x close

คนบ้าจี้ ถูกกระตุ้นให้ตกใจ เล่นแผลง ๆ เสี่ยงตาย ต้องระวัง !

บ้าจี้

          คนมีอาการบ้าจี้เป็นยังไง แล้วถ้าเกิดอาการบ้าจี้ ถูกสั่งให้ทำอะไรที่อันตรายและเสี่ยงภัย ควรรักษาอาการบ้าจี้ให้หายหรืออย่างน้อยก็ทุเลาลง เพราะอาการบ้าจี้อาจพาให้เสียชีวิตได้เลยนะ

          คนบ้าจี้ในบางเคสที่เล่นกันเบา ๆ ก็พอจะเรียกเสียงหัวเราะได้มากอยู่ แต่สำหรับคนที่มีอาการบ้าจี้จริง ๆ ชนิดที่เกิดอาการบ้าจี้ทุกครั้งเมื่อได้รับแรงกระตุ้น เขาอาจไม่ได้สนุกหรือรู้สึกดีกับการถูกจี้ให้แสดงท่าทางตลก ๆ เพิ่มความบันเทิงให้คนรอบข้างก็ได้ ยิ่งหากเพื่อนดันเล่นแผลง ๆ แกล้งคนบ้าจี้แรง ๆ จนเสี่ยงต่ออันตราย ความตายอาจมาเยือนได้เพราะอาการบ้าจี้ที่คิดว่าเล่นกันขำ ๆ นี่แหละค่ะ

          และเราเองก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น่าสลดขึ้นกับใครทั้งนั้น จึงขอนำเสนอข้อมูลของอาการบ้าจี้เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจตรงกันว่า อาการบ้าจี้เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม เป็นคนบ้าจี้แล้วควรต้องดูแลตัวเองยังไงบ้าง

บ้าจี้

อาการบ้าจี้ คืออะไร

          อาการบ้าจี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Latah ซึ่งจริง ๆ แล้วคำนี้เป็นภาษามาเลเซียซึ่งหมายถึงกลุ่มอาการเฉียบพลันชนิดไม่รู้สึกตัว โดยในทางจิตวิทยาจัดกลุ่มอาการบ้าจี้ให้อยู่ในส่วนของจิตพยาธิวิทยา (Psychopathology) หรือกลุ่มอาการประหลาดที่เกิดขึ้นกับร่างกาย โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อม ความเชื่อ วัฒนธรรม รวมไปถึงบุคลิกภาพ

          ทั้งนี้อาการบ้าจี้ถูกค้นพบตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการอพยพของชาวต่างชาติเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก ทำให้แพทย์พบอาการผิดปกติทางร่างกายของชนชาติต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ เช่น พบอาการบ้าจี้ในชาวมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ หรือพบโรคทางจิตเวชในกลุ่มชาวเยอรมันและไอริชมากกว่าชนชาติอื่น ๆ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม อาการบ้าจี้ไม่ถือเป็นโรคทางจิตวิทยาหรือโรคทางกายภาพ เนื่องจากการตรวจทางจิตวิทยาพบว่า ผู้มีอาการบ้าจี้ก็มีสติปัญญาอยู่ในระดับที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เรียนได้ ทำงานได้ นอกจากนี้คนที่มีอาการบ้าจี้มักจะมีบุคลิกภาพที่กล้าแสดงออก เป็นกลุ่มคนที่ชอบออกสังคม (Extroversion) อีกด้วย
อาการบ้าจี้เกิดจากอะไร

          ในสมัยช่วงที่พบอาการบ้าจี้ระยะแรก ๆ นั้น จิตแพทย์หรือแพทย์ได้สันนิษฐานสาเหตุของอาการบ้าจี้โดยคาดว่าบุคลิกภาพ และปัจจัยส่งเสริมจากแวดล้อม รวมไปถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมเป็นต้นเหตุให้บุคคลเกิดพฤติกรรมบ้าจี้ได้

          ทว่าจิตแพทย์ปัจจุบันให้ความเห็นว่า อาการบ้าจี้อาจจัดอยู่ในกลุ่มอาการ Tic หรือ โรคทูเร็ตต์ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว หรือความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยโรค Tic หรือผู้มีอาการบ้าจี้ไม่สามารถควบคุมหรือยับยั้งการแสดงออกหรือคำพูดได้ในบางขณะ

บ้าจี้

บ้าจี้ อาการเป็นแบบไหน

อาการบ้าจี้สามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่


          1. อาการบ้าจี้เมื่อถูกสัมผัสในบริเวณที่ไวต่อความรู้สึก เช่น การจี้เอว ทำให้หัวเราะไม่หยุด เป็นต้น

