x close

อัมพฤกษ์-อัมพาต ต่างกันยังไง ฉีดวัคซีนซิโนแวคเสี่ยงจริงหรือ ?

          อัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเรื่องจริงไหม แล้วอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากอะไร อาการไหนเป็นสัญญาณเตือน มาทำความเข้าใจกัน
          หลายคนที่ติดตามข่าวการฉีดวัคซีนโควิด คงตกอกตกใจไม่น้อยที่เห็นข่าวผู้รับการฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค จนเกิดคำถามในใจว่า แล้ววัคซีนนี้จะปลอดภัยกับตัวเองหรือไม่ พร้อมกับสงสัยว่า ถ้าอาการเหล่านี้เป็นเพียงผลข้างเคียงชั่วคราวของวัคซีนซิโนแวคที่สามารถหายเองได้ แล้วอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร ถ้ามีญาติป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรดูแลอย่างไร รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ต้องทำอย่างไร เรามีคำตอบมาให้คุณแล้วค่ะ
อัมพฤกษ์-อัมพาต

อัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนชิโนแวค จริงหรือไม่

          ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จำนวน 6 ราย มีอาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรงหลังจากฉีดวัคซีนซิโนแวค ประมาณ 5-30 นาที เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม บางรายมีอาการอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ซึ่งคล้ายกับโรคทางสมองหรืออัมพฤกษ์ ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องรีบเข้าไปตรวจสอบสาเหตุ

          ภายหลังการตรวจสอบก็พบว่า อาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงอาการชั่วคราว หายได้เองภายใน 1-3 วัน แม้บางรายมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ แต่เมื่อสืบสวนโรคและทำ MRI สแกนสมองก็ปกติดี และทุกคนก็มีอาการฟื้นตัวดีขึ้น จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร โดยเชื่อว่าอาการไม่พึงประสงค์นี้น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน

          อย่างไรก็ตาม ทางทีมแพทย์ยังแนะนำให้ใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ค่ะ เพราะตรวจสอบวัคซีนแล้วไม่พบความผิดปกติ อีกทั้งอัตราการเกิดผลข้างเคียงไม่ชัดเจน เนื่องจากฉีดไปหลายแสนโดสแล้ว แต่เจอเคสนี้เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งการฉีดวัคซีนยังเป็นประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราวนั่นเอง

อัมพฤกษ์ หมายถึงอะไร

          ในเมื่ออาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนไม่ใช่อัมพฤกษ์ งั้นจริง ๆ แล้ว อาการอัมพฤกษ์ คืออะไรล่ะ ?

          อัมพฤกษ์ ภาษาอังกฤษ คือ Paresis เป็นอาการที่อวัยวะอ่อนแรง โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นที่บริเวณแขนและขา แต่ก็สามารถเกิดกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ดวงตา กระเพาะอาหาร เป็นต้น นับเป็นอาการแสดงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง  (Stroke) เช่นเดียวกับอาการอัมพาต (Paralysis) ซึ่งโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทแบบทันทีทันใด จึงอาจเรียกเหมารวมได้ว่า อัมพฤกษ์ อัมพาต ก็คือโรคหลอดเลือดสมองนี่เอง

อัมพฤกษ์ อัมพาต ต่างกันยังไง

          บ่อยครั้งที่เรามักจะได้ยินอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต และเข้าใจว่าเป็นโรคเดียวกัน แต่ทั้ง 2 อาการนั้นเป็นคนละโรค และมีความแตกต่างกัน ดังนี้

          - อัมพฤกษ์ เป็นภาวะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉพาะจุด แต่ยังใช้งานได้ สามารถขยับได้ระดับหนึ่ง ไม่มีกำลังมากเท่าปกติ อาการที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ แขนหรือขาชา มือหยิบจับหรือกำสิ่งของไม่ได้ ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ มุมปากตก พูดไม่ชัด ตามัว มองเห็นภาพซ้อน
 
          - อัมพาต เป็นภาวะที่แขนหรือขาไม่มีแรงเลย ใช้งานไม่ได้ ไม่สามารถขยับได้ อาจจะทั้งร่างกาย หรือซีกใดซีกหนึ่ง อาการที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ ขยับแขนหรือขาไม่ได้ พูดไม่ได้ ลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้อใบหน้าทำงานได้ไม่เท่ากัน หนังตาตก และมีการตอบสนองที่ช้าลง

          หรือถ้าจะให้พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตจะไม่สามารถขยับได้ แต่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์จะยังสามารถขยับได้นั่นเอง

อัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากอะไรบ้าง
          สาเหตุของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้แก่
อัมพฤกษ์-อัมพาต

1. หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

          นับเป็นสาเหตุหลักของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตเลย เพราะการที่หลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตัน ไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ อาการหลอดเลือดตีบหรืออุดตันอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น มีไขมันสะสมในหลอดเลือดมากเกินไปจนหลอดเลือดอุดตันและตีบแคบ, การแข็งตัวของเลือดที่เร็วผิดปกติ หรือมีปริมาณเกล็ดเลือดมากเกินไป, การสูบบุหรี่จัดทำให้เลือดมีความเข้มข้นสูง โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่บริโภคอาหารไขมันสูง ผู้สูงอายุ ผู้มีความเครียดสะสม คนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเลือด ฯลฯ

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะสมองขาดเลือดแบบชั่วคราว ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3 นาที ถึงเป็นชั่วโมง และหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจจะเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนที่จะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร โดยผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาตอาจจะมีอาการมาก-น้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งและบริเวณของสมองที่ขาดเลือดไปเลี้ยง 

2. หลอดเลือดสมองแตก

          เป็นอาการที่หลอดเลือดแดงในสมองฉีกขาด ทำให้มีเลือดคั่งในสมอง โดยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ หรือควบคุมได้ไม่ดี ทำให้หลอดเลือดอ่อนแอ แตกได้ง่าย หลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือหลอดเลือดมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

3. ความผิดปกติของหัวใจ

          เช่น การมีภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดบริเวณสมอง ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมาได้

4. อุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บ

         ทำให้กระทบกระเทือนบริเวณศีรษะหรือไขสันหลังอย่างรุนแรง จนเกิดความเสียหายภายในสมอง

5. การเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด

          มีบางโรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาชา ไปจนถึงขั้นเป็นอัมพาต เช่น
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS คือ โรคการเสื่อมสลายของประสาทที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัจจุบันไม่มียารักษา หากป่วยแล้วเสียชีวิตได้ภายใน 2-5 ปี
  • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's Palsy) เป็นโรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง
  • โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เกิดจากสมองส่วนที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่อง หรือสูญเสียไป ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่เด็ก
  • โรค GBS กิลแลง บาร์เร ซินโดรม เกิดจากภาวะอักเสบหรือติดเชื้อเฉียบพลันที่ปลอกหุ้มของเส้นประสาทหลาย ๆ เส้นพร้อมกัน จนก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน และหากอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจตกอยู่ในสภาวะอัมพาต
  • มีเนื้องอกในสมอง
อัมพฤกษ์ อัมพาต มีแบบไหนบ้าง
อัมพฤกษ์-อัมพาต

          อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ สามารถเกิดขึ้นกับส่วนใดของร่างกายก็ได้ โดยขึ้นอยูู่กับตำแหน่งของระบบประสาทที่หลอดเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงได้ หากแบ่งประเภทตามส่วนของร่างกายที่มีอาการอ่อนแรง จะแบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้

          - อัมพฤกษ์-อัมพาตครึ่งซีก คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ใบหน้า แขน และขา ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มองเห็นไม่ชัด หากเป็นอัมพฤกษ์ยังขยับตัวได้บ้าง แต่ถ้าอัมพาตจะไม่สามารถขยับได้เลย สาเหตุของการเกิดอัมพาตครึ่งซีกมักเกิดจากความผิดปกติที่สมอง เช่น หลอดเลือดตีบ หลอดเลือดแตก เนื้องอกในสมอง ฯลฯ

          - อัมพาตครึ่งท่อน คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของลำตัว และขาทั้ง 2 ข้าง ไม่มีความรู้สึกบริเวณลำตัวที่ต่ำกว่าข้อกระดูกสันหลังลงมา และไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว การขับถ่ายได้ สาเหตุของอัมพาตครึ่งท่อนมักเกิดจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลังบริเวณใต้หน้าอกลงมา เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ ถูกกระแทก ถูกทำร้ายด้วยอาวุธ ตกจากที่สูง ฯลฯ

          - อัมพาตทั้งตัว คือ ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงของอวัยวะทุกส่วน ไม่สามารถบังคับแขนขาได้ รวมทั้งไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เนื่องจากสมองถูกทำลาย สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรืออาจเกิดจากเนื้องอกในไขสันหลัง

          นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของอัมพาตตามลักษณะของกล้ามเนื้อในบริเวณที่เป็นอัมพาตได้ด้วย ได้แก่

