x close

ไม่ใกล้เดดไลน์ก็ไม่ลงมือทำอะไร เข้าข่าย Student syndrome

          มนุษย์ Deadline ทั้งหลายที่ไฟไม่ลนก้น ไอเดียไม่ออก ความขยันไม่มา จนกว่าจะถึงเดดไลน์ ใช้ชีวิตวนลูป อย่างนี้เป็นประจำ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน นี่มัน Student syndrome หรือเปล่า...
โรค student syndrome

          อาการไม่กระตือรือร้นจนกว่าจะวินาทีสุดท้าย ดูเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปเลยว่าไหมคะ ยิ่งตอนเด็ก ๆ สมัยเรียนนี่จะเห็นได้ชัด ถ้ายังไม่ถึงกำหนดส่งงาน ส่งการบ้าน ยังไงเราก็ไม่ทำหรอก จนกว่าไฟจะลนก้น ต่อให้ต้องนั่งปั่นงานยันสว่างก็ไม่หวั่น ไม่งั้นจะไม่มีงานส่งใช่ไหมล่ะ แต่ที่เหนือกว่าการผัดวันประกันพรุ่ง คือบางคนไม่รอให้ถึงเดดไลน์เท่านั้น แต่ยังขอยืดกำหนดส่งงานออกไปอีก และจะขอเลื่อนแบบนี้แทบทุกครั้งโดยมีข้ออ้างต่าง ๆ นานา ซึ่งหากใครมีอาการที่ว่ามา เราอยากให้มาทำความรู้จักโรคสติวเดนต์ ซินโดรม (Student syndrome) เช็กกันซิว่าเราเป็นโรคนี้ไหม

          สติวเดนต์ซินโดรม คือ อาการของคนที่จะเริ่มปลุกตัวเองให้กระตือรือร้นต่องานในช่วงเวลาสุดท้ายเท่าที่เป็นไปได้ก่อนจะถึงกำหนดส่งงาน ทั้งนี้ Student syndrome จัดอยู่ในรูปแบบการผัดวันประกันพรุ่งอย่างหนึ่งด้วย

โรค student syndrome

มนุษย์เดดไลน์ ผัดวันประกันพรุ่งเก่ง เพราะมีข้ออ้าง !

          ข้อมูลจาก พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์แพทย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้คนเรามีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งไว้ 3 สาเหตุ ดังนี้

1. ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร

          การจะเดินไปถึงเป้าหมายได้ เราต้องรู้กระบวนการระหว่างทางเสียก่อน ซึ่งประเด็นนี้แหละที่ทำเอาหลายคนไม่สามารถเริ่มลงมือทำสิ่งที่ควรจะทำได้สักที เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน อย่างการลดน้ำหนัก เราอาจรู้ว่าต้องคุมอาหาร ต้องออกกำลังกาย เราอาจหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากมาย จนสับสนว่าต้องทำอะไรก่อน ตัดสินใจไม่ได้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน สุดท้ายก็เลยถอดใจ เอาไว้ค่อยลดน้ำหนักทีหลังก็แล้วกัน...ซะงั้น

โรค student syndrome

2. ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง

          เราอาจจะผ่านด่านแรกมาแล้วว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แต่พอมาดูจริง ๆ เรากลับเห็นว่าสิ่งที่เราต้องทำมันมีหลายขั้นตอน มันไม่ได้ทำง่าย ๆ อย่างการลดน้ำหนัก หากเลือกแล้วว่าจะลดน้ำหนักแบบ Low Carb เราก็ต้องรู้ก่อนว่าอะไรที่มีแป้งบ้าง ลดข้าวยังไง เลือกกินแป้งแบบไหนได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องศึกษาพอสมควร ไม่ต่างจากการทำการบ้านหรือรายงานสักชิ้น ไม่ใช่ว่าพิมพ์ไปเรื่อยก็ส่งได้ แต่ต้องค้นคว้า หาข้อมูล ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาเรียบเรียงเพื่อให้เป็นผลงานเราอีก แค่คิดก็รู้สึกเหนื่อยที่จะทำแล้วใช่ไหมล่ะคะ และในที่สุดเราก็ไม่ได้เริ่มลงมือทำสักที

3. รู้สึกกลัวอะไรบางอย่าง หรือกำลังเลี่ยงอะไรอยู่

          ในทางจิตวิทยาเชื่อว่า หากเรากำลังผัดวันประกันพรุ่งอะไรอยู่ นั่นอาจหมายถึงเรากำลังหาทางหลีกเลี่ยงความรู้สึกด้านลบอะไรบางอย่าง เช่น ความกลัว ความอึดอัดใจ ความล้มเหลว ความไม่สะดวก หรือความสูญเสีย โดยเฉพาะการสูญเสีย Comfort Zone เป็นต้น และความกลัวนี้ผลักดันให้เราเพิกเฉยกับสิ่งที่ควรต้องทำได้ง่าย ๆ

