x close

12 อาหารลดบวม ขับน้ำส่วนเกินจากร่างกาย พร้อมวิธีลดโซเดียม

          บวมน้ำ ลดยังไงดี มาดูอาหารที่ช่วยลดบวมได้ และวิธีลดโซเดียมในร่างกายกันเถอะ !
          อาการบวมน้ำจริง ๆ แล้วมีสาเหตุหลายอย่าง แต่ที่เจอกันง่ายและบ่อยที่สุดคือภาวะบวมน้ำจากการกินอาหารโซเดียมสูงมากเกินไป ซึ่งเจ้าโซเดียมนี่แหละปัญหาใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้ตัวบวมจากการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกายแล้ว ยังเป็นปัจจัยของการเกิดโรคเรื้อรัง อย่างโรคไต และมีผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วย ซึ่งการลดโซเดียมในร่างกายสามารถขับออกได้ทางเหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ ทว่าหากเราอยากลดบวมทำยังไงดี จริง ๆ ก็มีอาหารที่ช่วยลดอาการบวมอยู่นะ มาดูกัน
อาหารลดบวม ขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย กินอะไรดี
          เวลาที่กินอาหารโซเดียมสูง อย่างอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป หรือฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย ตื่นมาจะหน้าบวม ตัวบวม น้ำหนักขึ้นจากการคั่งของน้ำและเกลือในร่างกาย ซึ่งเราสามารถลดบวมได้ด้วยอาหารเหล่านี้

1. แตงกวา

อาหารลดบวม

          แตงกวามีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะ และยังมีสารโพลีฟีนอลที่ช่วยขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ลดอาการบวม ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลน้ำในร่างกายด้วย และแน่นอนค่ะว่า แตงกวาก็พกประโยชน์มามากมาย ทั้งช่วยให้ผิวสวย ช่วยในการขับถ่าย และอีกเพียบ !

- 12 ประโยชน์ของแตงกวา เฮลธ์ตี้ทั้งผิวหน้าและร่างกาย

2. แตงโม

อาหารลดบวม

          แตงโมเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำที่รสชาติอร่อย มีน้ำเยอะ มีไฟเบอร์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีประโยชน์ในเรื่องขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ปรับสมดุลแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายให้คงที่ จึงช่วยลดอาการบวมน้ำได้

- แตงโม ผลไม้คลายร้อนทรงคุณค่า หวานฉ่ำมากสรรพคุณ

3. ขึ้นฉ่าย

อาหารลดบวม

          ผักกลิ่นฉุนอย่างขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ช่วยขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ลดบวม ขับโซเดียมในร่างกาย และสรรพคุณขึ้นฉ่ายยังช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย

4. ฟักเขียว

อาหารลดบวม

          สรรพคุณของฟักเขียวมีรสเย็น ฉ่ำน้ำ แก้กระหาย มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ใช้แก้อาการบวมน้ำ ปัสสาวะไม่ออก และลดความร้อนในร่างกาย

5. หน่อไม้ฝรั่ง

อาหารลดบวม

          หน่อไม้ฝรั่งมีกรดอะมิโนแอสพาราจีน มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับน้ำส่วนเกินและขับโซเดียมออกจากร่างกาย จัดเป็นอาหารลดบวมที่น่าสนใจ เพราะสรรพคุณของหน่อไม้ฝรั่งก็จัดว่าเด็ดอยู่

- หน่อไม้ฝรั่ง สรรพคุณเหลือล้ำ ขอย้ำว่าต้องกิน

6. กล้วย

อาหารลดบวม

          กล้วยเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดันโลหิต ปรับสมดุลน้ำ ของเหลว และอิเล็กโทรไลต์ของร่างกาย ช่วยลดอาการบวมน้ำได้

- ประโยชน์ของกล้วย ช่วยเรื่องสุขภาพ มีประโยชน์มากกว่าที่คิด

7. ส้ม

อาหารลดบวม

          นอกจากส้มจะเป็นผลไม้วิตามินซีสูงแล้ว ยังมีโพแทสเซียมค่อนข้างสูง ช่วยปรับสมดุลของเหลวในร่างกาย และลดอาการบวมน้ำด้วย

- 12 ประโยชน์ของส้ม สรรพคุณมากล้น กินส้มวันละผลยิ่งดี

8. กีวี

อาหารลดบวม

          กีวีมีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด และยังมีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดัน  ควบคุมปริมาณของเหลวภายในเซลล์ ลดอาการบวมน้ำได้เช่นกัน

- กีวี ประโยชน์ดี ๆ ที่ต้องบอกต่อ

9. สับปะรด

อาหารลดบวม

           ผลไม้ชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยย่อย ด้วยเอนไซม์ช่วยย่อยเฉพาะตัว และยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย ลดแก๊สในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยลดอาการบวมน้ำ รวมไปถึงลดอาการบวมจากการอักเสบ และทำให้แผลหายเร็ว

