x close

เช็กลิสต์เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย วัดไข้แบบอินฟราเรด ในงบ 2,000 บาท ยี่ห้อไหนดี

          เรามาถึงจุดที่เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย กลายเป็นของที่ต้องมีติดบ้าน ร้านค้า หรือสำนักงานกันแล้ว ว่าแต่ซื้อเครื่องวัดไข้อินฟราเรดยี่ห้อไหนดี ในงบไม่เกิน 2,000 บาท ลองเช็กเลย
          ตั้งแต่ที่โควิด 19 ระบาด การวัดไข้ วัดอุณหภูมิร่างกาย ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงเป็นโควิดในเบื้องต้น และหลายคนก็อยากเช็กอุณหภูมิในร่างกายตัวเองบ่อย ๆ ด้วย ว่าเราติดหรือยัง ดังนั้น เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ที่ใช้วัดไข้ตรงหน้าผาก หู จึงกลายเป็นไอเทมที่ต้องมีติดบ้านไว้ เนื่องจากวัดไข้ได้สะดวก อ่านค่าง่าย รวดเร็วทันใจ
          ว่าแต่ถ้าจะหาซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายในราคาไม่เกิน 2,000 บาท ยี่ห้อไหนน่าสนใจบ้าง เราได้รวมลิสต์เครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟราเรด ที่วัดได้จากหน้าผากมาให้พิจารณาตรงนี้แล้ว
เครื่องวัดอุณหภูมิ

อุณหภูมิปกติของร่างกายคือเท่าไร แบบไหนเรียกว่ามีไข้

          อุณหภูมิร่างกาย ปกติจะอยู่ที่ 36.2-37.5 องศาเซลเซียส หากเกินกว่านั้นก็จะถือว่ามีไข้ โดยเกณฑ์การวัดไข้ทั่วไปก็มีหลายระดับ ดังนี้

     - อุณหภูมิ 37.6 - 38.3 องศาเซลเซียส = มีไข้ต่ำ

     - อุณหภูมิ 38.4 - 39.4 องศาเซลเซียส = มีไข้ปานกลาง

     - อุณหภูมิ 39.5 - 40.5 องศาเซลเซียส = มีไข้สูง

     - อุณหภูมิ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป = มีไข้สูงมาก

          ทั้งนี้ การวัดไข้ก็จะขึ้นอยู่กับบริเวณที่วัดอุณหภูมิด้วย เช่น หากวัดอุณหภูมิทางปาก รักแร้ หู ได้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือวัดอุณหภูมิทางทวารหนักแล้วเกิน 38 องศาเซลเซียส ภายใน 48 ชั่วโมง ร่วมกับมีอาการตัวร้อนที่สัมผัสได้ ซึม หน้าแดง ตัวแดง หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ก็จัดว่ามีอาการไข้อย่างแน่นอน ควรต้องรีบลดไข้ด้วยการเช็ดตัว หรือไปพบแพทย์จะดีที่สุด
 

อุณหภูมิร่างกาย ปกติอยู่ที่เท่าไร วัดไข้แบบไหนให้คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

เครื่องวัดไข้ มีแบบไหนบ้าง
เครื่องวัดอุณหภูมิ

          อุปกรณ์วัดไข้ หรือเครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกาย มีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ โดยปัจจุบันก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน ดังนี้

1. ปรอทวัดอุณหภูมิชนิดแก้ว

          เป็นเครื่องมือวัดไข้ทางปาก หรือรักแร้ วัดอุณหภูมิร่างกายได้ด้วยการอมไว้ใต้ลิ้น หรือหนีบไว้ทางรักแร้ ส่วนการอ่านค่าจะอ่านจากปรอทที่มีตัวเลขอุณหภูมิกำกับอยู่ และหลังจากการใช้ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อให้ดี

