x close

7 อาการเสี่ยงภาวะหัวใจโต ที่อาจทำหัวใจวายเฉียบพลัน หมดลมหายใจไม่รู้ตัว

          หัวใจโต เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้หัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งที่ไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ มาก่อน ว่าแต่ภาวะนี้อันตรายแค่ไหน ลองมาทำความรู้จักเลย
          ภาวะหัวใจโตเป็นหนึ่งในโรคหัวใจที่น่ากลัวอยู่เหมือนกัน เพราะอย่างที่เราเห็นว่าบางคนมีอาการหัวใจโต แล้วไปทำให้เส้นเลือดอุดตัน หรือทำให้หัวใจเต้นผิดปกติทันที จึงเกิดหัวใจวายเฉียบพลันแบบไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ลาจากโลกนี้ไปอย่างกะทันหัน ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทเรามาลองเช็กสัญญาณเตือนโรคหัวใจโตกันก่อนดีไหม มีอาการอะไรบอกได้บ้างนะว่าเราเสี่ยงภาวะนี้อยู่
ภาวะหัวใจโต

หัวใจโต ภาวะนี้คืออะไร
          หัวใจโต (Cardiomegaly) คือ ภาวะหัวใจที่มีขนาดใหญ่หรือหนากว่าปกติ มักจะตรวจพบจากการตรวจร่างกายหรือการเอกซเรย์หัวใจ ซึ่งหลังจากพบว่าหัวใจโตแล้ว แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตและหาวิธีการรักษา เพราะหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจเสี่ยงเกิดภาวะการทำงานของหัวใจบกพร่องได้
หัวใจโต อาการเป็นยังไง
สังเกตสัญญาณเสี่ยงจากไหนได้บ้าง

          ในระยะเริ่มต้นที่หัวใจยังทำงานได้ปกติ ไม่บกพร่อง อาการของผู้ป่วยจะยังคงปกติดี ทว่าตราบใดที่หัวใจโตส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ดี อาจมีอาการแสดงดังต่อไปนี้ได้

          1. หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ

          2. หายใจเร็ว

          3. เวียนศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลียง่าย

          4. ใจสั่น

          5. มีอาการเท้าบวมในตอนสาย ๆ

          6. ไอเฉพาะเวลานอน

          7. มีอาการไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ขณะนอนราบ

หัวใจโต เกิดจากอะไร
ภาวะหัวใจโต

          ภาวะหัวใจโตเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยส่วนใหญ่จะพบภาวะหัวใจโตจากภาวะ ดังนี้

     * โรคความดันโลหิตสูง

     * โรคความดันในปอดสูง

     * โรคเบาหวาน

     * โรคไขมันในเลือดสูง

     * โรคหัวใจ เช่น โรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคลิ้นหัวใจ

     * โรคโลหิตจาง

     * โรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

     * ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไป หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับโปรตีน

หัวใจโต ใครเสี่ยงบ้าง

คนที่เสี่ยงกับโรคหัวใจโตจะเป็นคนในกลุ่มต่อไปนี้

          1. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีความดันโลหิตสูงอย่างต่อเนื่อง หัวใจจะทำงานหนักและทำให้หัวใจโต

          2. ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ ไม่ว่าจะลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว หรือมีการอักเสบติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ จะเสี่ยงภาวะหัวใจโตมากกว่าคนปกติ

          3. ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) จากพฤติกรรมดื่มสุราเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย และเกิดภาวะหัวใจโตได้

          4. ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิด เช่น โรคผนังหัวใจรั่ว เป็นต้น

          5. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคหรือความผิดปกติกับหัวใจมากกว่าปกติถึง 7 เท่า เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจะก่อความเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกายได้ง่าย และมักจะมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคอ้วน เป็นต้น

          6. ผู้ที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง

          7. ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ

          8. ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางหรือมีภาวะซีดเป็นเวลานาน

          9. ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์

          10. ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กมากเกินไปจนทำให้ร่างกายสะสมธาตุเหล็กและเกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน (Hemochromatosis)

          11. ผู้ป่วยโรคแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) ที่มีภาวะสารโปรตีนผิดปกติชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แอมีลอย เข้าไปจับตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหัวใจจนเป็นสาเหตุทำให้หัวใจล้มเหลวในที่สุด

          12. ผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับควันบุหรี่เป็นเวลานาน

          13. ผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมากกว่าคนอายุน้อย ๆ

          14. ผู้ที่มีภาวะอ้วน จะเสี่ยงภาวะหัวใจโตหรือมีความเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้น

          15. ผู้ที่ติดสารเสพติดให้โทษชนิดต่าง ๆ

          16. คนที่ไม่ออกกำลังกาย

          17. คนที่มีภาวะเครียดบ่อย ๆ

หัวใจโต อันตรายอย่างไร

         คนที่มีภาวะหัวใจโตสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ถ้าดูแลตัวเองให้ดีและรับประทานยาตามแพทย์สั่งก็สามารถควบคุมอาการได้ ไม่ใช่ว่าเป็นแล้วจะต้องเสียชีวิตเสมอไป

         แต่ในกรณีมีภาวะหัวใจโตที่เป็นมานานโดยไม่รู้ตัว จึงไม่ได้รักษา อาจส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติไป และทำให้ใช้ชีวิตลำบากขึ้น โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ มักจะมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย นอนราบปกติไม่ได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะหัวใจโตร่วมกับมีความผิดปกติทั้งระบบหัวใจและสมองพร้อม ๆ กัน อาจเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดอุดตันจนเป็นเหตุให้หัวใจวายเฉียบพลัน เสียชีวิตกะทันหันได้

หัวใจโต รักษาอย่างไร
ภาวะหัวใจโต

          วิธีรักษาหัวใจโตแพทย์จะเลือกรักษาโดยอิงจากสาเหตุที่ทำให้หัวใจโต เช่น หากหัวใจโตจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ก็จะรักษาด้วยยาตามโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็น ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

          แต่หากเป็นภาวะหัวใจโตจากความผิดปกติของหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์จะรักษาด้วยยา หรือในเคสที่ผ่าตัดรักษาได้ก็จะใช้วิธีผ่าตัดแก้ไข เช่น ทำบอลลูน หรือฉีดสีที่ศูนย์หัวใจ เป็นต้น

หัวใจโต ป้องกันได้อย่างไร

เราสามารถป้องกันภาวะหัวใจโตได้ ดังนี้

          * รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน

          * หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          * ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่

          * หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสารเสพติดให้โทษทุกชนิด

          * ตรวจสุขภาพประจำปี โดยควรตรวจหัวใจด้วย เพื่อดูว่ามีขนาดของหัวใจโตกว่าปกติหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ

          แม้ภาวะหัวใจโตจะไม่ค่อยส่งสัญญาณเตือนแต่เนิ่น ๆ ทว่าเราก็พอจะจับสังเกตอาการผิดปกติได้ ทั้งยังดูแลสุขภาพให้เสี่ยงภาวะหัวใจโตลดลงได้ด้วย ดังนั้นอยากให้ทุกคนดูแลร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงดี และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอด้วยนะคะ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 อาการเสี่ยงภาวะหัวใจโต ที่อาจทำหัวใจวายเฉียบพลัน หมดลมหายใจไม่รู้ตัว อัปเดตล่าสุด 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 10:39:56 31,351 อ่าน
TOP