x close

10 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย คนข้างกายต้องเฝ้าระวัง


          สัญญาณเตือนก่อนฆ่าตัวตาย หากคนข้างกายจับสังเกตได้ ก็มีโอกาสช่วยชีวิตและเยียวยาจิตใจคนกำลังจะคิดสั้นได้มาก มาเช็กลางบอกเหตุกันค่ะ

          ใครต่างก็ทราบกันดีว่าการฆ่าตัวตายไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของปัญหา ทว่าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางครั้งด้วยอาการ “ป่วย” ก็ผลักดันให้เขามีแนวโน้มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูง ยืนยันจากสถิติที่ระบุว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และยิ่งสภาพสังคมในปัจจุบันที่ถูกกดดันด้วยสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม หรือแม้แต่การกลั่นแกล้งกันในโลกโซเชียลอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ ทำให้อัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง พร้อมกันนั้นก็ทำให้อัตราความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น คนข้างกายจึงเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้สถานการณ์คิดสั้นเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ โดยสังเกตสัญญาณฆ่าตัวตายต่อไปนี้

1. ประสบปัญหาชีวิตบางอย่าง

          โดยเฉพาะคนที่เจอกับความพลิกผันหนัก ๆ หรือเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น ล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัว สูญเสียคนรักกะทันหัน ผิดหวังกับการงาน การเรียน หรือต้องตกอยู่ในสถานะคนพิการจากอุบัติเหตุ เป็นต้น คนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะรู้สึกท้อแท้กับชีวิต รู้สึกเครียดสะสม หรือไม่สามารถปรับตัวต่อการแก้ไขปัญหาในชีวิตได้ จนอาจนำไปสู่การคิดสั้นด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

2. ใช้สุราหรือยาเสพติด

          ถ้าพบว่าคนใกล้ตัวหรือตัวเราเองมีพฤติกรรมดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคย หรืออาจจะเคยแต่ช่วงหลังมานี้เริ่มดื่มหนักขึ้น หรือเสพมากขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าเขากำลังเครียดหนัก และไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จึงอาจใช้เหล้าและสารเสพติดเพื่อคลายกลุ้ม

3. มีประวัติคนในครอบครัวฆ่าตัวตาย

          หากมีประวัติคนในครอบครัวฆ่าตัวตาย ก็เป็นไปได้สูงว่าสมาชิกในครอบครัวคนอื่นอาจคิดสั้นและทำร้ายตัวเองได้ ฉะนั้นต้องเฝ้าระวังให้ดีค่ะ

โรคซึมเศร้า

4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร

          บางคนอาจไม่โวยวาย ไม่ตัดพ้อ แต่กลับมีพฤติกรรมเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียวมากขึ้น พูดจาประหยัดคำกว่าเดิม และดูไม่ค่อยอยากสุงสิงกับใครแม้กระทั่งเพื่อนและคนในครอบครัว

5. นอนไม่หลับ

          ภาวะนอนไม่หลับเป็นเวลานาน ๆ อาจเข้าข่ายอาการโรคซึมเศร้า หรือโรคเครียด ซึ่งความเครียดและความรุนแรงของโรคซึมเศร้านั้นรบกวนจนร่างกายไม่สามารถหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เคสแบบนี้ก็ควรต้องเฝ้าระวังใจให้ดีเช่นกัน

โรคซึมเศร้า

6. หน้าตาเศร้าหมอง พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล

          นี่ก็จัดเป็นสัญญาณความเครียดและความไม่สบายใจที่สังเกตเห็นได้เด่นชัด โดยคนที่มีความกังวล หรืออาจมีสติสัมปชัญญะที่ไม่เต็มร้อยนัก อาจมีอาการแสดงออกด้วยน้ำเสียงที่มีความกังวลปนอยู่ หรือใบหน้าที่เศร้าหมองอย่างหนัก

7. ชอบพูดว่าอยากตาย

          ไม่ว่าจะเป็นการบ่นตัดพ้อ โพสต์โซเชียล หรือเขียนข้อความทิ้งไว้ที่ไหนในทำนองว่าอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ขอไม่ตื่นอีกเลยได้ไหม ไม่มีใครรัก ชีวิตไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ลาก่อน หรือพูดทำนองว่าทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง รู้สึกตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ถ้าปรากฏข้อความแนว ๆ นี้บ่อยครั้ง ก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจฆ่าตัวตายสูง

8. มีอารมณ์แปรปรวน

          อารมณ์แปรปรวนเกิดขึ้นได้กับบางคน ทว่าหากเป็นกรณีที่อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เหวี่ยงบ่อย ซึมบ้าง รวมทั้งรู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกให้ทราบว่า คนผู้นั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอยู่ไม่น้อย

9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

          ไม่ว่าจะเป็นการพยายามฆ่าตัวตายด้วยวิธีไหน หรืออาจจะแค่เคยลองหาวิธีฆ่าตัวตายมาก่อน ต้องเฝ้าระวังให้ดีเลยค่ะ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยได้

10. มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า

          หากมีการจัดการงานเรียบร้อย หรือมีพูดฝากฝังอะไรกับคนรอบข้าง รวมทั้งเอาของใช้ ของสะสมของตัวเองมาแจกจ่ายคนอื่น อาจเป็นไปได้ว่าบุคคลผู้นั้นกำลังวางแผนจะลาโลกนี้ไป ให้เอะใจไว้บ้างก็ดีค่ะ

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายสัญญาณหรือแม้แต่หนึ่งสัญญาณดังกล่าว คนรอบข้างก็ควรให้ความสนใจและเฝ้าดูความเคลื่อนไหว พร้อมทั้งรับฟังเขาอย่างเข้าใจ ไม่ต่อว่า ไม่ท้าทายให้ทำร้ายตัวเอง หรือไล่ให้ไปตายจริง ๆ เพราะความเข้าใจ และการรับฟัง จะช่วยเยียวยาจิตใจของคนที่คิดอยากฆ่าตัวตายได้มาก หรือทางที่ดี จะพาเขาไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและคลายปัญหาที่มีอยู่ก็ได้นะคะ

          นอกจากนี้ หากพบสัญญาณฆ่าตัวตายจากคนรอบข้างขึ้นมาจริง ๆ ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ก็มีคำแนะนำดี ๆ มาเป็นแนวทางปฏิบัติ มาดูกันค่ะว่า เมื่อพบเห็นสัญญาณฆ่าตัวตายจากคนข้างกาย เราจะทำยังไงกันดี

โรคซึมเศร้า

8 สิ่งที่ควรรีบทำ เมื่อเห็นสัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล

          1. แสดงความช่วยเหลืออย่างเต็มใจ รับฟังปัญหาของเขาอย่างตั้งใจ หรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ

          2. ยอมรับว่าสิ่งที่เขาโพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

          3. ให้กำลังใจ คอยอยู่เคียงข้างเขา และทำให้เขาเห็นว่าปัญหานั้นสามารถแก้ไขและผ่านไปได้
         
          4. พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้เขามีสติ ค่อย ๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา

          5. ชักชวนให้เขาออกมาทำกิจกรรมข้างนอก พยายามอย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว

          6. ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเขาให้ดูแลอย่างใกล้ชิด และพยายามให้เขาอยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่เขาอาจเตรียมไว้ทำร้ายตัวเอง

          7. แนะนำช่องทางการขอรับคำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้การปรึกษา

          8. ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้ เช่น ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์

วิธีดูแลผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ป้องกันอย่างไรดี ?

         หากคนใกล้ชิดเรามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ควรมีผู้ดูแลเพื่อป้องกันการก่อเหตุฆ่าตัวตาย โดยผู้ดูแลควรปฏิบัติ ดังนี้

          1. ดูแลผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายอยู่ตลอดเวลา หากเข้าห้องน้ำก็ควรอยู่ในสายตา

          2. เก็บข้าวของ หรือสิ่งที่อาจทำร้ายตัวเองไว้ให้มิดชิด ไม่ว่าจะเป็นเชือก มีด ผ้าพันคอ สายเข็มขัด ลวด สายไฟ ปืน มีด ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช น้ำยาล้างห้องน้ำ ยานอนหลับ และควรกำจัดสุรา สารเสพติดให้หมด

          3. ถ้าต้องกินยา ให้จัดยาไว้ทีละมื้อ และเก็บซองยาไว้ เพื่อป้องกันผู้คิดฆ่าตัวตายนำยาไปกินเกินขนาด

          4. ควรให้อยู่ในห้องพักชั้นล่าง และระมัดระวังการออกไปที่ระเบียง หรือหน้าต่างที่ไม่มีลูกกรงป้องกัน

          5. ไม่พูดตำหนิประชดประชัน หรือพูดท้าทายให้ทำร้ายตัวเอง

          6. หมั่นสังเกตอารมณ์จากสีหน้า ท่าทาง คำพูดไว้ด้วย ถ้าอยู่ดี ๆ มีคำพูดสั่งลา หรือเปลี่ยนจากอารมณ์เศร้าเป็นสดชื่นอย่างกะทันหัน ควรระมัดระวังให้มาก

          7. ถ้านอนไม่หลับ กินอาหารได้น้อย หรืออารมณ์เศร้าไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรพาไปพบแพทย์

          8. พาไปพบแพทย์หรือผู้ให้การปรึกษาตามนัดทุกครั้ง

          ทั้งนี้ ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายมักต้องการความเห็นอกเห็นใจ และต้องการผู้เข้าใจปัญหาและความรู้สึกของเขา แต่ไม่ต้องการถูกซ้ำเติมจากคนรอบข้าง ผู้ดูแลต้องปล่อยให้เขาระบายความทุกข์ออกมา ไม่ว่าจะเป็นการพูด เขียน ร้องไห้ โดยยินดีรับฟังและช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากกว่าปกติ


ขอบคุณข้อมูลจาก
ประชาสัมพันธ์ กรมสุขภาพจิต
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
เฟซบุ๊กจิตเวช รามา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 สัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตาย คนข้างกายต้องเฝ้าระวัง อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2566 เวลา 17:05:37 34,128 อ่าน
TOP