2. ปรอทวัดอุณหภูมิชนิดแก้ว ที่ใช้วัดไข้ทางก้น

          มีลักษณะคล้ายปรอทวัดไข้แบบแก้ว แต่รูปร่างจะเล็ก เรียวกว่า เพื่อให้ง่ายต่อการเหน็บเข้ารูทวาร ซึ่งปรอทวัดไข้ชนิดนี้จะใช้สำหรับเด็กเล็กที่อยู่ไม่นิ่งพอจะวัดไข้ทางปากหรือให้หนีบรักแร้ไว้  โดยก่อนใช้ต้องทาเจลหล่อลื่น และควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเสี่ยงทำให้ผู้ถูกวัดไข้บาดเจ็บได้หากไม่ชำนาญพอ

3. ปรอทวัดอุณหภูมิชนิดดิจิทัล

          ตัวนี้เป็นอุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายที่พัฒนามาจากปรอทวัดไข้แบบแก้วอีกที จึงมีรูปทรงคล้ายกันมาก แต่แบบดิจิทัลจะอ่านค่าได้จากตัวเลขดิจิทัลที่ปรากฏบนหน้าจอ เรียกได้ว่าสะดวกในการอ่านค่าอุณหภูมิร่างกายมากกว่าเดิม ทว่าก็ยังต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังการใช้งาน

4. แถบเทปวัดไข้

         เครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกายแบบแผ่นเทปแปะหน้าผาก ทิ้งไว้สักพักจะมีตัวเลขดิจิทัลปรากฏอุณหภูมิร่างกายขึ้นมา จนตัวเลขหยุดวิ่งแล้วก็อ่านค่าได้ จัดว่าสะดวกและรวดเร็วดี ทว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง

5. เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู

          เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายตัวนี้เป็นแบบที่เราจะเห็นได้บ่อยตามแผนกคัดกรองผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยใช้วัดไข้ด้วยการใส่ปลอกหุ้มปลายหัวเครื่องแล้วแหย่เข้าไปในหู เครื่องจะวัดอุณหภูมิและแปลค่าให้เป็นตัวเลขดิจิทัลอ่านง่าย แต่เครื่องวัดไข้แบบนี้ต้องเปลี่ยนปลอกหุ้มตัววัดเป็นอันใหม่ทุกครั้งที่ใช้วัดคนไข้ อีกทั้งต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องทุก ๆ 6 เดือนด้วย

6. เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด แบบไร้สัมผัส

          เครื่องวัดไข้อินฟราเรดแบบวัดอุณหภูมิร่างกายผ่านทางหน้าผาก มีทั้งแบบปืนยิงอุณหภูมิร่างกาย หรือเครื่องวัดอุณหภูมิแบบติดผนัง หรือวางบนขาตั้ง เป็นแบบที่เราเห็นได้บ่อยในช่วงที่โควิดระบาด เพราะเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดสามารถวัดไข้ได้โดยไม่ต้องสัมผัสร่างกาย และแสดงผลเร็วมาก ๆ

7. เครื่องสแกนอุณหภูมิแบบเดินผ่าน วัดไข้จากคลื่นรังสีความร้อน

          ในสถานที่ใหญ่ ๆ เช่น ทางเข้าสนามบิน โรงพยาบาล หรือทางเข้าสถานศึกษา เราอาจเคยเดินผ่านประตูสแกนอุณหภูมิร่างกาย ที่ใช้หลักการตรวจวัดคลื่นรังสีความร้อนจากร่างกาย ซึ่งเครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกายแบบนี้สามารถวัดไข้ได้จากระยะไกล แสดงผลได้เร็ว เหมาะกับสถานที่ที่มีคนเดินเข้าพื้นที่จำนวนมาก ๆ
          อย่างไรก็ตาม เครื่องวัดไข้แต่ละแบบก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ข้อสำคัญคือเราต้องเลือกใช้เครื่องวัดอุณหภูมิให้เหมาะสมนะคะ
ข้อดีและข้อจำกัดในการวัดไข้
ด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด

