x close

เช็ก 20 สัญญาณภาวะสูงวัย เป็นแบบนี้เมื่อไร...เริ่มแก่ !

          อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มสงสัยว่าเราแก่แล้วหรือยัง งั้นมาฟังสัญญาณเตือนของร่างกาย ถ้ามีอาการต่อไปก็ใช่...เริ่มเข้าสูงภาวะสูงวัยแล้วจ้ะ
สัญญาณผู้สูงวัย
 
          อายุเป็นเพียงตัวเลขก็จริง แต่สังขารที่เสื่อมลงเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่แล้วสัญญาณอะไรล่ะที่จะบอกได้ว่าเราเริ่มแก่แล้ว หรือเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ นอกจากจะเช็กอายุกันจากเพลงที่เคยฟัง ของเล่นในแต่ละยุคแล้วละก็ ยังมีสัญญาณจากร่างกายดังต่อไปนี้ที่จะบอกเราได้ว่า อายุอานามไม่ใช่น้อย ๆ แล้วนะ...เริ่มแก่แล้วล่ะ ไหนลองมาเช็กกันค่ะ เรามีสัญญาณดักแก่กี่ข้อกัน

1. เริ่มมีคนทัก

          เมื่อร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง สังขารเริ่มเสื่อมถอย อาการแสดงออกภายนอกจะค่อนข้างชัดเจนจนคนรอบตัวทักเราได้ว่า ดูแก่ขึ้นนะ

2. ผมร่วง ศีรษะล้าน

          ความเสื่อมของฮอร์โมนในร่างกายเป็นเหตุให้ผมที่เคยดก หนา เริ่มมีอัตราผมร่วงมากขึ้นในผู้หญิง ส่วนผู้ชายจะเริ่มผมบางลง หรือมีภาวะหัวเถิก หัวล้านอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้เส้นผมที่เคยเงางามยังแลดูขาดความชุ่มชื้น แข็งกระด้างขึ้นด้วยนะคะ

สัญญาณผู้สูงวัย

3. ผมหงอก

          สีผมที่เปลี่ยนไปโดยธรรมชาติ จากสีดำเป็นสีเทาออกขาว หรือที่เราเรียกว่าผมหงอกก็เป็นสัญญาณหนึ่งของความชราที่หลายคนต้องปกปิดด้วยการย้อมผมกันเลยทีเดียว

4. แข็งแรงน้อยลง

          จากที่เคยแข็งแรง อึดกว่านี้ เคยยกของได้หนักกว่านี้ วิ่งได้นานกว่านี้ เดินได้ไกลกว่านี้ แต่ก็สังเกตเห็นได้ชัดว่าตัวเองมีกำลังวังชาลดน้อยลง ถือของหนัก ๆ ก็เริ่มจะไม่ไหวแล้ว

5. ริ้วรอยบนใบหน้า ตีนกามาเยือน

          เมื่ออายุมากขึ้น ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเริ่มลดน้อยลง ส่งผลให้ผิวพรรณที่เคยเต่งตึง เริ่มเหี่ยวย่น หย่อนยาน มีริ้วรอยแห่งวัยขึ้นตามหางตา ร่องแก้ม หัวคิ้ว เป็นต้น

สัญญาณผู้สูงวัย

6. คอเหี่ยวย่น

          นอกจากริ้วรอยบนใบหน้าแล้ว ยังมีรอยเหี่ยวย่น หย่อนคล้อยบริเวณลำคอที่เกิดจากกระบวนการผลิตคอลลาเจนของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ผิวพรรณขาดความชุ่มชื้น มีริ้วรอยตั้งแต่ใบหน้าลงไปถึงลำคอและผิวส่วนอื่น ๆ

7. หน้าอกหย่อนยาน

          นี่ก็เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ผลิตน้อยลง บวกกับไขมันบริเวณหน้าอกลดน้อยลง ส่งผลให้เต้านมของผู้หญิงหย่อนยานกว่าเดิม

