x close

รับมือ 5 โรคฤดูหนาว

โรคหน้าหนาว

รับมือ 5 โรคฤดูหนาว (Lisa)

          ฤดูหนาวอาจฟังดูเย็นสบาย แต่ความจริงก็คือยังมีเชื้อโรคที่อาจเข้ามาทำลายสุขภาพของเรา โดยเฉพาะปอดบวม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และท้องร่วงที่พบได้บ่อย แถมยังมีศัตรูตลอดกาล อย่าง "หวัด" เข้ามาอีกด้วย มาทำความรู้จักกับวิธีป้องกันก่อนที่หนาวนี้จะทำร้ายเราถึงขั้วหัวใจ

          กรมอุตุนิยมวิทยาเผยว่า ปีนี้เมืองไทยเราจะหนาวที่สุดในรอบ 30 ปี แต่ภัยที่มากับความหนาวไม่ใช่แค่ลมเย็นยะเยือก แต่ยังรวมถึงเชื้อโรคที่กระจายตัวพร้อม ๆ กับลมหนาวอีกด้วย และนี่คือโรคที่กรมควบคุมโรคแนะนำให้คนไทยดูแลตัวเองดังนี้

1.ปอดบวม

          อีกหนึ่งโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก จำนวนผู้ป่วยทั้งหมดในปี 2552 อยู่ที่มากกว่า 239.000 คน ทำให้คนไทยเสียชีวิตถึง 14,542 คน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2543-2552) และนับเป็นโรคที่อันตรายโดยเฉพาะกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วพบเด็กป่วยมากกว่า 30,000 คน เสียชีวิต 17 คน

          โรคปอดบวมนั้นอาจเกิดจากอาการแทรกซ้อนของหวัด หรืออาจเป็นการติดเชื้อปอดบวมโดยตรง มีระยะเวลาฟักตัว 1-3 วัน หากมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบ หรือหายใจแรง ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลด่วน

          วิธีป้องกัน คล้ายกับโรคหวัดคือล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และไม่อยู่ใกล้ผู้ป่วย

2.หัด

          ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งก็คือเราอาจคิดกันว่า "เด็ก ๆ ต้องออกหัดทุกคน" ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย โรคหัดเกิดจากไวรัสหัดซึ่งติดต่อกันง่ายมาก โดยผ่านการไอ จามรดกัน โดยตรง แม้ว่าจะพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก แต่กับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเป็นหัดมาก่อน หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนก็อาจเป็นหัดได้

          โรคหัดมีระยะฟักตัว 8-12 วัน หลังจากนั้น จะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ผื่นขึ้นกระจายไปทั่ว และจางหายเองใน 14 วัน บางรายอาจมีปอดบวม ท้องร่วง ช่องหูอักเสบ หรือสมออักเสบร่วมด้วย จนทำให้เสียชีวิตได้

          วิธีป้องกัน ฉีดวัคซีน เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนหัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตอนอายุ 9-12 เดือน ส่วนครั้งที่ 2 อายุ 6-7 ขวบ

3.หัดเยอรมัน

          เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่แพร่เชื้อได้ง่ายมากผ่านการสัมผัสเสมหะน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ หากสตรีมีครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมันภายใน 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์ มีโอกาสสูงที่ทารกจะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อย่างเช่น หูหนวก ปัญญาอ่อน

          อาการของหัดเยอรมันอาจทำให้มีไข้ และออกผื่นหัด ผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอื่น บางรายมีโรคแทรกซ้อน อย่างเช่น ข้ออักเสบ สมองอักเสบ ในเด็กเล็กจะมีอาการเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ใหญ่แล้วอาการอาจจะมีอยู่ ประมาณ 1-5 วัน จึงควรหยุดงานประมาณ หนึ่งสัปดาห์ด้วย

          วิธีป้องกัน สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน หัดเยอรมัน อาจขอฉีดวัคซีนรวม MMR ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม

4.อีสุกอีใส

          ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง หรือการหายใจเอาละอองเสมหะ น้ำมูก และน้ำลายเข้าไปเช่นเดียวกับหัด หรือจากการสัมผัสตุ่มพองใสบนผิวหนังของผู้ป่วย และการใช้ภาชนะ หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย

          อาการเริ่มต้นจากมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมาจะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ ใบหน้า และตามลำตัว ทีแรกจะเป็นตุ่มแดง ๆ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสในวันที่ 2-3 นับจากวันที่เริ่มมีไข้ หลังจากนั้นตุ่มจะเป็นหนอง แล้วเริ่มแห้งตกสะเก็ด โดยทั่วไปจะไม่มีโรคแทรกซ้อน แต่บางคนอาจมีอาการทางสมองและปอดบวมได้

          วิธีป้องกัน เหมือนกับไข้หวัดและหัด คือไม่เข้าใกล้ผู้ป่วย

5.ท้องร่วง

          อาการท้องร่วงในฤดูหนาวมักเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภัยน้ำท่วมในปีนี้ โรคท้องร่วงจึงเป็นอีกภัยหนึ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อผ่านการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน นอกจากนี้ อาจติดต่อผ่านทางน้ำมูกหรือน้ำลาย ไม่เฉพาะทางอาหารเท่านั้น ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวหรือถึงชั้นเป็นน้ำบ่อยครั้ง บางรายอาจคลื่นเหียนอาเจียน มีไข้ขึ้น มีเลือด เมือก หรืออาหารที่ไม่ย่อยปนออกมากับอุจจาระ