          นับว่าเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดมีความเหมาะสมมากในสถานการณ์โควิด 19 เพราะสามารถวัดไข้โดยไม่สัมผัสร่างกาย ใช้งานง่าย แปลค่ารวดเร็ว มีค่าความผิดพลาดประมาณ 0.1-0.2% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ
 

          ทว่าข้อจำกัด คือ เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรดเป็นการวัดไข้จากอุณหภูมิผิว (Surface temperature) ไม่ได้วัดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ดังนั้นจึงควรวัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผากเท่านั้น ไม่ควรวัดที่ช่องหู หรือฝ่ามือ เพราะจะทำให้แสดงผลผิดพลาดได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ข้างให้มาก โดยเฉพาะสภาพอากาศ อากาศที่อบอ้าว อากาศหนาวจากแอร์ หรือการวิ่งมาวัดไข้ก็อาจเกิดพลังงานความร้อนแฝงได้ จึงต้องมีหลักการวัดไข้ที่เหมาะสมด้วย
วิธีใช้เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด
เครื่องวัดอุณหภูมิ

          เครื่องวัดไข้แบบอินฟราเรด ทำงานด้วยการวัดรังสีความร้อนที่แผ่ออกมาจากผิวหนัง และแปลผลออกมาเป็นตัวเลขอุณหภูมิของร่างกาย โดยมีหลักการใช้งาน ดังนี้

          - ตัวเครื่องวัดอุณหภูมิควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะทำการวัดไข้ไม่น้อยกว่า 30 นาที

          - เช็กเครื่องวัดอุณหภูมิให้พร้อมใช้งาน เช่น แบตเตอรี่ต่ำไหม โหมดการวัดอุณหภูมิเป็นโหมดวัดอุณหภูมิร่างกาย (Body temperature) หรือยัง

          - ใช้วัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผาก โดยไม่มีเสื้อผ้าหรือสิ่งกีดขวางปกคลุม และถือเครื่องวัดให้ตั้งฉากกับหน้าผาก มืออยู่นิ่ง ๆ และผู้ที่ถูกวัดก็ควรอยู่นิ่ง ไม่ขยับไป-มา

          - ควรเว้นระยะห่างในการวัดอุณหภูมิอย่างเหมาะสม โดยดูตามคู่มือการใช้งานของเครื่องวัดอุณหภูมิแต่ละเครื่อง

          -  ก่อนวัดอุณหภูมิ ร่างกายควรอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และยืนหรือนั่งพักอย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้วัดค่าอุณหภูมิร่างกายใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

          - ควรวัดซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอนที่สุด  

          - ผู้ทำการวัดและผู้ถูกวัดควรต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และสวมใส่ชุดป้องกันในกรณีที่ต้องคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูง

          อย่างไรก็ตาม หากต้องการวัดไข้ที่ได้ผลแม่นยำจริง ๆ ควรวัดไข้ด้วยเครื่องมืออื่นซ้ำอีกครั้ง เช่น ปรอทชนิดแก้ว เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู โดยวัดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายจากบริเวณช่องปาก เยื่อแก้วหู (ในช่องหู) รักแร้ หรือทวารหนัก ซึ่งจะได้ค่าที่เที่ยงตรงกว่า

วิธีเลือกซื้อเครื่องวัดไข้แบบอินฟราเรด

          หากจำเป็นต้องคัดกรองคนอย่างเข้มข้น บวกกับจำนวนคนผ่านเข้า-ออกมีไม่มาก ควรเลือกใช้ครื่องวัดไข้อินฟราเรดแบบปืนยิงหน้าผาก วัดไข้คนต่อคนไปเลย
 

          แต่หากเป็นสถานที่ค่อนข้างใหญ่ จำนวนคนผ่านเข้า-ออกค่อนข้างมาก อาจเลือกใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายอินฟราเรดแบบติดผนังหรือตั้งบนขาตั้งแทน เครื่องวัดไข้ชนิดนี้จะสะดวกกับเจ้าหน้าที่ เพราะไม่ต้องไล่วัดอุณหภูมิคนต่อคน เพียงแค่ยืนเช็กเฉย ๆ ว่าใครมีไข้หรือไม่มีแล้วคัดกรองเท่านั้น

เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย เครื่องวัดไข้แบบอินฟราเรด
ซื้อที่ไหน

          ถ้าอยากซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดแบบยิงหน้าผากมาวัดไข้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา ร้านค้าชั้นนำทั่วไป เช่น ห้างสรรพสินค้า Home pro, Officemate, Watsons หรือเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada, JD central หรือ 7online
 

          แต่ถ้ายังไม่รู้จะซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดยี่ห้อไหนดี เรามีมาแนะนำ ในราคาไม่เกิน 2,000 บาท

เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด แบบยิงหน้าผาก
ราคาไม่เกิน 2,000 บาท

1. SIMZO HW-F7

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก simzo

          เครื่องวัดอุณหภูมิยี่ห้อดังจากประเทศจีน เครื่องนี้มีใบรับรอง FDA จากอเมริกา ผลิตจากวัสดุคุณภาพดีจากเยอรมนี โดยใช้ชิปเดียวกับเครื่องวัดอุณหภูมิในโรงพยาบาล ตัวเครื่องกะทัดรัด ด้ามจับถนัดมือ นอกจากจะใช้วัดอุณหภูมิร่างกายแล้ว ยังสามารถใช้วัดค่าอุณหภูมิน้ำ, อุณหภูมิของนม หรืออุณหภูมิห้องก็ได้ ตัวเครื่องใช้เพียงถ่านอัลคาไลน์ AAA 2 ก้อนเท่านั้นเอง ส่วนความแม่นยำในการวัดไข้อยู่ที่ +- 0.2 หากมีอุณหภูมิถึง 38 องศาเซลเซียส จะมีเสียงเตือนและไฟสีแดง

  • ราคา : ประมาณ 850-1,300 บาท

2. Anitech- JK-106

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก anitechonline

          เครื่องวัดไข้แบรนด์ญี่ปุ่น ขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ตัวนี้มีหน่วยความจำ 32 ชุด ตัวอ่านคุณภาพดี แม่นยำ แสดงผลภายใน 1 วินาที สามารถวัดทั้งอุณหภูมิร่างกายและอุณหภูมิห้อง  ตั้งให้แสดงผลเป็นองศาเซลเซียสหรือองศาฟาเรนไฮต์ก็ได้ ที่สำคัญก็มีใบรับรองจากการนำเข้าจาก อย. ด้วย

  • ราคา : ประมาณ 1,390 บาท

3. CONTEC รุ่น TP500

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก shopat24

          เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายที่มาพร้อมหน้าจอแสดงผลเด่นชัด สามารถแสดงสีตามเกณฑ์วัดไข้ได้ โดยอุณหภูมิปกติหน้าจอจะเป็นสีน้ำเงิน มีไข้ต่ำ ๆ หน้าจอจะเป็นสีเหลือง มีไข้สูงหน้าจอจะเป็นสีแดง ตัวเครื่องมีโหมดประหยัดพลังงานหน้าจอจะดับหากไม่ใช้งานนาน 5 วินาที มีการวัดที่แม่นยำ +- 0.1 สามารถตั้งค่าแสดงอุณหภูมิเป็นองศาเซลเซียสหรือองศาฟาเรนไฮต์ก็ได้  

  • ราคา : ประมาณไม่เกิน 1,500 บาท

4. Hywell รุ่น UN-001

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก prelamshop

          เครื่องวัดอุณหภูมิที่วัดผลรวดเร็ว และมีเสียงแจ้งเตือนเมื่อตรวจจับอุณหภูมิสูง พร้อมกับหน้าจอเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่ออุณหภูมิเกิน 37.4 องศาเซลเซียส มีบันทึกเก็บข้อมูลย้อนหลังอัตโนมัติ ตัวเครื่องกะทัดรัด น้ำหนักเบา จับถนัดมือ และใช้งานง่าย สามารถแสดงอุณหภูมิได้ทั้งแบบองศาเซลเซียสและองศาฟาเรนไฮต์

