x close

ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณสมุนไพรไทยที่ไม่ธรรมดา

          ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณสมุนไพร 2 ชนิดนี้มีดีอย่างไร แล้วที่อ้างว่าเป็นสมุนไพรรักษามะเร็ง ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ มีสารสำคัญที่ช่วยรักษาโรคได้จริงไหม มาเปิดตำรากันเลย
ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้

          ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สมุนไพรไทยที่เชื่อว่าหลายคนเพิ่งจะเคยได้ยินชื่อมาไม่นาน จากการที่สมุนไพรไทยชนิดนี้ถูกนำมาปรุงเป็นตำรับยารักษามะเร็ง ซึ่งก็ถือได้ว่าตอนนี้ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ เป็นสมุนไพรที่คนไทยอยากรู้จักกันมาก กระปุกดอทคอมเลยไม่รอช้า มาดูกันค่ะว่า ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณมีอะไรบ้าง

ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้

ข้าวเย็นเหนือ สมุนไพรไทยสรรพคุณเด็ด

          ข้าวเย็นเหนือเป็นสมุนไพรในวงศ์ Smilacaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Smilax corbularia Kunth subsp. corbularia ส่วนในบ้านเราก็เรียกข้าวเย็นเหนือเป็นภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันไป เช่น หัวยาข้าวเย็น หัวข้าวเย็นเหนือ หรือทางภาคเหนือจะเรียกหัวข้าวเย็นวอก

ข้าวเย็นเหนือ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์อย่างไร

          ข้าวเย็นเหนือจัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง โดยจะแตกกิ่งก้านสาขาจากโคนต้น พาดพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยลงตามพื้นดิน ความยาวของเถาอาจยาวได้ถึง 5 เมตร เถามีหนามแหลมที่โคนใบยอดอ่อนโดยมีมือเป็นเส้น 2 เส้นไว้สำหรับยึด

          ลำต้นข้าวเย็นเหนือมีลักษณะกลมหรือเหลี่ยมเล็กน้อย มีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากจำนวนมาก หัวลักษณะกลมยาวเป็นท่อน ท่อนละประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อไม้แข็งสีแดงและขรุขระ ส่วนเนื้อในเหง้าเป็นสีเหลืองอ่อนแต่เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดงน้ำตาลอ่อน เนื้อละเอียดมีรสมัน

ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้
ข้าวเย็นเหนือ

          ส่วนใบข้าวเย็นเหนือเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับรูปรียาวหรือรูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ กว้าง 2.5-7 เซนติเมตร และยาว 5-18 เซนติเมตร หน้าใบสีเขียว หลังใบมีขนสีขาว แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ก้านใบยาว มือจับยาวถึง 12 เซนติเมตร

          ดอกข้าวเย็นเหนือมีสีเขียวปนขาว ออกเป็นช่อตามซอกใบจำนวน 1-3 ช่อขนาดเล็ก ก้านช่อดอกสั้น กลีบรวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรี เกสรเพศผู้มีจำนวน 6 อัน รังไข่เป็นรูปรี มี 3 รัง เกสรเพศผู้มีประมาณ 3 อัน ผลทรงกลมและมีเนื้อ ผิวของผลข้าวเย็นเหนือจะมีผงแป้งสีขาวปกคลุม ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด เวลาสุกจะเป็นสีม่วงดำ

          ข้าวเย็นเหนือเป็นสมุนไพรไทยที่พบได้มากตามป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ส่วนใหญ่จะพบสมุนไพรข้าวเย็นเหนือทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้าวเย็นเหนือ สรรพคุณทางยา

          * หัวข้าวเย็นเหนือ มีรสหวานเล็กน้อย สรรพคุณแก้ประดง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้น้ำเหลืองเสีย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อหนอง แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค มีสรรพคุณรักษาฝี แผลเน่าเปื่อยพุพอง ช่วยให้ฝีและแผลแห้งเร็วขึ้น นอกจากนี้หัวข้าวเย็นเหนือยังมีสรรพคุณแก้ผดผื่นคัน ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ และแก้อักเสบในร่างกาย

