x close

10 อาการเสพติดอาหาร ต้องกินทุกวัน ขาดไม่ได้ รักษายังไงดี

          ติดกินอาหารบางอย่างแบบงอมแงม นี่เรามีอาการเสพติดอาหารอยู่หรือเปล่านะ ลองเช็กให้เคลียร์
เสพติดอาหาร

           พฤติกรรมเสพติดของบางอย่างอาจเป็นความผิดปกติที่สังเกตตัวเองได้ง่าย แต่กับอาการเสพติดอาหารอาจดูไม่ง่ายอย่างนั้นค่ะ เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เรากินอยู่ทุกวันจนบางคนมองว่าการกินอาหารเมนูเดิม ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ธรรมดาสามัญและไม่เป็นอันตราย จนกว่าจะรู้ตัวว่ามีภาวะเสพติดอาหารก็อ้วนไปไกลแล้ว หรืออาจถึงขั้นไม่ได้กินอาหารชนิดนั้น ๆ แล้วหงุดหงิดก็เป็นได้ แต่รู้ไหมว่านี่แหละอาการเสพติดอาหาร  หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Food Addiction ล่ะ

เสพติดอาหาร คืออะไร

          ภาวะเสพติดอาหารเป็นภาวะที่สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงคล้ายกับเคสของคนติดยาเสพติดนั่นแหละค่ะ กล่าวคือ เมื่อร่างกายได้กินอาหารที่เสพติดหรือชอบมาก ๆ แล้ว สมองจะหลั่งสารโดพามีนออกมาทำให้ร่างกายรู้สึกเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ก่อให้เกิดภาวะเสพติดเพราะต้องการจะได้รับความสุขจากการกินอาหารซ้ำ ๆ อีกครั้ง จนอาจทำให้มีพฤติกรรมกินอาหารประเภทนั้น ๆ มากเกินไป บ่อยเกินไป และอาจเกิดภาวะอ้วน ที่มักจะมาพร้อมโรคเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น

เสพติดอาหาร

เรามักเสพติดอาหารประเภทไหน ?

          ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทไหนก็ทำให้เราเกิดการเสพติดได้ แต่ส่วนใหญ่เรามักจะเสพติดอาหารที่มีน้ำตาลสูง อย่างขนมหวาน ช็อกโกแลต คุกกี้ เบเกอรี่ รวมทั้งอาหารที่มีความเค็มและไขมันสูง อย่าง หมูปิ้ง ไก่ทอด มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว ซอสปรุงรสต่าง ๆ เพราะเมื่อเรากินเข้าไปแล้วจะทำให้สมองหลั่งสารที่ทำให้เรามีความสุขออกมา จนเกิดการเสพติดอย่างที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง
 
เสพติดอาหาร อาการเป็นอย่างไร

          ลองมาเช็กอาการเสพติดอาหารว่าเราเป็นกันอยู่ไหม

     1. เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

     2. กินอาหารชนิดนั้นในปริมาณที่ตัวเองคาดการณ์เอาไว้ หรือกินได้เรื่อย ๆ ไม่อยากหยุดกิน

     3. รู้สึกอยากกินอาหารชนิดนั้น ๆ มากกว่าอาหารชนิดอื่น

     4. แม้จะไม่หิวก็รู้สึกอยากกินและกินอาหารชนิดนั้น ๆ ได้อย่างสบาย ๆ

     5. หรืออิ่มมาก ๆ ก็ยังสามารถกินอาหารชนิดนั้นเพิ่มได้อีก

     6. จะไม่หยุดกินจนกว่าจะอิ่มถึงที่สุดจริง ๆ

     7. หากไม่ได้กินอาหารที่ชอบวันไหนจะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี หรือมีอาการทางกาย เช่น หน้ามืด ใจสั่น มือสั่น ปวดหัว เป็นต้น

     8. ขาดสมาธิเมื่อได้กินอาหารชนิดนั้น ๆ

     9. มีข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้น ๆ เสมอ

     10. รู้สึกผิดหลังกินเสร็จแล้ว แต่ไม่นานก็มีพฤติกรรมกินแบบเดิม ๆ อยู่เรื่อย ๆ

เสพติดอาหาร

เสพติดอาหาร รักษาอย่างไร

          แนวทางการรักษาภาวะเสพติดอาหารสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ดังนี้

     1. วางแผนการกินในแต่ละวัน และพยายามกินให้ได้ตามที่วางแผนไว้

     2. ลดปริมาณการกินอาหารที่เสพติดให้น้อยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

     3. พยายามเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น หากติดกินชา ติดน้ำอัดลม ให้เปลี่ยนมากินผลไม้รสหวานแทน พร้อมกับพยายามกินผลไม้น้ำตาลน้อยสลับ ๆ กันไป

     4. จดบันทึกรายการอาหารที่กินในแต่ละวัน แล้วลองเช็กความถี่ในการกินอาหารชนิดเดิม ๆ

     5. พยายามกินอาหารเมื่อร่างกายต้องการอาหารจริง ๆ ไม่ใช่กินเพราะอยากกินเฉย ๆ

     6. พยายามหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีอาหารที่เราเสพติดขายอยู่

          การห้ามใจให้ได้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะอาการเสพติดอาหารได้ในที่สุดนะคะ และหากเช็กอาการแล้วเรา “ใช่” ก็พยายามควบคุมอาหารเอาไว้ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เครือข่ายคนไทยไร้พุง
เฟซบุ๊ก Pleasehealth Books
healthline
webmd

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 อาการเสพติดอาหาร ต้องกินทุกวัน ขาดไม่ได้ รักษายังไงดี อัปเดตล่าสุด 11 กันยายน 2563 เวลา 15:45:42 19,965 อ่าน
TOP