- ประโยชน์ของสับปะรด ผลไม้สรรพคุณดีงาม

10. มะละกอ

อาหารลดบวม

          มะละกอมีเอนไซม์ช่วยย่อย ช่วยลดกรด แก๊ส ในกระเพาะอาหาร และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ทำให้อาการพุงป่อง ท้องอืด ดูตัวบวม ๆ ของร่างกายทุเลาลง

- ประโยชน์ของมะละกอ ผลไม้สรรพคุณเด่น เป็นได้ทั้งคาว-หวาน

11. โยเกิร์ต

อาหารลดบวม

          อาการบวมที่เกิดจากระบบย่อยอาหารไม่ดี มีกรดเกิน แก๊สเกิน มีอาการพุงป่อง พุงยื่นหลังมื้ออาหาร ก็ใช้โยเกิร์ตแก้อาการบวมได้ โดยโยเกิร์ตมีจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยในการย่อยอาหาร มีโพรไบโอติกส์ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยให้ทำงานได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ควรเลือกกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อยด้วยนะ

- 10 โยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย

12. น้ำเปล่า

อาหารลดบวม

          น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย และหากใครคิดว่าบวมน้ำอยู่แล้วไม่ควรดื่มน้ำเยอะ ขอให้คิดใหม่เลยค่ะ เพราะการดื่มน้ำจะช่วยขับปัสสาวะ ช่วยในการขับถ่าย ระบายโซเดียมในร่างกายออกไปกับระบบขับถ่ายของเรา และยังช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุ ของเหลวในเซลล์ร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมดื่มน้ำให้ได้วันละ 8 แก้ว นะคะ

- ประโยน์ของการดื่มน้ำ 15 อัศจรรย์ที่ยืนยันว่าน้ำเปล่าดีที่สุดแล้ว

          นอกจากนี้เรายังมีวิธีลดโซเดียมมาฝากกันด้วย ตามนี้เลย
วิธีลดโซเดียม
อาหารลดบวม

          1. ลดกินเค็ม ลดอาหารรสจัด โดยไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบกับน้ำปลา 6 ช้อนชา

          2. ลดอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป และอาหารขยะทั้งหลาย รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          3. ทำอาหารกินเอง เราจะได้กะปริมาณโซเดียมในอาหารไม่ให้มากเกินไปได้ และควรปรุงเป็นขั้นตอนสุดท้าย ตอนที่อาหารทุกอย่างสุกเรียบร้อย เพื่อให้รสชาติของเนื้อสัตว์ และผักออกมาให้เต็มที่ เราจะได้ใส่เครื่องปรุงน้อยลง

          4. ใช้รสเปรี้ยวเสริมเพื่อลดการปรุงเค็ม

          5. ใช้เครื่องปรุงโซเดียมต่ำ แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตควรระวัง เพราะผลิตภัณฑ์โซเดียมต่ำจะมีโพแทสเซียมสูง ส่งผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่ได้

          6. ลดการกินน้ำแกง น้ำผัด น้ำซุป เพราะมีสัดส่วนของโซเดียมอยู่มากในน้ำแกงเหล่านี้

          7. หลีกเลี่ยงเครื่องจิ้มต่าง ๆ

          8. ดูฉลากโภชนาการ เลือกกินอาหารที่มีโซเดียมไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/ 1 หน่วยบริโภค หรือ 6%

          9. ลดความถี่ในการกินอาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น ปลากระป๋อง แหนม หมูยอ ไส้กรอก เป็นต้น

          10. ปรับสมดุลในการกินอาหาร หากมื้อไหนกินอาหารโซเดียมสูงไปแล้ว มื้อถัดไปควรกินอาหารโซเดียมต่ำ อาหารที่ปรุงน้อย ๆ เช่น ไก่อบ หมูอบ ปลาลวก ปลานึ่ง เป็นต้น

          11. หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางเหงื่อ

          12. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

          13. นอนยกเท้าขึ้นสูงกว่าศีรษะ เพื่อให้น้ำที่คั่งอยู่ที่ขาและเท้าไหลกลับสู่ไต รอการกำจัดออกได้ง่ายขึ้น

          แต่หากใครไม่มั่นใจว่าอาการบวมของตัวเองเป็นภาวะบวมน้ำหรืออ้วน ลองมาเช็กกันหน่อยไหมล่ะ

- บวมน้ำหรือแค่อ้วน ชวนให้สงสัย แก้ยังไงให้หายบวม !

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 อาหารลดบวม ขับน้ำส่วนเกินจากร่างกาย พร้อมวิธีลดโซเดียม อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2565 เวลา 16:32:38 309,146 อ่าน
TOP