x close

รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย

          ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบได้ทั่วโลก แต่จะพบบ่อยในภูมิประเทศเขตร้อน แน่นอนว่าในประเทศไทยเองก็เช่นกัน วันนี้ กระปุกดอทคอม จึงมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย มาบอกต่อกันค่ะ

ไทฟอยด์

ไทฟอยด์ เกิดจากสาเหตุอะไร

          ไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever; Enteric fever) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่า ไทฟี่ ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาหารที่ทำให้เกิดโรคคือ อาหารจำพวกนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์
ไทฟอยด์ อาการเป็นอย่างไร

          หลังจากเชื้อซาลโมเนลล่า ไทฟี่เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะใช้ระยะฟักตัวอยู่ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้าสู่กระแสเลือด และกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

          โดยทั่วไปแล้วการดำเนินโรคไทฟอยด์ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ กินเวลาระยะละประมาณ 1 สัปดาห์ โดยสัปดาห์แรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ทานยาลดไข้ไม่หาย ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย

          หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา โรคจะดำเนินสู่ระยะที่ 2 คือ ไข้จะขึ้นสูง 40 องศา หัวใจเต้นช้า เพ้อ บางครั้งผู้ป่วยอาจกระสับกระส่าย หรืออาจปรากฎจุดแดงคล้ายุงกัดที่หน้าอกส่วนล่างและท้อง เกิดอาการท้องเสียถ่ายบ่อยเป็นสีเขียว ม้ามและตับโตกว่าปกติ กดแล้วเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือท้องน้อยด้านขวา

ไทฟอยด์
ภาพจาก typhoid.co

          เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 3 ผู้ป่วยจะพบภาวะแทรกซ้อนทั้งตกเลือดในลำไส้ แต่ที่น่ากลัวก็คือ จะมีอาการลำไส้เล็กส่วนปลายทะลุ ซึ่งอาการนี้เป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ โดยไม่มีอาการใด ๆ เตือนล่วงหน้า นอกจากนี้ ในบางคนอาจเป็นสมองอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และมีฝีกระจายทั่วตัว จากนั้นในช่วงปลายของระยะที่ 3 ไข้จะเริ่มลดลงแล้ว แต่อาการยิ่งทรุดหนักไปจนถึงระยะที่ 4

          อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยรายใดไม่มีอาการแทรกซ้อน แล้วรักษาได้ทัน ก็จะสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ร่างกายผู้ป่วยจะผ่ายผอมและทรุดโทรมลงอย่างมาก ต้องใช้เวลารักษาตัวอีกนาน

การวินิจฉัย โรคไทฟอยด์

          หากสงสัยว่าเป็นไทฟอยด์ แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือด โดยอาจพบเชื้อนี้จากการเพาะเชื้อจากตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระของผู้ป่วย

ไข้รากสาดน้อย ไทฟอยด์
อุบัติการณ์ของโรคไทฟอยด์
สีแดง : ระบาดมาก , สีส้ม : ระบาด , สีเทา : กระจัดกระจาย

การรักษา โรคไทฟอยด์

          สำหรับโรคไทฟอยด์นั้น หากตรวจพบเร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ทันท่วงที โดยการรักษามีดังนี้

           1. ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการท้องเดิน อาเจียนเล็กน้อย ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เช่นน้ำเกลือแร่ ทานอาหารเหลว เช่น น้ำแกง ข้าวต้ม เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป แต่หากผู้ป่วยไข้ขึ้นสูงมาก ชัก หรืออาเจียนมาก ควรเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว

           2. หากผู้ป่วยอาการดีขึ้น ภายใน 4 ชั่วโมง เริ่มให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม หลังจากดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้อาหารและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

           3. หยุดให้น้ำเกลือแร่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เช่น ถ่ายน้อยลงแล้วเป็นต้น หลังจากนั้นให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ และเพิ่มจำนวนมื้อ

           4. ไม่ควรรับประทานยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคยังคงอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น

           5. หากภายใน 3 วัน อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแทรกซ้อน ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ โดยหากตรวจพบว่าเป็นไทฟอยด์ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล หรืออะม็อกซีซิลลิน โดยต้องทานต่อเนื่องนาน 14 วัน

ไทฟอยด์

วิธีป้องกันโรคไทฟอยด์

          เราสามารถป้องกันโรคไทฟอยด์ได้ง่าย ๆ ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้

           1. งดเว้นการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม ควรทานอาหารที่ปรุงสด ๆ ใหม่ ๆ อยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด รวมทั้งดื่มน้ำที่ต้มสุกแล้ว

           2. ก่อนการปรุงอาหาร รับประทานอาหารทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาดก่อน

           3. ล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จแล้ว

           4. ผู้ประกอบอาหาร รวมทั้งพนักงานเสิร์ฟอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจับอาหาร หรือภาชนะ รวมทั้งหมั่นดูแลรักษาความสะอาดสถานที่ประกอบอาหาร ภาชนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และต้องกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารทุกวัน ไม่ให้สกปรก จนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์ต่าง ๆ แต่หากมีอาการอุจจาระร่วง ต้องหยุดงานจนกว่าจะหายดี หรือตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ

          5. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค รวมทั้งผู้ที่มีคนใกล้ชิดเป็นพาหะของโรค


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2561 เวลา 17:00:08 40,475 อ่าน
TOP