          สำหรับคนที่ท้องร่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือถ่ายเป็นน้ำติดต่อกันสามครั้ง แล้วยังไม่ได้ดื่มน้ำเข้าไปทดแทน อาจมีอาการขาดน้ำปรากฏร่วมด้วย อย่างเช่น ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หัวใจเต้นเร็วและถี่ ปวดศีรษะ ผิวแห้ง มึนงง ในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์ด่วน

          อากาศที่เปลี่ยนไปกะทันหัน อาจทำให้ร่างกายปรับสุขภาพไม่ทันก็จริง แต่หากเราดูแลตัวเองดี ๆ เชื้อโรคทั้งหลายก็จะไม่สามารถมาย่างกรายเราได้ ขอให้มีความสุขและสุขภาพดีกับฤดูหนาวนะคะ


คิดว่ารู้จัก "หวัด" ดีพอแล้วหรือ ?

ลองทดสอบความรู้เกี่ยวกับหวัดและไข้หวัดใหญ่ดูหน่อย

1.คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว รู้สึกอ่อนเพลีย คุณอาจจะเป็น :

          A.หวัดธรรมดา
          B.ไข้หวัดใหญ่
          C.อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

2.ไอนิดหน่อย แต่ไม่มีไข้ ที่เป็นอยู่ก็คือ :

          A.หวัดธรรมดา
          B.ไข้หวัดใหญ่
          C.อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

3.คุณรู้สึกปวดหู ดังนั้น อาจจะเป็น :

          A.หูอักเสบ
          B.หวัดธรรมดา
          C.อาจเป็นได้ทั้งสองอย่าง

4.ไม่มีอาการปวดเมื่อยแล้ว แต่ก็ยังไงต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ สงสัยจะเป็นหวัดธรรมดาอยู่ ใช่มั้ย?

          A.ใช่
          B.ไม่ใช่
          C.ไม่แน่ใจ

5.ทำอย่างไร ถ้าผ่านไปสามวัน แล้วอาการหวัดมีแต่แย่ลง

          A.พักผ่อนให้มากขึ้น
          B.ไปพบแพทย์
          C.ซื้อยาจากร้านขายยา

เฉลย

          1.คัดจมูก ปวดเมื่อยตัว รู้สึกอ่อนเพลีย คุณอาจจะเป็น : ได้ทั้งสองอย่างทั้งหวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่อาจทำให้คุณปวดเมื่อย อ่อนเพลีย และมีน้ำมูก ทั้งสองโรคนั้นติดต่อไปหาคนอื่นได้ง่ายมาก ดังนั้น ถ้าคุณมีอาการอื่น ๆ เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก และจามบ่อย ๆ ก็ควรอยู่บ้านดีกว่าออกไปทำงาน

          2.ไอนิดหน่อย แต่ไม่มีไข้ ที่เป็นอยู่ก็คือ : หวัดธรรมดา อาการไข้หวัดใหญ่หายที่พบได้ทั่วไปก็คือ มีไข้และไอ บางครั้งอาการไอก็จะรุนแรงเสียด้วยซ้ำ แต่น้อยครั้งที่คุณจะมีไข้สูงเพราะหวัดธรรมดา 2-3 วันแรกอาจจะมีอาการ อย่างเช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ซึ่งแพร่กระจายให้คนอื่นได้ง่ายมาก

          3.คุณรู้สึกปวดหู ดังนั้น อาจจะเป็น : ได้ทั้งสองอย่าง หวัดธรรมดาอาจทำให้คุณมีน้ำมูกและนำไปสู่อาการปวดหูได้ แต่ในกรณีที่โชคร้าย มันอาจทำให้หูชั้นในติดเชื้อแบคทีเรีย หากคุณเจ็บหูจริง ๆ คุณอาจจะมีอาการหูอักเสบ ซึ่งมักไม่ค่อยหายเอง ดังนั้น ไปพบแพทย์จะดีกว่า

          4.ไม่มีอาการปวดเมื่อย แต่ก็ยังไอต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ สงสัยจะเป็นหวัดธรรมดาอยู่ใช่มั้ย? : ใช่ หวัดธรรมดาส่วนใหญ่จะหายไปใน 4-7 วัน แต่ก็อาจยืดออกไปถึง 2 สัปดาห์ โดยที่ยังไออยู่ แม้ว่าจะรู้สึกอ่อนเพลียหน่อย ๆ แต่ก็จะไม่แพร่เชื้ออีก ดังนั้น หลังจากกินยาแก้ไอหรือยาแก้แพ้ตามคำแนะนำของแพทย์ คุณก็พร้อมจะออกจากบ้านแล้ว

          5.ทำอย่างไร ถ้าผ่านไปสามวันแล้วอาการหวัดมีแต่แย่ลง : ไปพบแพทย์ ถ้าผ่านไปสามวันแล้วอาการแย่ลง คุณอาจมีอาการแทรกซ้อน อย่างเช่น การติดเชื้อ แบคทีเรีย ดังนั้น อย่ารีรอที่จะไปพบแพทย์หากคุณมีไข้สูง รู้สึกปวดหู ปวดศีรษะ ไซนัส และไอหนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอื่นรวมด้วย อย่างเช่น หอบหืด และจนกว่าจะรู้ว่าป่วยเป็นอะไรกันแน่ก็จงอยู่บ้าน

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.11 No.44 10 พฤศจิกายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือ 5 โรคฤดูหนาว อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2558 เวลา 13:29:12 5,683 อ่าน
TOP