x close

โรคกระจกตาโก่ง ขยี้ตาบ่อย เปลี่ยนแว่นตลอด อาจไม่รอดเป็นโรคนี้ !

โรคกระจกตาโก่ง

          สายตามัวลง เริ่มมองเห็นไม่ชัด ตาสู้แสงไม่ได้ ต้องรีบตรวจและรักษาให้หาย ถ้าไม่อยากเสี่ยงตาบอด !

          ขยี้ตาแรง ๆ ผลเสียย่อมตกอยู่ที่ดวงตา โดยเฉพาะคนที่ขยี้ตาบ่อย มีอาการมองเห็นไม่ค่อยชัด แสบตา ตาสู้แสงไม่ได้ แถมยังต้องเปลี่ยนแว่นสายตาอันใหม่เรื่อย ๆ ต้องเช็กแล้วล่ะค่ะว่าตัวเองกำลังมีภาวะกระจกตาโก่ง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Keratoconus อยู่หรือเปล่า แล้วภาวะกระจกตาโก่ง คืออะไร อันตรายแค่ไหน เรามารู้จักไปพร้อม ๆ กันเลย

กระจกตาโก่ง คืออะไร

          กระจกตาโก่ง หรือภาษาอังกฤษและทางการแพทย์เรียกว่า Keratoconus คือ ภาวะผิดปกติของกระจกตา เนื่องจากกระจกตามีลักษณะบางลง ทำให้กระจกตายื่นมาข้างหน้าเป็นรูปทรงกรวย ต่างจากกระจกตาปกติที่จะมีรูปทรงกลมหรือทรงรีเล็กน้อย

โรคกระจกตาโก่ง

โรคกระจกตาโก่ง

กระจกตาโก่ง สาเหตุของความผิดปกตินี้คืออะไร

          ภาวะกระจกตาโก่งเกิดจากเส้นใยคอลลาเจนอ่อนแอ หรือคอลลาเจนในชั้นกลางของกระจกตามีการเรียงตัวที่ผิดไป ไม่สม่ำเสมอ และหากไม่รีบรักษา ปล่อยให้เกิดภาวะนี้นาน ๆ เยื่อบุตาอาจมีการฉีกขาด เกิดเป็นแผลในลักษณะฝ้าขาว และค่อย ๆ หลุดไปในระหว่างการเปลี่ยนแปลงของเนื้อกระจกตา ทำให้กระจกตาบางลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณตรงกลางหรือค่อนมาทางด้านล่างเล็กน้อย ส่งผลให้กระจกตายื่นปูดออกมาข้างหน้า ก่อให้เกิดภาวะตาสั้น-เอียง มากขึ้น ทำให้สายตามัวลง มองเห็นไม่ชัด จนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ๆ

          ทว่าในบางรายที่มีการฉีกขาดของเยื่อบุตารุนแรง กระจกตาจะมีอาการบวมน้ำทันที โดยภาวะนี้จะเรียกว่า Acute hydrops ซึ่งลักษณะอาการจะคล้ายผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลัน เพียงแต่มักจะพบอาการนี้ในคนอายุน้อย และไม่ได้มีความดันตาสูงแต่อย่างใด ดังนั้นการวินิจฉัยโรคกระจกตาโก่งจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง

โรคกระจกตาโก่ง

กระจกตาโก่ง กระจกตาบาง เกิดจากอะไรได้บ้าง

    ในทางจักษุแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ที่มีภาวะกระจกตาโก่งสัมพันธ์กับปริมาณคอลลาเจนในกระจกตาที่ลดน้อยลง ซึ่งการที่คอลลาเจนในกระจกตาลดลงมักพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

    1. ผู้ที่มักจะขยี้ตาบ่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีอาการคันตามาก ๆ และมักจะขยี้ตาด้วยการใช้ข้อนิ้วกดลูกตา ซึ่งจักษุแพทย์เชื่อกันว่า พฤติกรรมนี้อาจส่งผลให้เกิดการโก่งของกระจกตาได้

    2. ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน ๆ ก็อาจส่งผลให้คอลลาเจนในกระจกตาบางลงได้

    3. ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นหรือเอียง โดยมีค่าสายตาสั้นหรือเอียงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ประมาณ 100 หรือ -1.0 ต่อปี) จนต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยครั้ง เคสนี้ก็ควรพึงระวังโรคกระจกตาโก่งด้วย

    4. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะกระจกตาโก่ง โดยพบว่า หญิงตั้งครรภ์จะมีการดำเนินโรคกระจกตาโก่งรุนแรงมากขึ้น

    5. ผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรม มีความเสี่ยงภาวะกระจกตาโก่งมากกว่าคนทั่วไป

    6. ผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน อันได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยกล้ามเนื้อหลอดเลือด น้ำเหลือง และเส้นประสาททั้งหลาย ซึ่งเชื่อว่าโรคเหล่านี้อาจทำให้คอลลาเจนมีการเรียงตัวที่ผิดปกติไป

    7. ผู้ป่วยโรคที่พบตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers Danlos), โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ (Osteogenic imperfecta) หรือโรคครูซอง (Crouzon syndrome) ก็พบภาวะกระจกตาโก่งได้มากกว่าคนทั่วไป

