x close

เผยคนกรุง เกือบครึ่ง เครียดผิดปกติ ปัญหารายได้-เสพข่าวมากเกินไป

          ผลสำรวจเผย คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 45 มีความเครียดผิดปกติ เป็นผลมาจากปัญหารายได้-ค่าครองชีพ และเสพข่าวมากเกินไป สำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง อายุ 15-59 ปี จำนวน 2,261 คน
เผย คนกรุงเกือบครึ่ง เครียดผิดปกติ

          วันที่ 27 กันยายน 2561 เว็บไซต์สปริงนิวส์ รายงานว่า นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2561 กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาสุขภาพจิตประชาชน และตั้งเป้าขยับความสุขของคนไทยเป็นอันดับ 26 ในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งหากคนไทยมีความสุขสูงขึ้น ก็จะมีผลต่อสุขภาพกาย อัตราการป่วยโรคเรื้อรังอาจลดลง

          ทั้งนี้ กลุ่มอายุ 15-59 ปี มีประมาณ 39 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นกลุ่มใหญ่ที่เป็นกำลังหลักสร้างเศรษฐกิจ ครอบครัว และประเทศชาติ

          นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง บอกอีกว่า พื้นที่ กทม. นั้น เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นประมาณ 10 ล้านคน โดยกรมสุขภาพจิตได้สำรวจความสุขและความเครียดของประชาชนในเขต กทม. ช่วงอายุ 15-60 ปี ทุกอาชีพ ในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2561 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 2,261 คน ผลสำรวจปรากฏดังนี้

          สำหรับความสุขตามมาตรฐานกรมสุขภาพจิต คะแนนเต็ม 45 คะแนน มีข้อมูลดังนี้
          - มีความสุขในเกณฑ์ปกติเท่ากับคนทั่วไป 28-34 คะแนน ร้อยละ 49.36
          - มีคะแนนสูงกว่าคนทั่วไปคือ 35-45 คะแนน ร้อยละ 18.53

          สรุปรวมทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความสุขอยู่ในอันดับดี ร้อยละ 67.89 ที่เหลืออีกร้อยละ 32.11 มีความสุขอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ คือต่ำกว่า 27 คะแนนลงมา

          เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจระดับประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2558 พบว่าสัดส่วนคน กทม. มีความสุขน้อยกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ร้อยละ 83.6 และสัดส่วนคน กทม. มีค่าความสุขในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ร้อยละ 16.4 หรือมากกว่าเกือบ 2 เท่าตัว

          ด้านความเครียด มีคะแนนรวม 15 คะแนน ผลสำรวจพบว่า มีความเครียดระดับน้อย คือคะแนนต่ำกว่า 4 คะแนนลงมา ซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่พบได้ในคนปกติมีร้อยละ 55 ที่เหลืออีกร้อยละ 45 มีความเครียดผิดปกติ โดยมีความเครียดระดับปานกลาง คะแนน 5-7 คะแนน, ร้อยละ 29 เครียดระดับมาก คะแนน 8-9 คะแนน และเครียดระดับมากที่สุดคะแนน 10-15 คะแนน ร้อยละ 8

          ผลสำรวจ เรื่องที่ประชาชนใน กทม. มีความเครียด 3 อันดับแรก คือ
          1. เศรษฐกิจ ร้อยละ 30.82 ชายหญิงใกล้เคียงกัน
          2. สังคม ร้อยละ 20.29 และอันดับ
          3. ครอบครัว ร้อยละ 14.52

          สาเหตุที่ทำให้เครียด
          1. ปัญหาการเงิน รายได้ไม่พอ ร้อยละ 17.92
          2. ความวิตกกังวล ร้อยละ 14.23
          3. ปัญหาค่าครองชีพ ร้อยละ 12.97
          4. ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 9.08

          และยังพบมีความเครียดมาจากการเสพข่าวมากเกินไปและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย ร้อยละ 13.21

          ผลของความเครียด ทำให้กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 4 มีปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นประจำ

          - นอนไม่หลับหรือนอนมาก พบในผู้หญิงร้อยละ 26 ผู้ชายพบร้อยละ 15
          - ทำให้หงุดหงิด ว้าวุ่นใจ ร้อยละ 22.87
          - รู้สึกเบื่อเซ็ง ร้อยละ 22.56
          - สมาธิน้อยลง ร้อยละ 16.86
          - มีความรู้สึกไม่อยากพบผู้คนบ่อยครั้ง ร้อยละ 10.97


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยคนกรุง เกือบครึ่ง เครียดผิดปกติ ปัญหารายได้-เสพข่าวมากเกินไป อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2561 เวลา 23:43:47 12,230 อ่าน
TOP