          - อัมพาตชนิดอ่อน ผู้ป่วยจะมีกล้ามเนื้อปวกเปียก ไม่แข็งเกร็ง และไม่กระตุก

          - อัมพาตชนิดแข็ง ผู้ป่วยจะมีกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง

สัญญาณเตือนของอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
อัมพฤกษ์-อัมพาต

          สัญญาณอันตรายที่เตือนว่าอาจจะมีความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมองได้ มีดังนี้

  • ชาตามแขนหรือขา ไม่มีแรงยกแขน กำมือไม่ได้ หยิบจับหรือถือสิ่งของไม่ได้  
  • ชาใบหน้า ชาครึ่งซีกร่างกาย  
  • ตามัว มองไม่ชัด เห็นภาพซ้อน
  • พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง มักมาร่วมกับการอาเจียน
  • มีอาการบ้านหมุน เวียนศีรษะอย่างรุนแรง นานมากกว่า 5 นาที
  • ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ ไม่ตรงทาง
  • หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มุมปากตก
  • กลืนไม่ได้ กลืนลำบาก สำลักน้ำหรือแม้แต่น้ำลายตัวเอง

เราสามารถจำได้ง่าย ๆ ด้วยภาษาอังกฤษ 4 ตัว คือ FAST

  • F = Face      มีอาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า หน้าเบี้ยว ตามัวเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก
  • A = Arm      อาการแขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง
  • S = Speech  ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก
  • T = Time     เวลาที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง
          หากมีอาการเหล่านี้แบบเฉียบพลัน ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด รวมถึงได้รับการรักษาภายใน 270 นาที (4 ชั่วโมงครึ่ง) นับตั้งแต่นาทีแรกที่มีอาการ เพราะหากสมองขาดเลือดนานกว่านี้ เนื้อสมองจะเริ่มตาย ทำให้มีโอกาสเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตตามมา
รักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต ต้องทำยังไง

          การรักษาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การรักษาหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันให้กลับมาทำงานได้เป็นปกติ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

     - การให้ยาสลายลิ่มเลือด โดยจะให้ทางหลอดเลือดดำภายใน 3 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กลับมาเป็นปกติได้ถึง 1.5-3 เท่า

     - การให้ยาแอสไพริน ภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยป้องกันและลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำได้

     - การบำบัดด้วยเครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง จะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูและลดอาการเกร็งของผู้ป่วยได้

     - การทำ Mechanical Thrombectomy หรือการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดสมองเพื่อนำก้อนเลือดที่อุดตันออกมา โดยวิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดอาการ

     - การผ่าตัดเปิดกะโหลก จะใช้วิธีนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีการตีบตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ในสมองเท่านั้น  
 

          ทั้งนี้ การรักษาทั้งหมดจะให้ผลดีอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

     - เวลาที่เข้ามารับการรักษา ถ้ามาถึงเร็ว รักษาเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้มาก
     - ความรุนแรงของอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก ก็อาจจะหายได้เร็วกว่า
     - การดูแลร่างกายของตัวผู้ป่วยเอง เช่น การควบคุมความดัน โรคประจำตัว หมั่นทำกายภาพ หรือการได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว จะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

การดูแลผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
อัมพฤกษ์-อัมพาต

          เมื่อมีสมาชิกในบ้านเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากการรักษาหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันแล้ว การฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยให้กลับมามีอาการดีขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการดูแลในเรื่องของสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และควรเสริมสร้างให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีกำลังใจที่ดีด้วย ดังต่อไปนี้