แปรงฟัน

8. ฟันยาวขึ้น

          คนสูงวัยมักจะเกิดภาวะเหงือกร่น ทำให้ฟันดูยาวกว่าเดิมเล็กน้อย โดยเฉพาะคนที่ชอบแปรงฟันแรง ๆ จะสังเกตเห็นฟันตัวเองยาวขึ้นประมาณ 1-4 นิ้วค่อนข้างชัดเจนกว่าใคร

9. โทนเสียงเปลี่ยนไป
         
          เมื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัย ผู้หญิงจะมีเสียงทุ้ม ส่วนผู้ชายกลับมีเสียงแหลม เนื่องจากกระดูกอ่อนภายในกล่องเสียงของผู้ชายมีความบางและยืดหยุ่นน้อยลง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเส้นเสียงหย่อน เสียงจึงสั่นและเพิ่มโทนแหลมนั่นเอง

          ส่วนเสียงทุ้มในผู้หญิงเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวบำรุงกระดูกอ่อนถูกผลิตน้อยลงหรือหายไปหลังหมดประจำเดือน ทำให้เส้นเสียงบวมมากกว่าปกติ เสียงจึงทุ้มต่ำลง

แว่นตา

10. สายตายาว

          อายุมากขึ้นทำให้สายตายาวขึ้นโดยอัตโนมัติ รวมไปถึงหลายคนยังเริ่มมีปัญหาสายตาอย่างสายตาพร่ามัว มองเห็นไม่ค่อยชัด หรือมีอาการจอประสาทตาเสื่อม และโรคต้อกระจก เป็นต้น

11. กล้ามเนื้อลดน้อยลง

          จะสังเกตได้ว่ามวลกล้ามเนื้อในร่างกายลดน้อยลง โดยเฉพาะหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป มวลกล้ามเนื้อในร่างกายจะลดลงประมาณ 3-5% ทุก ๆ 10 ปี จากผิวหนังที่ตึงแน่น กระชับไปด้วยมวลกล้ามเนื้อ ผิวหนังก็จะย้วย นิ่ม และเหลวมากกว่าเดิมค่อนข้างมาก

สัญญาณผู้สูงวัย

12. มวลกระดูกก็ลดลง

          หลังอายุ 30 ปี กระดูกจะไม่มีการเสริมสร้างแล้ว แต่จะคงสภาวะเอาไว้ ซึ่งหากเราไม่ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ก็อาจจะเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน และภาวะกระดูกหักง่ายตามมา โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะยิ่งเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมากขึ้นโดยอัตโนมัติเลยนะคะ

13. อ้วนง่าย น้ำหนักตัวขึ้น

          ระบบเผาผลาญของผู้สูงวัยจะด้อยประสิทธิภาพลง อีกทั้งการที่กล้ามเนื้อเราลดหายก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลงด้วยนะคะ เพราะกล้ามเนื้อมีส่วนสำคัญในกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกายมากเลยล่ะ ดังนั้นต่อให้กินเท่าเดิมก็สามารถอ้วนขึ้นได้ง่าย ๆ นะคะ

14. หู จมูก และเท้าใหญ่ขึ้น

          ภาวะหย่อนคล้อยไม่ได้เกิดขึ้นกับผิวหนังเท่านั้น แต่การที่กระดูกอ่อนของร่างกายบางลง ยังอาจส่งผลให้ผิวหนังหย่อนคล้อยมากขึ้น จนดูเหมือนติ่งหูยาวขึ้น ปลายจมูกยาวและมีลักษณะงุ้มลง อีกทั้งหากมีภาวะเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกยืดหยุ่นน้อยลง อาจจะสังเกตเห็นว่านิ้วหัวแม่เท้าแบออก และส่วนโค้งของฝ่าเท้าแบนราบกว่าเดิม ทำให้เท้ามีขนาดใหญ่และกว้างขึ้น จนอาจต้องซื้อรองเท้าคู่ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมทุก ๆ สิบปี โดยเฉพาะหลังอายุ 40 ปีขึ้นไป

