x close

นกพิราบ อันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด ทำป่วยได้หลายโรค !

          อันตรายจากนกพิราบต่อร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเชื้อโรคจากขี้นกพิราบถือว่าเป็นพาหะที่ส่งผลร้ายแรงถึงสมองได้เลย

นกพิราบ

          นกพิราบมักจะรวมตัวอยู่กันเป็นฝูงและเป็นนกที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะสวนสาธารณะ ป้ายรถเมล์ หรือแม้แต่บริเวณหน้าบ้านของเราเองก็ยังมีฝูงนกพิราบมาอาศัยอยู่กิน แถมยังขี้เลอะเทอะเกลื่อนพื้นจนเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ขี้นกพิราบ อันตรายไหม ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคือใช่ค่ะ ขี้นกพิราบอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เราอยู่แล้ว ส่วนอันตรายจากนกพิราบจะก่อโรคอะไรได้บ้าง ลองมาอ่านเลย

นกพิราบ อันตรายไม่ธรรมดา พาป่วยได้หลายโรค


          เห็นนกพิราบตัวเล็ก ๆ อย่างนั้น แต่พกเชื้อโรคต่าง ๆ ไว้ไม่น้อยเลยนะคะ และอาจก่อโรคได้เกินที่เราคาดคิดซะอีก เช่น

  • โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis)

         
          โรคคริปโตคอกโคสิส คือ โรคสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมน (Cryptococcus Neoformans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้มากในมูลนกพิราบ แถมเป็นเชื้อที่แพร่และเติบโตได้ง่าย โดยเชื้ออาจจู่โจมปอดก่อนที่แรก เพราะส่วนใหญ่คนจะรับเชื้อตัวนี้เข้าไปจากการสูดดม ลักษณะอาการจะคล้ายกับปอดอักเสบ คือ มีไข้ ปวดศีรษะแบบเป็น ๆ หาย ๆ วิงเวียนศีรษะ ปวดเบ้าตา อาเจียน ไอเป็นเลือด หลังจากนั้นเชื้ออาจแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ และก่อโรคอื่นต่อไป

  • ปอดอักเสบ 

        
          อย่างที่บอกว่าการสูดดมเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมน (Cryptococcus Neoformans) อาจทำให้ปอดป่วยได้ โดยอาการก็จะคล้ายกับโรคคริปโตคอกโคสิส คือ มีไข้ ปวดศีรษะแบบเป็น ๆ หาย ๆ วิงเวียนศีรษะ ปวดเบ้าตา อาเจียน ไอเป็นเลือด เป็นต้น 


  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ


          หากสูดดมเชื้อแล้วไปติดเชื้อในส่วนของสมอง จะทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นไข้ ไอ ปวดหัว คลื่นไส้ อาจมีเลือดกำเดาไหล หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป หรือหากติดเชื้อแบคทีเรียแล้วอาการหนัก อาจชัก หมดสติ เป็นอัมพาต สมองพิการ หรืออาจเสียชีวิตได้


  • ไข้หวัดนก 

         
          เป็นหนึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอในสัตว์ปีก โดยเฉพาะการติดเชื้อสายพันธุ์ H5N1 ที่ก่อโรคไข้หวัดนกในคน ทำให้มีอาการคล้ายหวัดทั่วไป เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ไอ คัดจมูก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น



  • โรคไข้นกแก้ว หรือโรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)


          แม้จะชื่อว่าไข้นกแก้ว แต่สาเหตุของโรคนี้ก็เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci ที่อยู่ในนกพิราบนี่แหละค่ะ โดยอาการจะไม่รุนแรงมาก อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ไอแห้ง ปวดกล้ามเนื้อ แต่หากภูมิคุ้มกันต่ำก็อาจทำให้เกิดโรคปอดบวมได้เช่นกัน


  • โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis) 


          เกิดจากการรับประทานอาการที่มีเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) จากนกพิราบปนเปื้อนอยู่ โดยอาการจะเริ่มจากมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด เป็นต้น


  • โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)

         

          เกิดจากการติดเชื้อราฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ที่มักแฝงอยู่ในดินที่นกพิราบถ่ายมูลทิ้งไว้ และหากติดเชื้อตัวนี้เข้าไปก็จะแสดงอาการไข้ ไอ เมื่อยล้า ทว่าในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาการมีอาการรุนแรงกว่านี้ได้
         
