x close

สีน้ำมูกบอกโรคอะไร เช็กให้แน่ใจก่อนกินยาผิด ๆ

          สีนํ้ามูกบอกโรคอะไรได้บ้าง หรืออาจเป็นสัญญาณใกล้หายป่วยหรือเปล่า มาหาคำตอบกัน
          เคยได้ยินกันไหมคะว่า ถ้าตอนเป็นหวัดแล้วน้ำมูกเปลี่ยนสีไป จะบอกได้ว่าอาการหวัดอยู่ในระยะไหน ใกล้หายแล้วหรือยัง ซึ่งนั่นก็ทำให้คนเริ่มสงสัยว่าสีน้ำมูกบอกโรคได้จริงหรือเปล่า งั้นเราลองมาเช็กเลยดีกว่าว่า น้ำมูกสีใส น้ำมูกสีเขียว หรือน้ำมูกสีเหลือง จริง ๆ แล้วสีพวกนี้มีความหมายยังไงกันแน่
น้ำมูก

น้ำมูกเกิดจากอะไร มีประโยชน์บ้างไหมนะ

          น้ำมูกเป็นสารคัดหลั่งที่ออกมาจากจมูก มีหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายใต้เยื่อบุจมูกจากสารพิษ สารระคายเคืองต่าง ๆ โดยในน้ำมูกมีแอนติบอดีและเอนไซม์ช่วยดักจับฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่ปนมากับอากาศที่เราสูดหายใจเข้าไป และยังช่วยให้ความชุ่มชื้นกับเยื่อบุจมูกตลอดเวลา เพราะหากเยื่อบุจมูกแห้ง ไร้น้ำมูก ก็อาจเสี่ยงกับภาวะติดเชื้อมากขึ้นได้ ดังนั้นน้ำมูกไม่ได้มีแค่ตอนเป็นหวัดเท่านั้น แต่เมื่อเจอกับปัจจัยเหล่านี้ร่างกายก็ผลิตน้ำมูกออกมาได้เช่นกัน

          1. สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร หรือขนสัตว์ เป็นต้น

          2. การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่กระตุ้นให้จมูกสร้างสารคัดหลั่งขึ้นมา

          3. โรค เช่น หวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือมะเร็งในโพรงจมูก

สีน้ำมูกบอกโรคอะไรได้บ้าง
น้ำมูก

          เปิดความหมายสีน้ำมูกบอกปัญหาสุขภาพได้ แต่ละสีหมายถึงป่วยโรคอะไร ลองเช็กเลย

1. น้ำมูกใส

          น้ำมูกสีใสประกอบไปด้วย น้ำ แอนติบอดีที่ต่อต้านเชื้อโรค เกลือ และโปรตีน โดยน้ำมูกสีใสส่วนใหญ่พบได้ในคนที่สูดเอาฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเข้าไป จมูกเลยผลิตน้ำมูกออกมาล้างความสกปรกนี้ หรือพบได้ในคนที่เป็นหวัด จากภาวะเยื่อบุจมูกอักเสบ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะก็หายได้ หรือในกรณีที่มีน้ำมูกใสจำนวนมาก อาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ก็ได้

2. น้ำมูกสีขาวขุ่น

          น้ำมูกสีขาวขุ่นอาจเกิดจากการที่น้ำมูกขังอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานาน เนื่องจากเยื่อจมูกมีอาการอักเสบและบวม ทำให้สีใส ๆ เปลี่ยนเป็นสีขุ่นได้เพราะขาดน้ำ โดยน้ำมูกสีขาวขุ่นมักจะมีลักษณะหนา ข้น และเหนียวกว่าน้ำมูกสีใสด้วย

3. น้ำมูกสีเหลือง

          เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียในโพรงจมูก หรือโรคไซนัส เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเซลล์ต้านเชื้อออกมาสู้ และเมื่อเชื้อตายก็อาจไปปนกับเมือกและหนองต่าง ๆ ทำให้เกิดน้ำมูกสีเหลืองขึ้นมาได้ นอกจากนี้การที่น้ำมูกค้างอยู่ในโพรงจมูกเป็นเวลานานมาก ๆ เช่น ในช่วงที่เรานอนหลับ การรวมตัวกันอย่างหนาแน่นของสารคัดหลั่งก็อาจทำให้น้ำมูกมีสีเหลืองได้เช่นกัน แม้จะไม่มีการติดเชื้อใด ๆ แต่ในเคสที่ไม่ติดเชื้อจะสังเกตได้ว่า น้ำมูกมีสีเหลืองเฉพาะหลังตื่นนอนเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาอื่นน้ำมูกจะมีสีใสปกติ

4. น้ำมูกสีเขียว

          เป็นสีที่เราเห็นกันบ่อยมากเหมือนกัน ซึ่งน้ำมูกสีเขียวอาจบ่งชี้ถึงอาการภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย รวมไปถึงโรคไซนัสอักเสบ จนเยื่อบุจมูกบวมและสร้างน้ำมูกมากกว่าปกติ หรือในกรณีติดเชื้อร่างกายจะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับเชื้อ และเซลล์เหล่านี้จะทำให้น้ำมูกเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองได้ ซึ่งการที่น้ำมูกสีเขียวแสดงว่ามีการติดเชื้อรุนแรงกว่าน้ำมูกเหลือง

