x close

คันในร่มผ้า เกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันอย่างตรงจุด

          คันในร่มผ้า อาการคันยุบยิบที่ทำให้สาว ๆ ไม่สบายตัว เกิดจากอะไร มาดูกัน พร้อมวิธีการดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการคันในร่มผ้าค่ะ

คันในร่มผ้า

           อาการคันในร่มผ้า หรือคันบริเวณขาหนีบที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่การระคายเคืองทั่วไป ผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อต่าง ๆ ไปจนถึงโรคภัยไข้เจ็บที่กระทบต่อสุขภาพ  ดังนั้นเมื่อมีอาการก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย ต้องรีบหาทางดูแลรักษาให้ตรงจุด วันนี้เราจะพาสาว ๆ ทุกคนมารู้จักกับอาการคันยุบยิบบริเวณจุดซ่อนเร้นของผู้หญิง พร้อมวิธีดูแลตัวเองกันค่ะ

คันในร่มผ้า สาเหตุเกิดจากอะไร


          อาการคันในร่มผ้าของสาว ๆ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

1. การระคายเคืองจากสารเคมีหรืออาการแพ้

          มักเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี เช่น ขอบยางชุดชั้นใน ผ้าอนามัย น้ำยาซักผ้า ถุงยางอนามัย สบู่ ครีม หรือโลชั่น และผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย เป็นต้น ทำให้เกิดการระคายเคืองกับบริเวณที่บอบบางอย่างจุดซ่อนเร้น นอกจากนี้ การเสียดสีของชุดชั้นใน รอยพับที่ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ก็อาจทำให้เกิดอาการคันในบริเวณนี้ได้

          อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการคันในร่มผ้าจากการระคายเคือง ไม่ควรเกาหรือถู เพราะจะยิ่งทำให้คันมากขึ้นและอักเสบได้ จึงควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม ซึ่งจะช่วยลดการระคายเคืองลง

     ◆ แพ้ผ้าอนามัย แสบ คัน รักษายังไงดี 
 
     ◆ คันตามขอบกางเกงใน-เสื้อใน รักษาให้หาย แก้ให้ตรงจุด 

2. ความอับชื้น

           บริเวณอวัยวะเพศก็มีต่อมเหงื่อประเภทเดียวกับรักแร้ ทำให้ผลิตเหงื่อออกมามากกว่าต่อมอื่นในร่างกาย เมื่อโปรตีนจากเหงื่อทำปฏิกิริยากับแบคทีเรียบนผิวหนัง ก็อาจจะหมักหมม ทำให้เกิดความอับชื้นและอาการคันได้ โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกายแล้วมีเหงื่อออก รวมทั้งสาว ๆ ที่ใส่กางเกงคับ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนผ้าอนามัย วิธีแก้ก็ง่าย ๆ ด้วยการอาบน้ำหลังทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออก เช็ดให้ผิวแห้งสนิท และเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี  

3. การโกนหรือแว็กซ์ขนน้องสาว

คันในร่มผ้า

          การใช้มีดโกนหรือแว็กซ์กำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศอาจทำให้ผิวที่บอบบางเกิดการอักเสบ บวมแดง และเป็นผื่นคัน มิหนำซ้ำเวลาที่ขนขึ้นมาใหม่ ก็จะยิ่งคันมากกว่าเดิม และมีโอกาสที่จะเกิดขนคุดได้มากขึ้นด้วย จึงไม่ควรโกนหรือแว็กซ์ขนออก แต่ควรเล็มให้สั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อับชื้น

4. การสวนล้างช่องคลอด

          สาว ๆ บางคนคันในช่องคลอดหรือตกขาวมีกลิ่น แล้วใช้น้ำสบู่สวนล้างช่องคลอด เพราะเชื่อว่าจะทำความสะอาดได้ บอกเลยว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ค่อยดีนัก แท้จริงแล้วการทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่ถูกต้องควรทำเฉพาะภายนอกเท่านั้น ไม่ควรใช้สบู่หรือน้ำยาที่รุนแรงสวนล้างเข้าไปในช่องคลอด เพราะจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดีในช่องคลอดเสียสมดุลและถูกกำจัดออกไป เสี่ยงต่อการอักเสบและระคายเคืองมากขึ้นด้วย

5. ทรีตเมนต์เพื่อความงาม

          ผู้หญิงหลายคนหันมาใส่ใจกับจุดซ่อนเร้นมากขึ้น ด้วยการนำทรีตเมนต์ความงามต่าง ๆ มาใช้บำรุง เช่น ทำสปา และการมาสก์บริเวณจุดซ่อนเร้น ซึ่งอาจจะทำให้เนื้อเยื่อช่องคลอดที่บอบบางและอ่อนโยนเกิดการระคายเคืองและคันได้ จึงควรใช้ครีมหรือโลชั่นที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้เพื่อปกป้องผิว รวมทั้งทำให้ผิวแห้งและสะอาด และถ้าอาการคันรุนแรงขึ้น ควรหยุดทำทรีตเมนต์นั้นทันที