          นอกจากนี้ในตัวนกพิราบยังมีไรนก พยาธิ ไวรัสตับอักเสบบี เชื้อแบคทีเรียคลามัยเดียที่ก่อโรคปอดบวม อย่างไรก็ดี ในคนที่มีร่างกายแข็งแรง ภูมิคุ้มกันทำงานได้เต็มที่ อาจได้รับอันตรายจากนกพิราบไม่มากนัก แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ คนที่กินยากดภูมิ คนมีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำมาตั้งแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ติดเชื้อ HIV หากได้รับเชื้อคริปโตคอกโคสิสจากนกพิราบเข้าไปอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อจนป่วยได้มากกว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติดีถึง 1,000 เท่า เลยนะคะ ดังนั้นควรระมัดระวังตัวเองจากนกพิราบให้มาก ๆ 

นกพิราบ

เชื้อโรคจากนกพิราบ ติดต่อสู่คนได้ทางไหน


          เชื้อโรคจากขี้นกพิราบ หรือไรฝุ่นจากตัวนกพิราบ สามารถติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัสมูลนก หรือการสูดดมเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไปมาก ๆ ก็จะไปสะสมเติบโตในร่างกาย หากเป็นคนที่สุขภาพปกติมักพบที่บริเวณปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ แต่หากเป็นผู้ป่วยซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อราจะเติบโตและอาจกระจายไปตามกระแสเลือด แพร่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง ได้ อันเป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ 

อันตรายจากนกพิราบ ใครเสี่ยงบ้าง

          - คนที่สัมผัสมูลนกพิราบ หรือมีความใกล้ชิดกับนกพิราบ เช่น ฝูงนกชอบมาหากินอยู่แถว ๆ บ้าน พนักงานทำความสะอาดที่ต้องเก็บกวาดมูลนกพิราบ ผู้ที่เลี้ยงนกพิราบ หรือชอบให้อาหารนกพิราบ เป็นต้น

          - บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่มีนกพิราบบินผ่าน หรือมาถ่ายทิ้งไว้ เช่น คอนโดที่นกพิราบชอบมาอาศัยตรงระเบียง เป็นต้น

          - เด็กเล็ก

          - ผู้สูงอายุ
 
          - ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

          - ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV เป็นต้น
     
นกพิราบ

เชื้อโรคจากนกพิราบ อาการป่วยเป็นยังไง

         
          หากร่างกายได้รับเชื้อราและเชื้อโรคจากนกพิราบนานวันเข้า เชื้อราจะค่อย ๆ เจริญเติบโตในร่างกายอย่างช้า ๆ ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเป็นพัก ๆ วิงเวียน หน้ามืด ปวดขมับ ปวดเบ้าตา ไอ มีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ น้ำหนักลด โดยอาจมีอาการหลอดลมอักเสบได้ด้วย หรือบางรายอาจถึงขั้นอาเจียน แต่ในบางคนอาจไม่มีอาการแสดงออก อาการป่วยมักจะแสดงออกเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น

ติดเชื้อจากนกพิราบ รักษาได้ไหม

         
          ส่วนมากเชื้อราจากนกพิราบจะก่อโรคอย่างช้า ๆ จนเราแทบไม่รู้สึกตัวว่าติดเชื้อมา รู้ตัวอีกทีก็อาจมีอาการทรุดหนักเพราะเชื้อราแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว ซึ่งในเคสนี้ก็ควรได้รับการรักษาตามอาการ และได้รับยาฆ่าเชื้อรา รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียตามอาการของผู้ป่วยไป

          อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้วหากไม่ได้คลุกคลีกับนกพิราบมากนัก ไม่ได้สูดดมเอาละอองสกปรกจากนกพิราบเข้าปอดมาก ๆ ไม่ได้สัมผัสมูลนกพิราบ โอกาสเสี่ยงติดเชื้อจนก่อให้เกิดอันตรายก็จะลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้นการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลเชื้อโรคจากนกพิราบก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำนะคะ

นกพิราบ

วิธีป้องกันเชื้อโรคจากนกพิราบ


          เบื้องต้นเราสามารถป้องกันเชื้อโรคจากนกพิราบด้วยตัวเอง โดยใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องเดินผ่านฝูงนกพิราบ หรือต้องทำความสะอาดพื้นที่ที่มีมูลนกพิราบ และสิ่งสกปรกจากนกพิราบเกลื่อนอยู่

          นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้นกพิราบทุกกรณี และหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เลือกรับประทานอาหารปรุงสุก สด ใหม่ และควรมีวิธีกำจัดนกพิราบไม่ให้มาอาศัยใกล้แหล่งชุมชนที่เราอยู่ด้วยนะคะ


*หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นกพิราบ อันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด ทำป่วยได้หลายโรค ! อัปเดตล่าสุด 23 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09:34:15 122,101 อ่าน
TOP