          แต่อย่างไรก็ตาม การที่น้ำมูกเป็นสีเขียวก็ฟันธงไม่ได้ 100% ว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ หรือเป็นไซนัสอักเสบหรือเปล่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย
 

ไซนัสอักเสบแตกต่างจากหวัดอย่างไร

5. น้ำมูกสีเทา

          น้ำมูกสีเทาส่วนใหญ่เจอได้ในคนที่มีอาการภูมิแพ้ ติดเชื้อไวรัส หรืออาจเจอในผู้ป่วยโรคริดสีดวงจมูก โดยการที่น้ำมูกเป็นสีเทาก็เกิดจากสารคัดหลั่งเข้มข้นขึ้น จากสีใส ๆ จึงกลายเป็นสีขุ่นไปจนถึงสีเทา

6. น้ำมูกสีแดง หรือมีเลือดปน

          หากน้ำมูกเป็นสีชมพูออกแดง ลักษณะคล้ายมีเลือดปน อาจมีสาเหตุจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก จากการระคายเคืองจมูก ภูมิแพ้ การสั่งน้ำมูกแรง ๆ การได้รับบาดเจ็บบริเวณจมูก การอักเสบในบริเวณโพรงจมูก เนื้องอก โรคหลอดเลือดต่าง ๆ หรือแม้แต่การที่เยื่อบุจมูกแห้งจากสภาวะอากาศแห้งหรือภาวะขาดน้ำ ก็อาจทำให้เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตกได้ง่ายเช่นกัน

7. น้ำมูกสีดำ

          น้ำมูกสีดำเจอได้ในคนที่สูดดมมลภาวะทางอากาศ เช่น ฝุ่นผง เข้าไปในปริมาณมาก โดยลักษณะน้ำมูกจะเป็นสีใส สีขุ่น พร้อมกับมีฝุ่นสีดำ ๆ ปนอยู่ในน้ำมูกนั้น ทว่าหากน้ำมูกเป็นสีดำอย่างเห็นได้ชัดเลย อาจต้องสงสัยความผิดปกติอื่น เช่น การติดเชื้อราในโพรงจมูกหรือไซนัส
น้ำมูกเปลี่ยนสี แปลว่าอาการป่วยใกล้หาย ?
          เมื่อเราเป็นหวัด แรก ๆ น้ำมูกจะมีสีใส แล้วก็อาจจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวในภายหลัง ซึ่งหลายคนก็เข้าใจมาโดยตลอดว่า การที่น้ำมูกเป็นสีเขียวแปลว่าใกล้หายแล้ว แต่ขอบอกเลยว่าเป็นการเข้าใจผิด เพราะการที่น้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเขียว นั่นแปลว่าร่างกายเราติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น จนระบบภูมิคุ้มกันต้องส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมาจัดการ ดังนั้นหากเป็นหวัดแล้วมีน้ำมูกสีเขียว ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หรือท้องเสีย ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วยนะคะ
น้ำมูกไหลมาก อันตรายไหม
น้ำมูก

          เวลาที่มีน้ำมูกมาก ๆ หลายคนถึงขั้นจมูกตัน หายใจไม่ออก จนทำให้เกิดความสงสัยว่า การที่น้ำมูกไหลออกมามาก อันตรายหรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วร่างกายเราสามารถผลิตน้ำมูกได้มากถึง 2 ลิตรต่อวัน แต่เราไม่รู้ตัวเพราะน้ำมูกอาจไหลลงคอ แล้วเราบ้วนทิ้งเป็นเสมหะ หรือกลืนลงไป นอกเสียจากน้ำมูกบางส่วนที่ไหลออกมาทางจมูก ซึ่งเราก็มักจะสั่งน้ำมูกทิ้งไป

          ทว่าในบางคนที่มีน้ำมูกมาก คือมีน้ำมูกไหลต่อเนื่องหลายเดือน หรือน้ำมูกไหลมากเป็นช่วงเวลา เช่น หลังตื่นนอน หลังกินอาหารเผ็ด ร้อน หลังอาบน้ำ ก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือมะเร็งในโพรงจมูก ดังนั้นหากมีน้ำมูกมากผิดสังเกต แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุจะดีที่สุด

วิธีลดน้ำมูกให้หายไว ไม่ต้องกินยาก็ได้นะ

          น้ำมูกเป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายผลิตออกมาตามกลไกของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นเมื่อมีน้ำมูกบางคนก็หายเองได้ หรือแม้แต่การเป็นหวัด น้ำมูกไหล กรณีนี้ก็ไม่แนะนำให้ซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเองนะคะ เพราะการมีน้ำมูกอาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเกิดจากสาเหตุอื่นที่กินยาปฏิชีวนะเข้าไปก็ไม่ช่วยให้น้ำมูกหายไปได้ ดังนั้นก่อนกินยาลดน้ำมูก ลองมาลดน้ำมูกด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้ยาดูก่อนดีกว่า
 

9 อาหารช่วยลดน้ำมูก กำจัดเสมหะ แก้หวัดในตัว

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สีน้ำมูกบอกโรคอะไร เช็กให้แน่ใจก่อนกินยาผิด ๆ อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2564 เวลา 10:49:39 155,063 อ่าน
TOP