6. ความเครียด

          เชื่อไหมว่า ความเครียดก็เป็นสาเหตุของอาการคันในร่มผ้าเช่นกัน เพราะเมื่อรู้สึกเครียด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลงจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจทำให้มีอาการคันตามมา ดังนั้นลองสังเกตตัวเองดูก็ดีค่ะว่า อาการคันมักมาพร้อมกับความเครียดหรือเปล่า แล้วพยายามหาวิธีผ่อนคลายให้ตัวเอง

     ◆ 10 วิธีคลายเครียดให้หมดไป ภายในไม่กี่นาที

     ◆ 10 สมุนไพรคลายเครียด ช่วยผ่อนคลาย แก้เครียดง่าย ๆ ด้วยของใกล้ตัว 
 
7. วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

          ร่างกายของผู้หญิงในวัยทองจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้ผนังช่องคลอดบางและแห้ง จนเกิดการระคายเคืองและคันได้ หากเกิดจากสาเหตุนี้ สามารถใช้ครีมเอสโตรเจน หรือมอยเจอร์ไรเซอร์ในช่องคลอดเพิ่มความชุ่มชื้น รวมถึงการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น กินสมุนไพรหรืออาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมน

     ◆ วัยทองก่อนวัย อายุ 30 กว่า ๆ ก็เป็นได้ เหวี่ยงวีนง่าย รีบเช็กสัญญาณเตือน !

     ◆ 18 อาการทางกายของผู้หญิงวัยทอง พร้อมวิธีทำให้สตรองเหมือนเคย

8. โรคผิวหนังอักเสบหรือภูมิแพ้

          โรคผิวหนังบางชนิดหรือภูมิแพ้เฉพาะบุคคล เช่น โรคผื่นแพ้อักเสบ โรคสะเก็ดเงิน ผื่นแพ้ผิวหนังเดอร์มาโทกราเฟีย (Dermographism) หรือโรคไลเคน พลานัส (Lichen Planus) ซึ่งเป็นอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ก็ทำให้ผิวหนังเกิดผื่นแดงและคันได้ ถ้าสงสัยว่าอาการคันในร่มผ้าเกิดจากโรคต่าง ๆ เหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อแจ้งอาการและรักษาโดยเร็ว   

     ◆ โรคสะเก็ดเงิน ผื่นเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย ที่หลายคนไม่รู้ว่าแค่เครียดก็เป็นได้

     ◆ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง คัน ผิวแพ้ง่าย ดูแลอย่างไรไม่ให้ผื่นเห่อ

     ◆ โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ มีอะไรบ้าง ผื่นคันแบบนี้ป่วยโรคอะไร

9. เชื้อรา

         โดยปกติ ในช่องคลอดของผู้หญิงนั้นจะมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และเชื้อราหรือยีสต์อยู่ในระดับที่สมดุลอยู่แล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ เพราะแบคทีเรียจะช่วยควบคุมเชื้อราไม่ให้เจริญเติบโตมากเกินไป แต่ถ้าเมื่อไรที่เกิดความไม่สมดุลกันของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตอนตั้งครรภ์หรือใช้ยาคุมกำเนิด การสวนล้างที่จุดซ่อนเร้น การใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยารักษาโรคเบาหวาน หรือช่วงที่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ จะทำให้เชื้อราเพิ่มจำนวนขึ้นจนมีอาการติดเชื้อได้

         ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อราช่องคลอดที่พบบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อราชนิดแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) แม้จะมีอาการไม่รุนแรงนัก แต่ก็สร้างความรำคาญ เช่น แสบร้อนภายในหรือรอบ ๆ ช่องคลอด ตกขาวข้นขุ่น จับตัวเป็นก้อน ไม่มีกลิ่น ระคายเคือง รู้สึกแสบร้อนระหว่างมีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะได้

         สำหรับใครที่มีอาการคันในร่มผ้าที่เกิดจากเชื้อรา สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การใช้ครีมทารักษาเชื้อรา ยาเหน็บช่องคลอดที่มีส่วนผสมของน้ำมันทีทรีเจือจาง หรือยาเม็ดสำหรับรับประทาน รวมถึงเลือกกินอาหารเสริมโพรไบโอติกเป็นประจำเพื่อคืนสมดุลของแบคทีเรียและเชื้อราในช่องคลอด เช่น โยเกิร์ตรสธรรมชาติ เป็นต้น

     ◆ เชื้อราในช่องคลอด ยังไงก็ไม่รอดถ้ายังทำ 12 พฤติกรรมนี้ ! 

