x close

อย. ปรับโฉมฉลาก-ข้อมูลให้อ่านเข้าใจง่าย


ฉลากยา



"อย."ปรับโฉม"ฉลาก" ข้อมูลอ่านเข้าใจง่าย (ไทยโพสต์)

          อย.ปรับโฉม "ฉลากโภชนาการ" ใหม่ GDA บังคับอาหารสำเร็จรูปแสดงข้อมูลสารอาหารสำคัญปีนี้ หวังลด-หวาน-มัน-เค็ม ในอนาคตใส่เครื่องหมายอาหารดีต่อสุขภาพ เชื่อผู้บริโภคได้ประโยชน์รู้ปริมาณสารอาหารชัดเจนขึ้น เตรียมเรียกผู้ประกอบการประชุม ก.พ.นี้

          นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ อย.เพื่อปรับปรุงการแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปทุกประเภท รวมทั้งน้ำดื่มทุกชนิด ที่เป็นการให้ข้อมูลโภชนาการแก่ผู้บริโภคในรูปแบบอ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้น จากเดิมที่มีรายละเอียดซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก ผู้บริโภคต้องคิดคำนวณสารอาหารเองในการเลือกกินในแต่ละวัน แต่ข้อมูลในฉลากใหม่นี้จะเน้นที่การให้ข้อมูลสารอาหารที่บรรจุภายในผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบเป็นร้อยละความต้องการสารอาหารของร่างกายในแต่ละวัน ทำให้ผู้บริโภคคำนวณสารอาหารที่กินได้ง่ายขึ้น หรือที่เรียกว่า GDA (Guidance Daily Amount) ทั้งนี้ จะมีการดึงค่าสารอาหารสำคัญ ๆ ออกมาแสดง ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือ ซึ่งการกำหนดฉลากในรูปแบบใหม่นี้ จะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่โครงการลดหวาน มัน เค็ม ช่วยผู้บริโภคป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะโรคอ้วน

          นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำฉลากอาหารในรูปแบบดังกล่าวมีอาหารบางประเภทที่ทำอยู่บ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอาหารประเภทขนมกรุบกรอบและกินเล่น โดย อย.ได้ริเริ่มโดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แต่ไม่ได้บังคับ แต่หลังจากนี้เราจะบังคับในอาหารทุกประเภทต้องมีฉลากลักษณะนี้ทั้งหมด เพื่อยกระดับความรู้ให้กับผู้บริโภคขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

          "เราจะปรับปรุงบางส่วนที่เพิ่มเติมจากฉลากโภชนาการ ซึ่งจากเดิมเป็นการกำหนดสารอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภค เป็นสารอาหารตามจำนวนที่บรรจุแทน เนื่องจากปัจจุบันอาหารมีการบรรจุหลายขนาด และยิ่งนับวันบรรจุภัณฑ์จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่การให้ข้อมูลโภชนาการยังใช้หลักเกณฑ์การบริโภคต่อหน่วยอยู่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า 1 หน่วยเท่ากับปริมาณที่บรรจุในซอง ทั้งที่ความเป็นจริงหากเป็นห่อขนาดใหญ่อาจอยู่ที่ 4 หน่วยบริโภค ทำให้เกิดการบริโภคเกิน" เลขาธิการ อย.กล่าว

          นพ.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารทั้งหมดภายในต้นเดือน ก.พ. และเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหาร และเปิดรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงร่างประกาศ ซึ่งยืนยันว่าจะแล้วเสร็จในปี 2554 และในอนาคตอาจมีการพัฒนารูปแบบฉลากโดยใส่เครื่องหมายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อย. ปรับโฉมฉลาก-ข้อมูลให้อ่านเข้าใจง่าย อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 15:12:14 2,141 อ่าน
TOP