          * ต้นข้าวเย็นเหนือ มีรสจืดเย็น แก้ไข้เรื้อรัง และไข้ตัวร้อน

          * ใบข้าวเย็นเหนือ มีรสจืดเย็น แก้ไข้เหนือและไข้สันนิบาต

          * ผลข้าวเย็นเหนือ มีรสขื่นจัด สรรพคุณช่วยแก้ลมริดสีดวง

          * เหง้าข้าวเย็นเหนือ ในตำรับยาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียนิยมใช้เหง้าข้าวเย็นเหนือมาต้มเป็นยาบำรุงร่างกาย

          นอกจากสรรพคุณข้าวเย็นเหนือเหล่านี้แล้ว หัวข้าวเย็นยังจัดเป็นสมุนไพรที่ใช้ปรุงตำรับยาไทยกว่า 2,449 ตำรับยา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นหนึ่งในสมุนไพรรักษาโรคน้ำเหลืองเสีย โรคผิวหนัง กามโรค โรคเรื้อน และโรคมะเร็งในระบบต่าง ๆ รวมไปถึงโรคที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคไขข้อ โรคติดเชื้อ แก้ปวดต่าง ๆ เป็นต้น

          ทั้งนี้ในตำราไทยจะใช้หัวข้าวเย็น 2 ชนิดร่วมกัน คือ หัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้ ซึ่งเราจะพาทุกคนไปรู้จักสมุนไพรข้าวเย็นใต้กันก่อนค่ะ

ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้
ข้าวเย็นใต้

ข้าวเย็นใต้ สมุนไพรไทยนิยมใช้เป็นตำรับยา

          ข้าวเย็นใต้เป็นสมุนไพรในวงศ์ Smilacaceae เช่นเดียวกับข้าวเย็นเหนือ แต่มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ต่างกัน โดยข้าวเย็นใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์จะเรียกว่า Smilax Qrasa Roxb. หรือ Smilax Glabra Roxb. ส่วนชื่อทางท้องถิ่นของข้าวเย็นใต้ก็มีหลากหลาย เช่น ยาหัว (เลย, นครพนม), หัวยาข้าวเย็น (เพชรบูรณ์), ยาหัวข้อ (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์ใต้ (ภาคใต้), ข้าวเย็นโคกขาว, เสียนฝูหลิง และควางเถียวป๋าเชี่ย (จีนกลาง)

ลักษณะทางพฤกศาสตร์ของข้าวเย็นใต้

          ข้าวเย็นใต้เป็นเถาไม้เลื้อยเช่นเดียวกับข้าวเย็นเหนือ ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้มโดยมีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน เหง้าหรือหัวข้าวเย็นใต้จะมีลักษณะกลมหรือแบน หรืออาจพบเป็นก้อนและรูปร่างที่ไม่แน่นอน ผิวของเหง้าไม่เรียบ มีลักษณะเป็นก้อนแข็งนูนและแยกเป็นแขนงสั้น ๆ ความกว้างของเหง้าจะประมาณ 2-5 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 5-22 เซนติเมตร ผิวเหง้ามีสีน้ำตาลเหลืองหรือสีเทาน้ำตาล ตามบริเวณผิวจะพบส่วนที่เป็นหลุมลึกและนูนขึ้น โดยมีรากฝอยขึ้นบริเวณที่เป็นหลุม มักพบปมของรากฝอยที่งอกจากผิวเหง้า และมีรอยแยกแตกเป็นร่อง ๆ

          เนื้อของเหง้าข้าวเย็นใต้มีสีขาวอมเหลือง ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวออกเรียงสลับ ปลายใบบางแหลม โคนใบโค้งมน ขนาดกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร และยาว 5-14 เซนติเมตร ผิวใบมันและมีเส้นมองเห็นได้ชัดเจนตามยาว 3 เส้น ส่วนหลังใบมีผงเหมือนแป้ง ก้านใบสั้น

          ดอกข้าวเย็นใต้มีสีเหลืองอมเขียว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ โดยในแต่ละช่อจะมีดอก 10-20 ดอกและมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 4-15 มิลลิเมตร

          ในส่วนของผลข้าวเย็นใต้จะมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนจะมีสีเขียวและเมื่อแก่จะกลายเป็นสีแดงออกดำ

ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้

ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณเคียงคู่ข้าวเย็นเหนือ
           
          * รากข้าวเย็นใต้ สรรพคุณแก้พุพอง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ปัสสาวะพิการ และแก้พยาธิในท้อง โดยนำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