         มื่อรู้เหตุผลทำให้เรามีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งแล้ว มาดูวิธีเลิกผัดวันประกันพรุ่งกันบ้าง

วิธีเลิกผัดวันประกันพรุ่ง

โรค student syndrome

1. คุยกับตัวเอง

          ลองทำความรู้จักตัวเองดูว่า เมื่อเราต้องทำในสิ่งที่ควรทำ เรารู้สึกยังไง เราคิดยังไงกับสิ่งที่เราต้องทำ ทำแล้วจะเกิดผลดี ผลเสีย กับเรายังไง การกลับมาสำรวจตัวเอง ทบทวนตัวเองอย่างรอบคอบ อาจช่วยให้เราเลือกทำในสิ่งที่เราตั้งใจได้ดีขึ้น

2. ให้เวลากับสิ่งนั้น

          ถ้าเราไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เราก็ควรหาเวลามาสืบค้นข้อมูลเพื่อให้เป้าหมายเราสำเร็จ แล้วเลิกอ้างว่าไม่มีเวลา งานการตั้งมากมายมีให้ทำ เพราะจริง ๆ ทุกคนก็มีเวลาเท่ากัน คนอื่นทำได้แล้วเราจะทำไม่ได้ได้ยังไง

3. ตั้งเป้าหมาย

          เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชน และเมื่อเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราจะเดินทางไปหาเป้าหมายได้อย่างมั่นคงขึ้น ดังนั้นก็จงตั้งเป้าหมายให้ตัวเองพุ่งเข้าใส่ไปเลยค่ะ อย่างถ้าจะลดน้ำหนัก ลองตั้งเป้าหมายว่าสัปดาห์นี้จะงดน้ำหวาน งดของทอด พอทำได้แล้วเราก็จะมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้น ๆ ต่อ

โรค student syndrome

4. เปลี่ยนความคิดด้านลบให้เป็นความท้าทาย

          ถ้ามีความรู้สึกกลัวว่าจะต้องเจอเรื่องยุ่งยาก กลัวว่าสิ่งที่จะทำอาจนำพาความลำบากมาให้ เรามาเปลี่ยนความกลัวนั้นให้เป็นความรู้สึกท้าทาย ลองกับมันสักตั้งว่าเราจะฝ่าฟันสิ่งต่าง ๆ ไปได้ไหม

5. ไม่ต้องทำให้ดีที่สุด แต่ทำให้ดีพอ

          ไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าเราต้องทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ เรื่อง แต่แค่ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีพอที่เราจะทำได้ ทำมันในแบบของตัวเอง ไม่ต้องกดดันตัวเองมาก แล้วเราจะรู้สึกอยากทำสิ่งนั้นมากขึ้น

6. ลองทำสักหน่อย

          ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี ลองทำสักอย่างก่อนก็ได้ เช่น ถ้าไม่รู้จะเขียนรายงานยังไงดี ก็เริ่มเขียนหัวข้อก่อน เริ่มลิสต์สิ่งที่ควรเขียนก่อน หรือไม่รู้ว่าจะลดความอ้วนด้วยวิธีไหน ระหว่างที่ตัดสินใจก็ลองไปออกกำลังกายสัก 10-20 นาที ให้โอกาสตัวเองได้ลองลงมือทำดูก่อนเถอะ

โรค student syndrome

7. ยืนหนึ่งเรื่องทำทันที

          เปลี่ยนแปลงตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือด้วยการทำในสิ่งที่ต้องทำในทันที ไม่มีผัดวันประกันพรุ่ง อย่างการบ้านต้องส่งวันศุกร์ แต่อาจารย์สั่งตั้งแต่วันจันทร์ เราลองทำการบ้านในเย็นวันที่ได้คำสั่งมาเลย ลองดูซิว่า “ทำทันที” แล้วจะเกิดอะไรกับเราบ้าง

          นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว แรงผลักดันก็สำคัญนะคะ อย่าลืมว่างานคือเงิน สำหรับนักเรียน นักศึกษา งานก็คือคะแนนที่จะทำให้เกรดเราสวยงาม หรือสาว ๆ ที่ลดน้ำหนัก ผอมแล้วความสวยก็จะรอเราอยู่ ยึดแรงจูงใจเหล่านี้เอาไว้ให้ดี แล้วเราจะเลิกผัดวันประกันพรุ่งเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สถาบันราชานุกูล
วิกิพีเดีย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม่ใกล้เดดไลน์ก็ไม่ลงมือทำอะไร เข้าข่าย Student syndrome อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2562 เวลา 15:05:45 8,366 อ่าน
TOP