่งการคิดค้นผลิตยาใหม่ ๆ

         ทั้งนี้น้ำลายเห็บมีโปรตีนกว่า 3,000 ชนิด ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ และการเก็บตัวอย่างน้ำลายเห็บเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ยาก เนื่องจากมีปริมาณน้อยและต้องใช้ท่อขนาดเล็ก ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงนำยีนสังเคราะห์มาเพาะเลี้ยงในยีสต์เพื่อผลิตโปรตีนที่เหมือนกับในน้ำลายเห็บแทน และมันสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากกว่าการเก็บจากเห็บโดยตรง

         แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กระบวนการทุกอย่างยังอยู่ในช่วงของการทดลองเท่านั้น การจะผลิตยาเพื่อใช้ในมนุษย์ได้นั้น ยังต้องใช้เวลาคิดค้นและวิจัยอีกนานหลายปี

         "เห็บอาจมีรูปร่างหน้าตาไม่น่ารัก แต่ปรสิตเล็ก ๆ เหล่านี้สามารถไขความลับในทางการแพทย์ได้ และมันจะนำไปสู่การคิดค้นวิธีการรักษาแบบใหม่ ซึ่งสามารถจัดการโรคต่าง ๆ ได้อีกมากมายหลายแขนง แต่ทั้งนี้ระยะทางในการวิจัยก็ยังคงอีกยาวไกล" ศาสตราจารย์เจเรมี เพียร์สัน รองผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจแห่งสหราชอาณาจักร กล่าว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออกซ์ฟอร์ด เผยผลวิจัยล่าสุด น้ำลายเห็บ มีศักยภาพช่วยป้องกันหัวใจวายได้ ! อัปเดตล่าสุด 7 กรกฎาคม 2560 เวลา 16:39:06 11,700 อ่าน
TOP