10. เชื้อแบคทีเรีย

          เมื่อแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอดลดลง จะทำให้แบคทีเรียก่อโรคเพิ่มจำนวนขึ้น จนเกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ เรียกอีกชื่อว่า ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (BV) โดยสาเหตุที่ทำให้แบคทีเรียชนิดดีลดลงยังไม่แน่ชัด แต่พฤติกรรมบางอย่าง เช่น สวนล้างช่องคลอด การใส่ห่วงอนามัย รวมทั้งกินของหมักดอง การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

          ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (BV) จะทำให้คุณสาว ๆ มีอาการคัน ปวด และแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ ตกขาวสีขุ่นคล้ำและมีกลิ่นคาวคล้ายปลาเค็ม โดยเฉพาะหลังมีเพศสัมพันธ์ สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ กินอาหารเสริมโพรไบโอติก และควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการรุนแรงขึ้น

11. ตัวโลน

          แมลงขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มของปรสิต และอาศัยอยู่กับร่างกายมนุษย์ พบได้มากที่สุดบริเวณอวัยวะเพศ และสามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน เมื่อโลนดูดเลือดของเราก็จะปล่อยน้ำลายที่มีสารก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง จึงเกิดตุ่มขึ้นตรงรอยกัด และจะมีอาการคันมาก ๆ ยิ่งเกาก็จะยิ่งติดเชื้อ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือการกำจัดขนบริเวณที่โลนอยู่ออกให้หมด และทายาหรือครีมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงจำพวกโลนหรือเหา

     ◆ ตัวโลนคืออะไร คันตา คันที่ลับจนทนไม่ไหว ต้องตรวจดูแล้วล่ะ !
 
12. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

คันในร่มผ้า

          เช่น หนองใน หนองในเทียม โรคเริมที่อวัยวะเพศ การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) และหูดที่อวัยวะเพศ จะทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองภายในหรือรอบ ๆ ช่องคลอดได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดปัญหาระยะยาวตามมา เช่น โรคเกี่ยวกับกระดูกเชิงกรานอักเสบ ภาวะการมีบุตรยาก หรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคยังสามารถถ่ายทอดถึงทารกที่อยู่ในครรภ์ได้

     ◆ โรคหนองในแท้ หนองในเทียม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยอดฮิต 

     ◆ เริมที่อวัยวะเพศ เกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไงได้บ้าง 
 
     ◆ หูดหงอนไก่...ของฝากตัวร้ายที่ติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์ 

13. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

          เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ท่อปัสสาวะ ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปวดกระดูกเชิงกราน รู้สึกแสบร้อนเวลาปัสสาวะ และปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นเหม็น ซึ่งถ้าบริเวณที่ติดเชื้ออยู่ใกล้ท่อปัสสาวะจะทำให้มีอาการคันในร่มผ้าร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจปัสสาวะและหาแบคทีเรีย รวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา
 
14. โรคเบาหวาน

          ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีผิวที่แห้ง ทำให้เกิดความผิดปกติทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น ตุ่มนูนแข็ง ผิวหนังหนาเป็นปื้น รวมถึงอาการคันในร่มผ้าบริเวณก้นและอวัยวะเพศ  สามารถรักษาด้วยการใช้โลชั่นหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ให้ความชุ่มชื้น และควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติอยู่เสมอ

15. โรคมะเร็งปากช่องคลอด

          ถ้ามีอาการคัน เลือดออกผิดปกติ หรือปวดบริเวณปากช่องคลอดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากช่องคลอด ซึ่งแม้โรคนี้จะพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดอาการขึ้นมาก็ไม่ควรเพิกเฉย เพราะถ้าตรวจเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้นะคะ

คันในร่มผ้า รุนแรงแค่ไหนถึงควรไปพบแพทย์


คันในร่มผ้า

          เมื่อสาว ๆ เกิดอาการคันในร่มผ้า อย่าปล่อยปละละเลย ควรสังเกตตัวเองว่าอาการคันที่เป็นผิดปกติหรือไม่ และรีบไปหาหมอ เมื่อเกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

     - อาการคันรุนแรง และเริ่มรบกวนชีวิตประจำวันหรือการนอนหลับ
     - คันติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์
     - มีแผลพุพองบริเวณช่องคลอด
     - ปวดหรือเจ็บบริเวณอวัยวะเพศ
     - ปัสสาวะขัด
     - ตกขาวผิดปกติ เช่น เป็นมูก สีคล้ำ หรือมีกลิ่นเหม็น
     - เจ็บหรือแสบที่อวัยวะเพศในระหว่างมีเพศสัมพันธ์

          โดยแพทย์อาจทำการตรวจบริเวณอวัยวะเพศ และซักถามอาการ จึงสามารถวินิจฉัยโรคที่เป็น พร้อมให้การรักษาที่ถูกวิธีต่อไป ซึ่งอาจแนะนำให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือใช้ยารักษาร่วมด้วย

คันในร่มผ้า ใช้ยาทาแบบไหน ต้องกินยาอะไร ?