  • ราคา : ประมาณไม่เกิน 1,700 บาท

5. Yuwell รุ่น YT-1

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก mdmeda

          น่าจะเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันดี เพราะเจ้านี้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นิยมใช้กันในบ้านเราหลายชิ้น และกับเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดตัวนี้ก็มีคุณสมบัติน่าสนใจ ตั้งแต่ดีไซน์มินิมอล ทันสมัย มาพร้อมกับโหมดแจ้งเตือนเมื่อระยะห่างการวัดไม่ได้ตามกำหนด มีเสียงเตือน และระบบสั่นเตือนเมื่อวัดค่าเสร็จ ถ้าอุณหภูมิสูงหรือเท่ากับ 37.6 หน้าจอจะเปลี่ยนเป็นสีส้มทันที มีโหมดแสดงอุณหภูมิทั้งแบบองศาเซลเซียสและองศาฟาเรนไฮต์ และหน้าจอจะดับอัตโนมัติหากไม่ใช้งานภายใน 30 วินาที

  • ราคา : ประมาณ 1,500-2,000 บาท

6. Jumper JPD-FR408

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก wish

          เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด 2 ระบบ สามารถยิงวัดไข้บริเวณหน้าผาก หรือจิ้มวัดไข้ในช่องหูก็ได้ เรียกว่า 2 in 1 แบบเก๋ ๆ ตัวเครื่องมีระบบแจ้งเตือนเมื่อตรวจจับอุณหภูมิสูง มีโหมดบันทึกข้อมูลอุณหภูมิ 20 ค่า และแบรนด์นี้เป็นผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้รับมาตรฐานจากยุโรปและอเมริกาด้วยนะคะ

  • ราคา : ประมาณ 1,500-2,000 บาท

7. LEPU LFR30B

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก lepumedical

          เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดสัญชาติเยอรมนี วัดได้ทั้งหน้าผาก และอุณหภูมิวัตถุต่าง ๆ แสดงผลรวดเร็วใน 1 วินาที มีแสงสีฟ้าแสดงระยะห่างที่เหมาะสมในการวัดอุณหภูมิ ส่วนของหน้าจอสามารถแยกสีตามระดับอุณหภูมิได้ คือ สีเขียวปกติ สีเหลืองมีไข้ต่ำ (37.5-38.5 องศาเซลเซียส) และสีแดงมีไข้สูง (38.6 องศาเซลเซียสขึ้นไป) พร้อมเสียงแจ้งเตือน สามารถเก็บข้อมูลตรวจวัดได้สูงถึง 99 ดาต้า และมีโหมดประหยัดพลังงานเมื่อไม่ใช้งานภายใน 60 วินาที

  • ราคา :  ประมาณ 1,500-2,000 บาท

8. Microlife FR1DL1/FR1MF1

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก microlife-thailand

          เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากแบบอินฟราเรดที่รูปทรงคล้ายรีโมต ดีไซน์เรียบ ไม่เทอะทะ บันทึกหน่วยความจำได้ 30 ค่า มาพร้อมกับเทคโนโลยีแสงนำทาง (Guiding Light) ช่วยบอกตำแหน่งให้ผู้ใช้งานสามารถปรับตำแหน่งการวัดให้ถูกต้องได้ เมื่อวัดแล้วจะแสดงผลเป็น 2 สี คือ สีเขียวปกติ แต่หากอุณหภูมิสูงเกิน 37.4 องศาเซลเซียส หน้าจอจะเป็นสีแดง พร้อมเสียงแจ้งเตือน นอกจากนี้ยังแจ้งเตือนเมื่อแบตเตอรี่ต่ำ สามารถเปลี่ยนถ่านได้ โดยใช้ถ่าน AAA 1.5 V 2 ก้อน ตัวเครื่องมีระยะเวลารับประกันศูนย์ 2 ปี

