x close

กลัวเชื้อโรคมาก ๆ อนามัยจัด อาจชี้ชัดถึงภาวะ Mysophobia

          ติดนิสัยรักความสะอาดขั้นสุด เดี๋ยวก็ล้างมือ แป๊บ ๆ ก็ฉีดแอลกอฮอล์ อาการกลัวเชื้อโรคแบบนี้เข้าใกล้ความผิดปกติหรือยัง ลองเช็กกันดู


กลัวความสกปรกมาก ๆ อาจเป็นโฟเบีย

          ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่มีใครอยากเข้าใกล้สิ่งสกปรกและเชื้อโรค เพราะเรารู้กันดีว่าอาจมีพาหะติดมากับสิ่งเหล่านี้ ทำให้ป่วยได้ง่าย ๆ ยิ่งในช่วงที่โควิด 19 ระบาด เราก็เริ่มมีความรู้สึกกลัวที่จะจับสิ่งของที่มีการสัมผัสเยอะ ๆ ระแวงคนที่มีอาการไอ จาม พารานอยด์กับการอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัดมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว แต่สำหรับบางคน ความรู้สึกกลัวเชื้อโรค กลัวความสกปรกจะอยู่ในระดับที่ลึกกว่านั้น ซึ่งอาจเข้าข่ายภาวะกลัวเชื้อโรค หรือ Mysophobia

กลัวความสกปรกมากเกินไป อาจป่วยภาวะ Mysophobia


          Mysophobia คือ ภาวะโฟเบียชนิดหนึ่งที่มีความรู้สึกกลัวเชื้อโรค กลัวความสกปรก กลัวพื้นที่ที่ไม่สะอาด การปนเปื้อนต่าง ๆ รวมไปถึงการติดเชื้อ แบบที่กลัวมาก ๆ จนส่งผลกับการใช้ชีวิต โดยภาวะกลัวสิ่งสกปรกมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกด้วย เช่น Germaphobia, Bacillophobia, Bacteriophobia หรือ Verminophobia

ภาวะกลัวความสกปรก (Mysophobia) เกิดจากอะไร

          Mysophobia เป็นภาวะโฟเบียชนิดเฉพาะเจาะจง ซึ่งสาเหตุของโฟเบียชนิดนี้เกิดจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว หรือเกิดกับคนที่ผ่านเหตุการณ์รุนแรงที่มีความรู้สึกกลัวนี้เกี่ยวข้อง หรือมีปมกับการสัมผัสเชื้อโรค สัมผัสความสกปรกมาก่อน รวมไปถึงคนที่มีนิสัยรักความสะอาดจัด ๆ ก็มีแนวโน้มจะป่วยภาวะกลัวเชื้อโรคได้ง่ายกว่าคนอื่น และอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดโฟเบียด้วย

กลัวความสกปรกมาก ๆ อาจเป็นโฟเบีย

ภาวะกลัวความสกปรก (Mysophobia) อาการเป็นยังไง

          ความสกปรกเป็นสิ่งที่ไม่อยากมีใครเข้าใกล้ แต่ต้องกลัวเชื้อโรค กลัวความสกปรกมากขนาดไหนถึงจะเข้าข่ายเป็นโฟเบียได้ ลองเช็กกัน

          * กลัวเชื้อโรคและความสกปรกขั้นรุนแรง ถึงขั้นเสียอาการเมื่อต้องสัมผัสหรือเข้าใกล้ความสกปรกนั้น ๆ

          * มีปฏิกิริยาในแง่ลบอย่างผิดปกติ เช่น ร้องไห้ โวยวาย เหงื่อแตก ตัวสั่น เมื่อต้องเจอกับความสกปรก

          * กลัวความสกปรกมากถึงขั้นมีอาการป่วย เช่น หน้ามืด เป็นลม ยืนไม่ไหว

          * ล้างมือบ่อยจนเกินไป โดยอาจจะล้างมือทุก 10 นาที หรือทุกครั้งที่หยิบ จับสิ่งของ

          * มักจะอาบน้ำนาน หรืออาบน้ำบ่อย ๆ เพราะคิดว่าตัวเองสกปรก

          * หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นในทุกกรณี เช่น ห้องน้ำสาธารณะ รถสาธารณะ อาหาร

          * หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกายคนอื่น แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็กลัว

          อย่างไรก็ดี ความกลัวที่จะจัดเป็นโฟเบียได้มักจะเป็นความกลัวขั้นรุนแรง ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตตามปกติ ผู้ที่มีภาวะนี้มักจะมีความลำบากในการใช้ชีวิตไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

กลัวความสกปรกมาก ๆ อาจเป็นโฟเบีย

ภาวะกลัวความสกปรก (Mysophobia) รักษาได้ไหม

          ภาวะกลัวความสกปรกก็จัดเป็นโฟเบียที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยมีวิธีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้

          1. พฤติกรรมบำบัด

          เป็นการรักษาหลักที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างมาก เพราะจะต้องฝึกให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนบรรลุเป้าหมายในการรักษา

          2. รักษาด้วยยา

          ยาที่รักษาภาวะกลัวความสกปรกมักจะเป็นยาแก้โรคซึมเศร้าบางชนิด ยาแก้โรคจิตเวชบางชนิด ยาระงับอาการสั่น ยาลดความวิตกกังวล ซึ่งการรักษาด้วยยาจะทำควบคู่ไปกับพฤติกรรมบำบัด โดยยาจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวน้อยลงและกล้าฝึกพฤติกรรมบำบัด

ภาวะกลัวความสกปรก อาจมาพร้อมกับโรคย้ำคิดย้ำทำ

กลัวความสกปรกมาก ๆ อาจเป็นโฟเบีย

          ภาวะกลัวความสกปรก (Mysophobia) มักจะมาพร้อมกันกับโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยผู้ป่วยภาวะกลัวเชื้อโรคจะมีพฤติกรรมล้างมือบ่อย เช็ดถูไม่เลิก หรืออาบน้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งจะสัมพันธ์กับอาการโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่มีความต่างกันนิดหน่อยคือ คนกลัวเชื้อโรคจะทำซ้ำ ๆ เพื่อให้ตัวเองสะอาด แต่ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำจะทำซ้ำ ๆ เพื่อให้ตัวเองสบายใจ

          - โรคย้ำคิดย้ำทำ อาการชอบคิด-ทำ ช้ำ ๆ เอ๊ะ...ลืมทำไปหรือเปล่านะ

          ถ้าเช็กแล้วใช่ เรามีอาการกลัวเชื้อโรคถึงขั้นโฟเบียจริง ๆ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะภาวะนี้รักษาให้หายได้ แค่ให้ความร่วมมือในกับจิตแพทย์ และดูแลตัวเองดี ๆ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
verywellmind, healthline, psycom

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลัวเชื้อโรคมาก ๆ อนามัยจัด อาจชี้ชัดถึงภาวะ Mysophobia อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2563 เวลา 15:36:06 46,797 อ่าน
TOP