x close

กระชายดำ สมุนไพรไทยรสขมเผ็ดร้อน สรรพคุณเลิศกว่าเพิ่มความฟิตปั๋ง


          กระชายดำ เป็นสมุนไพรไทยที่โดดเด่นเรื่องเพิ่มสมรรถภาพและมีสรรพคุณเพิ่มฮอร์โมนเพศ แต่ใครเลยจะรู้ว่าสรรพคุณของกระชายดำยังรักษาโรคต่าง ๆ อีกสารพัดด้วย


          ถ้าพูดถึงสมุนไพรช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ นอกจากโสมเกาหลีแล้วยังมีกระชายดำหรืออาจเรียกว่า โสมไทยก็ได้ เพราะมีสรรพคุณคล้ายคลึงกับโสมมาก แถมราคาก็ถูกกว่ามากด้วย แต่นอกจากสรรพคุณช่วยเรื่องสมรรถภาพทางเพศหรือช่วยเรื่องฮอร์โมนแล้ว กระชายดำยังช่วยรักษาโรคและมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วยนะคะ เอาล่ะ… ตามมารู้จักกระชายดำให้มากขึ้นกันหน่อยดีกว่าจ้า

กระชายดำ

          กระชายดำ อยู่ในวงศ์เดียวกับ ขิง เนื่องจากมีเหง้าคล้ายขิง มีชื่อที่คุ้นเคยว่า โสมไทย หรือโสมกระชายดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia parviflora ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Black Ginger คนภาคเหนือเรียกว่า กะแอน ระแอน ว่านกั้นบัง ว่านกำบัง ว่านกำบังภัย ว่านจังงัง ว่านพญานกยูง ถ้าเป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดมหาสารคามเรียกว่า ขิงทราย

กระชายดำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กระชายดำ

          ใบเดี่ยวรูปรีหรือรูปไข่ของกระชายดำจะแทงก้านขึ้นมาจากหัวใต้ดินสีเขียวสด ขนาดใบกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ลักษณะปลายใบแหลม ขอบใบหยักตามเส้นใบ ผิวใบเป็นร่องคลื่นตามแนวเส้นใบ ส่วนโคนก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น และขอบก้านใบมีสีแดงอ่อน กลางก้านเป็นร่องลึก

          ดอกออกเป็นช่อแทรกขึ้นมาบริเวณซอกก้านใบ ช่อละหนึ่งดอก ดอกมีสีชมพูอ่อน ริมปากดอกสีขาว ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กลีบดอกที่ส่วนโคนเชื่อมเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร เกสรตัวผู้จะเหมือนกลีบดอก อับเรณูอยู่ใกล้ปลายท่อ เกสรตัวเมียมีขนาดยาวเล็ก ยอดเป็นรูปปากแตรไม่มีขน

          เหง้าเป็นรูปทรงกลมเรียงต่อกันเป็นปุ่มปม ส่วนใหญ่มีขนาดเท่ากัน มีหลายเหง้าและอวบน้ำ ผิวเหง้ามีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ถ้าพบรอยที่ผิวเหง้านั่นเป็นบริเวณที่จะงอกของต้นใหม่ ส่วนเนื้อภายในของเหง้ามีสีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงสีม่วงดำ เหง้ามีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีรสชาติขมเล็กน้อย
 
กระชายดำ

การขยายพันธุ์กระชายดำ

          กระชายดำเป็นพืชชอบสถานที่ร่ม ๆ ปลูกในดินร่วนซุยหรือเป็นดินปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ยิ่งอากาศหนาวเย็นยิ่งเจริญเติบโตดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแบ่งเหง้าออกมาปลูก ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าอยากได้หัวหรือเหง้ามีคุณภาพต้องปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล คือปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

กระชายดำ กับสรรพคุณทางยา

          เหง้า ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับลม แก้บิด แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยรักษาอาการโรคกระเพาะจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์พบว่า กระชายมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบเทียบได้กับยาหลายชนิด เช่น แอสไพริน อินโดเมธาซิน และเพรดนิซิโลน
    
กระชายดำ

กระชายดำ กับ สรรพคุณด้านอื่น ๆ

          - เพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย โดยอ้างอิงจากจุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้ามีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศ มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต และกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศผู้ของคนที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี ทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว

          ขณะเดียวกัน เมื่อให้อาสาสมัครเพศชาย อายุ 65 ปีขึ้นไป ทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ เป็นเวลา 2 เดือน ก็พบว่า สามารถเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ (erotic stimuli) ของอาสาสมัครได้ รวมทั้งเพิ่มขนาดและความยาวขององคชาติ เพิ่มความพึงพอใจต่อการแข็งตัว แต่เมื่อหยุดให้สารสกัดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงเห็นได้ว่า กระชายดำมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้

          อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยว่าควรกินเท่าไรพอเหมาะเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการนำมาใช้

          - เพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ตามตำรายาสมุนไพรไทยระบุว่า ช่วยบำรุงเลือดสตรี แก้ตกขาว ช่วยโลหิตหมุนเวียนดีขึ้น ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ จึงลดอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ผุดผ่อง 

กระชายดำ

          - ช่วยระบบการไหลเวียนเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โดยมีงานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา พบว่า เมื่อหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เป็นโรคหลอดเลือสมองอุดตัน กินกระชายดำขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สามารถลดอาการอ่อนแรงซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติทางระบบประสาทลดน้อยลง และยังลดปริมาณเนื้อตายของสมองที่เกิดจากการขาดเลือดได้
 
          - มีสรรพคุณแก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย ปากเป็นแผล

          - รักษาโรคปวดข้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย

          - รักษาโรคภูมิแพ้ ขับพิษต่าง ๆ ในร่างกาย

          - มีฤทธิ์ในการช่วยรักษาเชื้อราที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคผิวหนัง

          - บำรุงกำลัง เสริมสมรรถภาพกล้ามเนื้อของนักกีฬา

กระชายดำ

วิธีทำยาลูกกลอนกระชายดำ

          แบบพื้นบ้าน จะนำมาทำเป็นยาลูกกลอน โดยบดกระชายดำแล้วเอาผงแห้งมาผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน หรือทำเป็นยาดองเหล้าและดองน้ำผึ้ง เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

วิธีทำน้ำกระชายดำ

          นำเหง้ามาต้มกับน้ำเปล่าจนเดือด เอาไปให้คุณแม่หลังคลอดดื่ม จะช่วยขับน้ำนม รักษาอาการตกเลือด และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น หรือใช้บำรุงร่างกาย

กระชายดำ

วิธีดองกระชายดํากับน้ำผึ้ง กระชายดําดองเหล้า

          นำเหง้ากระชายดำมาดองกับเหล้าขาวและน้ำผึ้งแท้ (กระชายดำ 1 กิโลกรัม : เหล้าขาว 3 ขวด : น้ำผึ้ง 1 ชวด) ดองทิ้งไว้ประมาณ 9-15 วัน แล้วนำมาดื่มวันละ 1-2 เป๊ก เพื่อบำรุงร่างกาย ขับลม แก้จุกเสียด แก้ปวดท้อง

วิธีทำน้ำหัวเชื้อกระชายดำ

          สำหรับคนที่ไม่อยากซื้อน้ำหัวเชื้อกระชายดำมาชงดื่มก็สามารถทำเองได้ด้วยการกระชายดำมาปั่นแล้วคั้นเอาแต่น้ำ แค่นี้ก็ได้หัวเชื้อแล้วค่ะ ถ้าใครอยากชงดื่มก็แค่เอานำหัวเชื้อน้ำกระชายใส่แก้ว ประมาณ 1/2 แก้ว เติมน้ำเปล่าอีก 1/2 แก้ว ผสมน้ำผึ้ง น้ำมะนาว หรือน้ำหวานสีเขียว สีแดง ตามชอบ

กระชายดำ

ผลิตภัณฑ์จากกระชายดำ มีอะไรบ้าง ?

          ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นผลิตภัณฑ์ของกระชายดำวางจำหน่ายในท้องตลาดหลากหลาย เช่น

          - อาหารและเครื่องดื่ม เช่น ไข่เค็มกระชายดำ กระชายดำผง ชากระชายดำ ไวน์กระชายดำ กาแฟกระชายดำ ลูกอมกระชายดำ

          - ด้านความงาม เช่น สบู่ น้ำมันนวดตัวกระชายดำ มาร์กพอกหน้ากระชายดำ น้ำมันหอมระเหยกระชายดำ

          - ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น สารสกัดกระชายดำ แคปซูลกระชายดำ ยาน้ำกระชายดำ ยาหม่องกระชายดำ เจลกระชายดำ แผ่นแปะกระชายดำ

กระชายดำ

ข้อควรระวังในการใช้กระชายดำ

          แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจน แต่มีข้อแนะนำว่า ไม่ควรทานกระชายดำติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เหงือกร่น และยังมีผลต่อตับได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคตับจึงไม่ควรทาน รวมถึงเด็ก และสตรีมีครรภ์ ส่วนคนทั่วไปไม่ควรทานในขนาดสูงเกินไป เพราะอาจทำให้มีอาการใจสั่น หรืออาจเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ซึ่งยังต้องศึกษาต่อไป

          ประโยชน์ของกระชายดำมีมากกว่าเพิ่มสมรรถภาพหรือเพิ่มฮอร์โมน เพราะยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ อีกมาก และยังมีผลิตภัณฑ์ประทินผิวมาให้เลือกสรรอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กระชายดำ สมุนไพรไทยรสขมเผ็ดร้อน สรรพคุณเลิศกว่าเพิ่มความฟิตปั๋ง อัปเดตล่าสุด 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 13:51:46 116,207 อ่าน
TOP