  • ราคา :  ประมาณ 1,940 บาท

9. Beurer FT 65

เครื่องวัดอุณหภูมิ

          เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด 6 in 1 คุณภาพเยอรมนี สามารถวัดอุณหภูมิหน้าผากและหู รวมทั้งอุณหภูมิของพื้นผิววัตถุต่าง ๆ ได้ โดยมีปุ่มให้กดเปลี่ยนโหมดตามการใช้งาน ส่วนหน้าจอแสดงผลเป็นตัวเลขดิจิทัล พร้อมสัญญาณไฟแสดงค่าปกติเป็นสีเขียว ผิดปกติเป็นสีแดง  โดยเลือกให้แสดงค่าเป็นองศาเซลเซียสหรือฟาเรนไฮต์ก็ได้ สามารถเปลี่ยนถ่านได้ โดยใช้ถ่าน AAA 1.5 V 2 ก้อน ตัวเครื่องมีระยะเวลารับประกันศูนย์ 5 ปี

  • ราคา : ประมาณ 1,950 บาท

10. Easy Thermo

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก fascino

          เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด 4 in 1 จุดเด่นคือ สามารถแยกโหมดวัดอุณหภูมิระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ได้ โดยแบ่งเป็นโหมดวัดอุณหภูมิหน้าผากเด็ก หน้าผากผู้ใหญ่ โหมดวัดอุณหภูมิทางหู และยังวัดอุณหภูมิวัตถุได้ ดีไซน์ตัวเครื่องเล็ก กะทัดรัด ใช้ง่าย แสดงผลได้แม่นยำด้วยการทดสอบทางคลินิกมากกว่า 1,000 ครั้ง หน้าจอแสดงผลใหญ่ อ่านง่าย มีไฟแจ้งเตือน 4 สี สีขาวพร้อมใช้งาน สีเขียวปกติ สีเหลืองมีไข้ต่ำ ๆ สีแดงมีไข้สูง (เกิน 38.1 องศาเซลเซียส) พร้อมเสียงแจ้งเตือนเมื่อวัดค่าเสร็จ  

  • ราคา : ประมาณ 1,600-2,100 บาท

11. OMRON MC-720

เครื่องวัดอุณหภูมิ

ภาพจาก omronhealthcare

          อีกหนึ่งแบรนด์ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำ และเป็นที่นิยมในไทย เครื่องนี้วัดได้ 3 รูปแบบ คือ วัดอุณหภูมิร่างกายทางหน้าผาก วัดอุณหภูมิภายในห้อง และอุณหภูมิพื้นผิว สามารถแปลผลได้เร็วภายใน 1 วินาที เก็บข้อมูลย้อนหลังได้ 25 ดาต้า หน้าจอขนาดใหญ่ อ่านชัดเจน พร้อมมีเสียงแจ้งเตือนเมื่อวัดค่าเสร็จ และไฟ Blacklight ดูง่ายแม้อยู่ในที่มืด เครื่องนี้ใช้ถ่านกระดุมลิเธียม CR2023 ใช้งานได้ทนทานมากกว่า 2,500 ครั้ง

  • ราคา : ประมาณ 1,900-2,200 บาท

          อย่างไรก็ตาม เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรดมีจำหน่ายหลายราคา หลากคุณภาพในปัจจุบัน ดังนั้นก่อนเลือกซื้อก็ควรเช็กให้ดีว่าผ่านการรับรองมาตรฐานไหม เพื่อการวัดอุณหภูมิร่างกายที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด หรือจะซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือก็ได้ค่ะ
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กลิสต์เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย วัดไข้แบบอินฟราเรด ในงบ 2,000 บาท ยี่ห้อไหนดี อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:14:03 22,939 อ่าน
TOP