ผู้ป่วยอัมพฤกษ์

  • ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่ยังขยับได้บ้าง ควรฝึกให้เคลื่อนไหวแขนหรือขาบ่อย ๆ  โดยเน้นการเหยียดเป็นพิเศษ เพื่อช่วยคลายความตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ และควรฝึกให้ยืนและเดินในท่าที่ถูกต้อง
  • ฝึกให้ผู้ป่วยขยับและเคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่จะทำได้ เช่น ยกแขน ขกขา ลุกขึ้นนั่ง หรือยืน รวมถึงให้ผู้ป่วยฝึกทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง เช่น แปรงฟัน อาบน้ำ หรือกินข้าว เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต และช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติโดยเร็ว
  • ฝึกฝนบำบัดรักษาอาการบกพร่องต่าง ๆ เช่น การพูด การกลืนกินอาหาร ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น  
  • ฝึกบริหารการหายใจ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย รู้สึกหายใจไม่อิ่ม จึงต้องฝึกเพื่อให้หายใจได้เพียงพอ ด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ แล้วกลั้นหายใจนับ 1-3 ก่อนจะปล่อยลมหายใจออกทางปาก ทำซ้ำ 5-6 ครั้งแล้วพัก
  • นวดและประคบด้วยลูกประคบสมุนไพร เพื่อกระตุ้นและผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเกร็ง รวมถึงช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ที่ช่วยให้หลอดเลือดสะอาด เช่น มะเขือ ส้ม ข้าวโอ๊ต กระเทียม งา ฟองเต้าหู้ เสริมด้วยกรดโฟลิกในแครอต ผักโขม ปวยเล้ง และอาหารที่ช่วยลดการแข็งตัวของเลือดและลดไขมันในเลือด อย่าง เห็ดหอม สับปะรด มะเขือม่วง ขึ้นฉ่าย สาหร่าย น้ำมันมะกอก น้ำมันงา
  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารรสเย็น เช่น ไอศกรีม ฟัก แตงโม ฯลฯ เพราะอาหารรสเย็นจะไปขัดขวางการทำงานของธาตุลม ทำให้การไหลเวียนเลือดเสียสมดุลไป และอาจทำให้มีอาการท้องอืด ท้องผูก เป็นริดสีดวงได้
  • ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว เพื่อป้องกันท้องผูก
  • พยายามควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติ

ผู้ป่วยอัมพาต

          นอกจากจะดูแลเหมือนกับผู้ป่วยอัมพฤกษ์แล้ว ยังมีสิ่งที่ควรดูแลเพิ่มเติมคือ

  • ต้องระวังเรื่องแผลกดทับเป็นสำคัญ เพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถขยับร่างกายได้ ทำให้ต้องนอนอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานาน จนเกิดอาการแผลกดทับได้ ผู้ดูแลจึงควรหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากเป็นอัมพาตครึ่งซีก สามารถฝึกให้ผู้ป่วยใช้แขนหรือขาข้างที่ยังใช้งานได้ช่วยพลิกตัวเองด้วย
  • จัดท่านอนที่เหมาะสม โดยใช้หมอนบาง ๆ หรือผ้าห่ม วางใต้สะโพกข้างอัมพาตเพื่อกันไม่ให้ขาแบะออก หากนอนตะแคงให้ใช้หมอนรองแขน มือวางบนหมอน
  • จับผู้ป่วยให้ลุกนั่งบ่อย ๆ โดยมีที่พิงบนเตียง ตั้งหลังให้ตรง 70-90 องศา จะได้ไม่ชนกับที่นอนจนเกิดแผลกดทับ ทั้งนี้ เพื่อให้หายใจได้คล่องขึ้น และเลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • ช่วยขยับข้อต่อต่าง ๆ ให้ผู้ป่วย ป้องกันอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งและข้อต่อติด
  •  ดูแลสุขอนามัยพื้นฐานของผู้ป่วย เช่น เช็ดตัวเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ และทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตที่ดี
วิธีป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
อัมพฤกษ์-อัมพาต

          เราสามารถลดความเสี่ยงให้ห่างไกลจากอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ด้วยการดูแลตัวเองง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30–40 นาที ต่อวันจำนวน  3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนจนเกินไป
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  • ควบคุมความดันโลหิต ไขมันในหลอดเลือด และระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
  • ลดอาหารที่มีรสเค็มและหวานจัด รวมทั้งอาหารไขมันสูง เพราะจะเพิ่มโอกาสหลอดเลือดอุดตัน
  • ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคอ้วน ควรกินยาตามที่แพทย์สั่งเป็นประจำ  
  • หากมีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือนเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

          โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนที่เด่นชัด แต่มักมีอาการเฉียบพลัน และหากได้รับการรักษาช้าเกินไปอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นพิการได้ ทำให้อัตราผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่กระนั้นเรายังสามารถป้องกันเบื้องต้นได้ด้วยการดูแลตัวเองให้แข็งแรง รวมถึงใส่ใจสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย 
เอกสารเรื่อง แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วย โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต (Stoke) จากกระทรวงสาธารณสุข
สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย
โรงพยาบาลเพชรเวช
โรงพยาบาลกรุงเทพเมืองราช
สำโรงการแพทย์
โรงพยาบาลศิครินทร์
โรงพยาบาลรามคำแหง
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัมพฤกษ์-อัมพาต ต่างกันยังไง ฉีดวัคซีนซิโนแวคเสี่ยงจริงหรือ ? อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2564 เวลา 10:44:38 11,246 อ่าน
TOP