    8. จักษุแพทย์เชื่อว่ากรรมพันธุ์อาจมีผลประมาณ​ 20%

    9. พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในอัตราส่วน 2:1

โรคกระจกตาโก่ง

กระจกตาโก่ง อาการเป็นอย่างไร

    อาการบ่งชี้ว่ามีภาวะกระจกตาโก่งมักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 13 ปีขึ้นไป โดยจะมีการดำเนินโรคไปเรื่อย ๆ นาน 10-20 ปี ซึ่งอาการที่สังเกตได้จะมีดังต่อไปนี้

    - มีสายตามัวลงเรื่อย ๆ ร่วมกับเห็นภาพบิดเบี้ยวตั้งแต่วัยรุ่น

    - บางรายมีอาการเคืองตา แสบตา และตาสู้แสงไม่ค่อยได้

    - มีสายตาสั้นและเอียงค่อนข้างมาก โดยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว (100 หรือ -1.0 ต่อปี) และแม้จะใส่แว่นก็ไม่ค่อยชัด ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ๆ

    อย่างไรก็ตาม อาการกระจกตาโก่งมักจะเป็นทั้งสองข้าง โดยตาข้างหนึ่งอาจเป็นมากกว่าอีกข้าง หรือในระยะแรกอาจเป็นข้างเดียว ก่อนจะลามมาเป็นทั้งสองข้างในทึ่สุด

กระจกตาโก่ง ตรวจพบได้อย่างไร

    นอกจากอาการบ่งชี้เบื้องต้นดังที่กล่าวไปแล้ว เรามักจะตรวจพบภาวะกระจกตาโก่งโดยเครื่อง Corneal topography ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถตรวจดูแผนที่ความโค้งนูนของกระจกตาอย่างละเอียด ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ภาวะกระจกตาโก่งมักจะถูกตรวจพบโดยบังเอิญจากการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคตาอื่น ๆ และจักษุแพทย์มีความสงสัยถึงภาวะกระจกตาโก่ง จนนำมาซึ่งการตรวจวัดสายตาขั้นที่ลึกกว่าปกติ

โรคกระจกตาโก่ง
เครื่อง Corneal topography

    ดังนั้นเราเองก็ควรสังเกตความผิดปกติของสายตาอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากมีอาการที่เป็นสัญญาณของโรคกระจกตาโก่งเบื้องต้น เช่น มองเห็นไม่ชัดจนต้องตรวจวัดสายตาและเปลี่ยนแว่นบ่อย ๆ คัน แสบดวงตา ตาสู้แสงไม่ได้ เป็นต้น ที่สำคัญเมื่อเกิดความผิดปกติเหล่านี้ก็อย่านิ่งนอนใจ ขอให้รีบไปพบจักษุแพทย์และทำการรักษาโดยเร็วที่สุดดีกว่า

กระจกตาโก่ง รักษายังไง

    การตรวจพบภาวะกระจกตาโก่งในระยะแรกที่อาการยังไม่รุนแรงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยใส่แว่นสายตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ จากนั้นอาจจะรักษาต่อเนื่องด้วยการฉายแสง หรือการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา และปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีการรักษาภาวะกระจกตาโก่งด้วยการใส่วงแหวนขึงกระจกตาและการฉายแสงอัลตราไวโอเลตเอ (Crosslinking) ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการรผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา อันเป็นการรักษาแบบเดิมที่มีความซับซ้อนและต้องรอคอยกระจกตาจากผู้บริจาคอวัยวะ ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยก็ต้องรออวัยวะจากผู้บริจาคนานมาก



โรคกระจกตาโก่ง


กระจกตาโก่ง อันตรายไหม

    ภาวะกระจกตาโก่งจะส่งผลต่อค่าสายตา และหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้กระจกตาแตกจนน้ำในลูกตาซึมเข้าไป เกิดเป็นฝ้าขาว ขุ่น อักเสบบวม เป็นแผลเป็น จนกระจกตาพิการและร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้เลยนะคะ ฉะนั้นหากรู้สึกว่าสายตาตัวเองมีความผิดปกติ การตรวจเช็กกับจักษุแพทย์ให้แน่ชัดก็เป็นการดีที่สุด

โรคกระจกตาโก่ง

กระจกตาโก่ง ป้องกันได้ไหม

    วิธีป้องกันกระจกตาโก่งในคนที่ไม่ได้มีภาวะกระจกตาโก่งจากโรคที่เป็นมาโดยกำเนิด และไม่ได้มีปัญหาสายตาอื่นใดร่วมด้วย จักษุแพทย์แนะนำให้เลี่ยงการขยี้ตาแรง ๆ รวมไปถึงคนที่ชอบใส่คอนแทคเลนส์ค้างคืน ไม่ยอมถอด กรณีนี้ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระจกตาโก่งด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรใส่คอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคตาที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้นะคะ

    - 10 ข้อควรรู้ก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ถ้าไม่อยากตาบอด 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก สุขภาพตา โดย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย All About Eye by RCOPT
สภากาชาดไทย
สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกระจกตาโก่ง ขยี้ตาบ่อย เปลี่ยนแว่นตลอด อาจไม่รอดเป็นโรคนี้ ! อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2561 เวลา 15:25:26 26,745 อ่าน
TOP