          * หัวข้าวเย็นใต้ มีสรรพคุณแก้มะเร็ง แก้เส้นพิการ โดยนำหัวข้าวเย็นใต้มาบดให้ละเอียด จากนั้นผสมกับส้มโมงแล้วต้มจนแห้ง ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งเล็กน้อย จากนั้นปั้นเป็นเม็ดไว้กินวันละ 1 เม็ด

          * ใบข้าวเย็นใต้ มีฤทธิ์แก้ปากบวมอักเสบ โดยนำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยา

          * ดอกข้าวเย็นใต้ แก้โรคผิวหนัง แก้คุดทะราด วิธีใช้ก็ต้มน้ำกับดอกข้าวเย็นใต้ ดื่มเป็นยา

          * ผลข้าวเย็นใต้ ผลสดของข้าวเย็นใต้มีสรรพคุณช่วยแก้ลมริดสีดวงได้ โดยรับประทานผลสดได้เลย

          สรรพคุณข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้มีความใกล้เคียงกันมาก และอย่างที่บอกไปว่าได้มีการนำข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในสมุนไพรรักษาโรค โดยกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ รศ. ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ และคณะนักศึกษาจากสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการคิดค้นวิจัยสรรพคุณของข้าวเย็นเหนือ-ข้าวเย็นใต้ โดยศึกษาด้านฤทธิ์ยับยั้งเซล์มะเร็งและเอดส์ รวมไปถึงได้ทำการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งและเอดส์ เช่น ฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านเนื้องอก และกลไกการออกฤทธิ์ทางชีวเคมีของสมุนไพรข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้

          โดยจากการศึกษาก็พบว่า สารสกัดของหัวข้าวเย็นใต้ มีฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะฤทธิ์เป็นพิษต่อมะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นสรรพคุณโดดเด่นและมีประสิทธิภาพดีที่สุด รองลงมาคือเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากและเซลล์มะเร็งตับ

          นอกจากนี้จากการศึกษายังพบด้วยว่า หัวข้าวเย็นใต้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดหนอง เช่น Staphylococus aureus และ Bacillus subtilis และเชื้อกลากได้ดีที่สุด และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยช่วยยับยั้งการหลั่งไนตริก ออกไซด์ (Nitric Oxide) และยับยั้งปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในระบบหลอดเลือด (COX2 inhibitor) อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง และเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านเนื้องอกก็พบว่า หัวข้าวเย็นใต้มีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกได้ดีอีกด้วย

ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้

          ทั้งนี้ในส่วนของการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV พบว่า สารสกัดหัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้มีฤทธิ์ต้าน HIV ที่ต่างกัน โดยพบว่าสารสกัดของหัวข้าวเย็นใต้มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ HIV-1 protease ส่วนสารสกัดของหัวข้าวเย็นเหนือมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ HIV-1 integrase ซึ่งเป็นการสนับสนุนยาไทยว่าต้องใช้คู่กัน เพราะมีฤทธิ์ต่างกันนั่นเอง

          นอกจากนี้การศึกษายังทำให้ทราบว่า สารสกัดหัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูงกว่าสารเคมีที่ใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในปัจจุบัน และเมื่อทดสอบความคงตัวของสารสกัดหัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้ก็พบว่า สมุนไพรทั้งสองชนิดมีความคงตัวและมีอายุการเก็บรักษาได้มากกว่า 2 ปีขึ้นไป รวมไปถึงยังพบว่า สารสกัดหัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้มีฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทานสูงอีกด้วย

          แม้ผลการทดลองดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า หัวข้าวเย็นเหนือและหัวข้าวเย็นใต้มีศักยภาพในการต้านเซลล์มะเร็งและต้านเชื้อ HIV ได้ กระทั่งในปัจจุบันมีการพัฒนาสารสกัดหัวข้าวเย็นทั้งสองชนิดให้อยู่ในรูปแบบยาเม็ดและยาแคปซูลที่รับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังมีการนำสมุนไพรข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ไปปรุงเป็นยารักษามะเร็ง ทว่าก็ควรต้องมีการศึกษาทางคลีนิกวิทยาเพิ่มเติมเพื่อความแน่ชัดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค และตัวผู้ป่วยเองก็ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกันด้วยนะคะ รวมไปถึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ ก็ตาม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
สมุนไพรดอทคอม
โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร
แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร
ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน
สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณสมุนไพรไทยที่ไม่ธรรมดา อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2562 เวลา 13:53:40 114,446 อ่าน
TOP