          วิธีรักษาอาการคันในร่มผ้า สามารถทำได้ทั้งใช้ยาทาและยากิน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า อาการคันนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร หรือควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกร เพื่อให้ได้ยาในกลุ่มที่ถูกต้องและรักษาได้ตรงจุดที่สุด โดยยาทาและยากินที่นิยมใช้บรรเทาและรักษาอาการคันในร่มผ้า มีกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

     • กลุ่ม Corticosteroid เช่น Hydrocortisone หรือ Clobetasol เป็นยาสเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สำหรับรักษาอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง หรือโรค Lichen Sclerosus

     • กลุ่ม Metronidazole (Flagyl), Metronidazole (MetroGel) gel หรือครีม Clindamycin (Cleocin) สำหรับรักษาอาการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย

     • ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาอาการคันที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม โรคหนองใน และ Trichomoniasis

     • กลุ่มครีมหรือยาเหน็บต้านเชื้อรา เช่น Miconazole (Monistat 1), Clotrimazole, Butoconazole หรือ Tioconazole (Vagistat-1) หรือยาต้านเชื้อรา เช่น Fluconazole (Diflucan) สำหรับรักษาอาการคันที่เกิดจากการติดเชื้อรา

     • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน สำหรับอาการคันที่เกิดจากภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน

     • กลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) บรรเทาอาการระคายเคืองหรืออาการแพ้

          นอกจากนี้อาจมียากลุ่มอื่น ๆ ที่แพทย์จะสั่งให้ ในกรณีที่อาการคันเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วด้วย

คันในร่มผ้า ดูแลและป้องกันอย่างไร ?


คันในร่มผ้า

          สาว ๆ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลตัวเองง่าย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงอาการคันในร่มผ้าได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

     • ไม่ควรเกาหรือถูบริเวณจุดซ่อนเร้น เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองรุนแรงและอักเสบได้
     • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม ๆ เช่น กระดาษชำระ ครีมอาบน้ำ สบู่ แป้งฝุ่น หรือสเปรย์ กับบริเวณช่องคลอด รวมทั้งผ้าอนามัยแบบสอดหรือผ้าอนามัยที่มีกลิ่นหอมด้วย
     • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะจะทำให้สารเคมีในช่องคลอดเปลี่ยนแปลง และเสี่ยงต่ออาการอักเสบอื่น ๆ อีกด้วย
     • ล้างช่องคลอดด้วยน้ำเท่านั้น และไม่ควรใช้สบู่ล้างเข้าไปในช่องคลอด แต่สามารถใช้สบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะที่ไร้กลิ่นได้
     • สวมใส่ชุดชั้นในหรือเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น เช่น ผ้าฝ้าย แต่ควรเลี่ยงชุดชั้นในที่ทำจากผ้าใยสังเคราะห์และไนลอน เพราะระบายอากาศไม่ดี จะยิ่งกักเก็บความชื้นทำให้คัน
     • ไม่สวมเสื้อผ้าที่คับแน่นจนเกินไป
     • เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกหรือชื้นทันทีหลังจากว่ายน้ำหรือออกกำลังกาย
     • เปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน ไม่ใส่ซ้ำ
     • ซับที่ช่องคลอดให้แห้งสนิทก่อนสวมชุดชั้นใน
     • เช็ดทำความสะอาดหลังปัสสาวะและอุจจาระ จากด้านหน้าไปด้านหลัง
     • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสช่องคลอดในการใส่ผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอด
     • เมื่อมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 ชั่วโมง เพื่อลดการอับชื้น
     • ถ้ามีอาการคันช่องคลอด ครรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
     • ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
     • กินอาหารหรืออาหารเสริมที่มีโพรไบโอติก เช่น โยเกิร์ตธรรมชาติ เพื่อปรับสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ
     • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หากเป็นโรคเบาหวาน

          อาการคันในร่มผ้า หรือคันบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอด เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย เมื่อรู้สาเหตุแล้ว ก็จะรักษาและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องคันอีกต่อไป !

หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
medicalnewstoday.com (1), (2), (3)
healthline.com (1), (2)
womenshealthmag.com
verywellhealth.com
everydayhealth.com
webmd.com
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คลินิกโรคระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คันในร่มผ้า เกิดจากอะไร พร้อมวิธีป้องกันอย่างตรงจุด อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15:53:42 1,143,137 อ่าน
TOP