สัญญาณผู้สูงวัย

15. ขี้ลืม

          นอกจากเรื่องฮอร์โมนในร่างกายแล้ว การทำงานของระบบประสาทและสมองก็จะเสื่อมลงตามอายุขัยด้วย ส่งผลให้เกิดอาการขี้หลงขี้ลืม ตัดสินใจช้า คิดก็ช้าลงตามไปด้วย

16. นอนไม่หลับ

          ปัญหาการนอนหลับมักจะเกิดในผู้สูงวัยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะนอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือภาวะสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือรุ่งเช้า ดังนั้นใครที่เริ่มนอนน้อยลงและมักจะตื่นแต่เช้าตรู่โดยที่ร่างกายตื่นเอง นอนต่อไม่ได้เอง นี่เป็นสัญญาณที่บอกได้เลยว่าคุณเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วนะจ๊ะ

17. อารมณ์เปลี่ยนแปลง

          โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การปรับอารมณ์แย่ลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นผู้หญิงสูงวัยจึงมักจะหงุดหงิดง่าย ส่วนผู้ชายอาจจะมีอารมณ์เหวี่ยงเล็ก ๆ น้อย ๆ หรืออาจไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนี้เลย

อาการวัยทองในผู้หญิง

18. เคลื่อนไหวช้าลง

          ความกระฉับกระเฉงเป็นสัญญาณของการมีไฟ เป็นลักษณะที่บ่งบอกได้ว่าร่างกายเรายังแข็งแรงและมีความแอ็คทีฟสูง แต่ในผู้สูงวัยที่มวลกล้ามเนื้อถดถอย กระดูกก็บางลง แข็งแรงน้อยลง รวมทั้งปัญหาน้ำหนักตัวที่ทำให้อ้วนง่ายขึ้น ก็จะกระทบไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้เคลื่อนไหวช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการเดิน การลุก หรือแม้แต่การนั่ง

19. ภาวะหมดประจำเดือน

          ผู้หญิงในช่วงอายุระหว่าง 45-59 ปี ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศลดลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเมื่อประจำเดือนหมดไปนานกว่า 1 ปี ซึ่งถือว่าเข้าสู่ "วัยทอง" อย่างแท้จริง

          - 18 อาการทางกายของผู้หญิงวัยทอง พร้อมวิธีทำให้สตรองเหมือนเคย 

20. เริ่มป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

          อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งหากไม่ได้ดูแลสุขภาพเท่าไรนัก ในวัยกลางคนหรืออายุ 40 ขึ้นไปก็อาจจะเริ่มป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

สัญญาณผู้สูงวัย

ดูแลสุขภาพอย่างไร ให้สูงวัยอย่างสมาร์ท

          การรับมือกับภาวะสูงวัยควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยหนุ่มสาวเลยล่ะค่ะ ด้วยการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลอารมณ์ตัวเองให้แฮปปี้อยู่ตลอดเวลา มองโลกในแง่ดี ไม่เครียด และเมื่อจิตใจเบิกบาน ความสดใสเปล่งปลั่งก็จะอยู่คู่กับเราได้นานเหมือนกันค่ะ

          อย่างไรก็ดี นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแล้ว บริบทในสังคมก็อาจถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างเคยเป็นผู้นำครอบครัว เคยมีพาวเวอร์อยู่พอสมควร แต่พอแก่ตัวลง บทบาทที่เคยมีและเคยเป็นอาจจะลดน้อยลงไป กลายเป็นคนรุ่นลูกที่มายืนอยู่ในจุดผู้นำครอบครัวแทน ซึ่งก็อยากแนะนำให้คนสูงวัยรู้จักปรับตัวกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยนะคะ เพื่อป้องกันโรคซึมเศร้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในวัยนี้

          - เช็กอาการโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ...เรื่องใกล้ตัวที่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
- เฟซบุ๊ก Mahidol University 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็ก 20 สัญญาณภาวะสูงวัย เป็นแบบนี้เมื่อไร...เริ่มแก่ ! อัปเดตล่าสุด 3 กรกฎาคม 2563 เวลา 17:41:58 55,030 อ่าน
TOP