          2. อาการบ้าจี้ที่ถูกกระตุ้นด้วยเสียงดัง หรือการกระทำที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกตกใจ อันเป็นเหตุให้ผู้มีอาการบ้าจี้แสดงพฤติกรรมหลุดการควบคุม เช่น พูดคำหยาบคายรัว ๆ หรือหลงแสดงอาการตามคำสั่งที่ได้ยิน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนแกล้งตะโกนใส่หูให้ปามือถือทิ้ง ผู้ป่วยที่ถูกกระตุ้นด้วยเสียงดัง ทำให้ตกใจ ก็จะพลั้งมือปาโทรศัพท์ทิ้งโดยทันที

บ้าจี้ รักษาได้ไหม

          หากอาการบ้าจี้ที่เป็นอยู่ไม่ได้ร้ายแรง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะด้านไหน ๆ เคสนี้อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก็ได้ โดยเฉพาะหากมีสติ รู้ตัว และคิดว่าสามารถควบคุมอาการบ้าจี้ของตัวเองได้

          แต่สำหรับผู้ที่มีอาการบ้าจี้ค่อนข้างรุนแรง และคิดว่าอาการบ้าจี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต อยากรักษาอาการบ้าจี้ให้หาย สามารถไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่าอาการบ้าจี้ของเรามีสาเหตุมาจากอะไร โดยแพทย์อาจจะซักประวัติอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุของอาการบ้าจี้ที่ผู้ป่วยเป็น รวมไปถึงหากผู้ป่วยมีอาการกังวล เครียด นอนไม่หลับ จากอาการบ้าจี้ที่เป็นอยู่ เคสนี้แพทย์อาจรักษาด้วยยาจิตเวช ร่วมกับพฤติกรรมบำบัดโดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีสมาธิ สามารถควบคุมอาการบ้าจี้ของตัวเองได้ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอีกต่อไป

บ้าจี้

บ้าจี้ ดูแลตัวเองยังไงดี


          สำหรับคนที่มีอาการบ้าจี้ในระดับที่ไม่รุนแรง โดยมีอาการบ้าจี้ประเภทที่ถูกกระตุ้นจากการสัมผัส จิตแพทย์ก็แนะนำให้บำบัดด้วยตัวเองโดยลองสัมผัสจุดที่อ่อนไหวน้อยที่สุดในร่างกาย (จุดที่มักไม่เกิดอาการจักจี้ เช่น หลังเท้า เป็นต้น) ไปทีละนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วเริ่มสัมผัสในบริเวณที่บ้าจี้มาก เช่น เอว ลำคอ ใบหู เพื่อให้เกิดความเคยชิน

          อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการบ้าจี้ประเภทแสดงอาการเคลื่อนไหว พูดจาหยาบคาย ตกใจง่าย สบถง่าย หากรู้สึกกังวลมาก ก็ควรพบแพทย์ หรือถ้าไม่ถึงขั้นรุนแรง งานวิจัยโดย น.พ.สงัน สุวรรณเลิศ ก็ให้ข้อมูลว่า การนั่งสมาธิ ฝึกวิปัสสนา สามารถช่วยให้อาการบ้าจี้ทุเลาลงได้

          นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการบ้าจี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้เกิดอาการบ้าจี้ รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ (ในรายที่มีอาการบ้าจี้ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตกใจ) หรือการอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง เช่น การถือของมีคม การอยู่ในที่ต่างระดับ เช่น หน้าผา หรือพื้นที่เสี่ยง ๆ อย่างตึกสูง ระเบียงชั้นสูง ๆ หรือริมถนนที่มีรถราขวักไขว่ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เกิดอุบัติเหตุต่อร่างกายจากอาการบ้าจี้ที่เป็นอยู่นั่นเอง

          แต่อย่างไรก็ตาม คนรอบข้างที่รู้ว่าเพื่อน พี่ น้อง คนในครอบครัวเรามีอาการบ้าจี้ ก็อยากแนะนำว่าอย่าแกล้งให้เขาบ้าจี้เพื่อความบันเทิงของตัวเองเลยดีกว่า หรือถ้าจะเล่นกันก็ควรมีสติ คิดให้รอบคอบว่าจะไม่เกิดอันตรายต่อคนที่มีอาการบ้าจี้ไม่ว่าจะทางใด ๆ ก็ตาม

          เพราะหากเล่นกันแรง ความเสี่ยงที่คนบ้าจี้จะได้รับอันตรายทางร่างกาย จิตใจ หรือเหตุการณ์อันตรายจนถึงแก่ชีวิตก็มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์สลดจากเรื่องที่คิดเพียงจะเล่นกันฮา ๆ หรอก จริงไหมคะ ?


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนบ้าจี้ ถูกกระตุ้นให้ตกใจ เล่นแผลง ๆ เสี่ยงตาย ต้องระวัง ! อัปเดตล่าสุด 8 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 14:41:34 37,921 อ่าน
TOP